Islamic Development Bank : IDB
กองทุนการเงินอิสลามเพื่อการพัฒนา
++++++++++++++++++++++++++
สำนักข่าวอะลามี่ : คนไทยส่วนน้อยคนจะรู้จัก Islamic Development Bank : IDB หรือที่เรียกว่า ธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา ในโอกาสที่ผู้แทนของธนาคาร IDB มาเยือนประเทศไทย และให้สัมภาษณ์กับ นิตยสาร ดิอะลามี่ เราจะพามารู้จักบทบาทการทำงานขององค์กรนี้
การเดินทางมาในครั้งนี้ของ ดร. เอาวัฎ ซาลีม อัลอุซัยมี่ (Dr. Awadh Salem Alasaime) ผู้อำนวยการ แผนกกิจการพิเศษ ธนาคารอิสลามการพัฒนา หรือ Islamic Development Bank : IDB และเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านวิศวกร ได้เดินทางไปตรวจสอบ และพบกับผู้ที่ยื่นของบประมาณตามโครงการสนับสนุนให้กับองค์กรมุสลิมในประเทศกัมพูชา และประเทศไทย
ดร. เอาวัฎ บอกว่า จุดประสงค์ของการเดินทาง เพื่อต้องการพบปะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และต้องการดูว่าเราจะให้การช่วยเหลือได้อย่างไร เพื่อเป็นการยกระดับชุมชนมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยของแต่ละประเทศ เพื่อให้เป็นชุมชนพัฒนาที่มี่คุณภาพ
“ ไอดีบี จะช่วยเหลือชุมชนมุสลิม ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศต่างๆ เพื่อให้เขาเป็นพลเรือนที่ดี และเป็นชุมชนที่มีคุณภาพของสังคมประเทศนั้น ” ดร. เอาวัฎ กล่าวและว่า
ไอดีบี เป็นธนาคารการเพื่อพัฒนา แต่จะแตกต่างจากระบบธนาคารทั่วไป ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มประเทศสมาชิก 56 ประเทศ ที่เป็นประเทศมุสลิม จุดประสงค์หลักของการก่อตั้งธนาคาร IDB เพื่อช่วยเหลือประเทศมุสลิม โดยการนำเงินจากประเทศที่ร่ำรวย นำไปช่วยเหลือประเทศที่ไม่มีเงิน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และสนับสนุน ช่วยเหลือการค้าระหว่างประเทศมุสลิม
Islamic Development Bank : IDB มีแผนกเล็กๆ ทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมมุสลิม โดยเฉพาะมุสลิมที่เป็นสังคมคนส่วนน้อยในประเทศต่างๆ ที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม โดยการสนับสนุนการศึกษาที่มีคุณภาพและโครงการเรื่องสุขภาพ
“ธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา หรือ IDB มีเงินมาจากการมีส่วนร่วมในแต่ละประเทศ โดยการระดมทุน ประมาณ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับพัฒนาในโลกมุสลิม ซึ่งเงินดังกล่าวไม่เกี่ยวกับกองทุนในการช่วยเหลือมุสลิมชนกลุ่มน้อย” ดร. เอาวัฎ กล่าวและว่า
สำหรับเงินในการช่วยเหลือชุมชนมุสลิมทั่วโลกที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิมนั้น เรามีกองทุนจำนวนหนึ่ง โดยเงินเหล่านี้จะกระจายไปยังชุมชนมุสลิมต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเงินเหล่านี้จะแบ่งตามสัดส่วนที่ไม่เท่ากันแล้วแต่ความจำเป็นและความต้องการ
ดร. เอาวัฎ บอกว่า สำหรับเงื่อนไขในการนำเงินไปช่วยเหลือมุสลิมกลุ่มน้อยในแต่ละประเทศนั้น จะต้องเป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศนั้นๆ มีการรับรององค์กร ในนามนิติบุคคล ไม่ใช่เป็นของส่วนบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ต้องเป็นองค์กร NGO ที่ไม่แสวงหารายได้ และที่สำคัญคือ นโยบายหลักคือการพัฒนาสังคม และองค์กรดังกล่าวจะต้องสามารถเดินหน้าได้ หลังจากได้รับการช่วยเหลือ และมีการบริหารในลักษณะของความเป็นระดับมืออาชีพ
“ ที่ผ่านมาเราได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือมุสลิมกลุ่มน้อยไปบ้างแล้ว ตลอดระยะเวลาการเกิดของของแผนกนี้ หรือประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา งบเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีโครงการที่สนับสนุนไปแล้วกว่า 2,000 โครงการ ครอบคลุม 85 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้ไม่รวมประเทศในกลุ่มสมาชิก 56 ประเทศ ”
เขาบอกว่า สำหรับนโยบายในการสนับสนุนให้กับประเทศสมาชิกนั้น แต่ละประเทศจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์อย่างน้อย 3 ปี โดยธนาคารฯ จะดูว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ โดยโครงการต่างๆ จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลประเทศนั้น ก่อนจะมีการสนับสนุนงบประมาณลงไปโดยตรงให้กับเอกชน หรือบริษัท ที่ดำเนินโครงการนั้นโดยตรง
สำหรับ Islamic Development Bank : IDB ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 56 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของ OIC หรือ Organization of Islamic Cooperation ทั้งนี้ IDB นับเป็นกลไกด้านการเงินส่วนหนึ่งของ OIC แต่บริหารงานอย่างเป็นเอกเทศ
ทั้งนี้สำหรับในประเทศไทยได้รับการช่วยเหลือมาแล้วประมาณ 27 โครงการ วงเงินประมาณ 6,000,000 ดอลลาร์ สหรัฐ
“ การเดินทางมาในครั้งได้มีโอกาสไปเข้าพบ ท่านจุฬาราชมนตรี “อาศิส พิทักษ์คุมพล” โดยสำนักจุฬาราชมนตรีได้นำเสนอและอธิบายถึงบทบาท และการทำงาน รวมถึงกิจกรรมของสำนักจุฬาราชมนตรี ในขณะเดียวกันท่านจุฬาราชมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดี และเห็นด้วยต่อนโยบายการศึกษาของ IDB ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้”
ตีพิพม์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนธันวาคม2558