“เกษม รามันเศษ“
นายกเล็กปากบาง บนภารกิจพัฒนาชุมชน
โดย เอกราช มูเก็ม
++++++++++++++++++++++++++++++
สำนักข่าวอะลามี่: การเข้ามาของโครงการขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 โครงการ ”ท่าเรือเอกชน และโรงไฟฟ้า” ไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้กับชุมชน แต่จะเป็นอีกก้าวของการพัฒนา อบต.ปากบาง เมืองรอยต่อสงขลาปัตตานีให้มีศักยภาพมากขึ้น
เกษม รามันเศษ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัด สงขลาการเล่าถึงสภาพภูมิประเทศของปากบางว่า เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างสงขลากับปัตตานี มีพื้นที่กว่า 105 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 8 หมู่บ้าน สภาพภูมิศาสตร์ด้านหนึ่งติดทะเล อีกด้านเป็นที่ราบ มีประชากรประชากรกว่า 9,800 คน จึงมีอาชีพทำการเกษตร ปลูกยางพารา และทำประมงพื้นบ้าน หรือประมงชายฝั่ง
โดยในรอบปีงบประมาณปี 2558 เราสามารถจัดเก็บภาษี และมีงบประมาณเพื่อนำมาบริหารพื้นที่ประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบอุดหนุนจากส่วนกลางมีเพียงบางส่วนที่ อบต.จัดเก็บเองมีรายได้ประมาณ 500,000 บาท
“ ผมเข้ามาสู่ถนนการเมืองท้องถิ่น ร่วม 3 สมัย 8 ปี สมัยแรกเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกสภา อบต. ต่อมาสมัยที่ 2 ขยับมานั่งเป็นรองนายก และล่าสุดสมัยที่ 3 ผมได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง ”
สำหรับนโยบายหลังจากรับตำแหน่งได้เร่งผลักดันก่อสร้างถนนให้ครอบคลุมเกือบทุกหมู่บ้าน สร้างสะพานเชื่อมต่อเส้นทางให้สามารถเดินทางได้สะดวก นอกจากนี้ยังสนับสนุนด้านการศึกษา สุขอนามัย และพลานามัย จัดให้มีลานกีฬาสำหรับออกกำลังกายเพื่อให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดี
“ในพื้นที่หมู่ 4 จัดทำเป็นสวนสุขภาพสาธารณะบนพื้นที่ 90x90 ตารางเมตร เรียกว่าสวนสุขภาพ (เอนกประสงค์) ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ติดกับทะเลที่เป็นหาดทราย ทำให้ดินงอกบริเวณชายฝั่งเกิดจากระบบนิเวศ จึงทำถนนตัดแนวกลางเพื่อแบ่งเขตป้องกันการบุกรุก ซึ่งกำกับดูแลภายใต้ของ อบต.ปากบาง”
เกษม กล่าวถึงการจัดระบบเศรษฐกิจชุมชนว่า เนื่องจากภาพรวมของพื้นที่หมู่ 4 เป็นพื้นที่ติดทะเล ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาทรัพยากรชายฝั่ง(ปะการังฟอกขาว) ส่งผลให้การทำประมงลดน้อยลง จึงประสานงานกับหลายหน่วยงานเข้าอนุรักษ์ชายฝั่งด้วยการเอาปะการังมาทิ้งในทะเล เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของปลา “การรสร้างบ้านปลา” ห้ามทำการประมงโดยเรือใหญ่ ทำให้ระยะเวลา 3-5 ปี ที่ผ่านมา เริ่มมีปลาเข้ามาอาศัยในบริเวณนี้มากขึ้น ส่งผลให้ประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
ตำบลปากบาง ในวันนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นของท่าเรือเอกชน และการเข้ามาของโรงไฟฟ้า ในฐานะผู้บริหารของชุมชนบอกว่า ต้องฟังเสียงของประชาชนเป็นหลัก และการทำประชาพิจารณ์จากชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เราจึงต้องเห็นด้วยตามชาวบ้าน แม้ว่าความเจริญและการพัฒนาจะเข้ามา แต่ต้องเตรียมพร้อมการจัดการวางระบบต่างๆ ในชุมชน เพื่อรองรับควบคู่กันไป อาทิเช่น การจัดเตรียมเตาเผาและบำบัดขยะ ปัจจุบันเรายังฝากที่อื่นอยู่ แต่ก็ได้บรรจุเข้าไปในแผนการพัฒนาแล้ว
นายก อบต.ปากบางกล่าวถึงปัญหาเร่งด่วนในขณะนี้คือ เรื่องน้ำประปาหมู่บ้าน ที่ผ่านมาพบว่าน้ำใต้ดินที่มีลักษณะเป็นสนิม จึงได้สำรวจแหล่งน้ำ พบว่าบ่อน้ำใต้ดินที่ดีที่สุดอยู่ในบริเวณสำนักงาน อบต. และทางหน่วยงานของ กฟผ.ได้เข้ามาช่วยขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มให้อีก 1 บ่อ ทำให้ปัจจุบันเรามี 2 บ่อ ทาง อบต.เป็นจึงศูนย์กลางทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำไปยังลูกบ้าน พร้อมกับสำรองแหล่งจัดเก็บน้ำด้วยการขุดสระน้ำข้างอบต. เพื่อรองรับในฤดูแล้ง(ช่วงเดือนมีนาคม เมษายน)ของทุกปี
การมีโครงการขนาดใหญ่อย่างน้อย 2 โครงการคือ ท่าเรือเอกชน และโรงไฟฟ้า คาดว่าจะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และเป็นการสร้างงานให้คนในชุมชนได้ในระดับหนึ่ง ไม่เพียงแต่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน แต่บริษัทฯ ที่เข้ามาก่อสร้างก็พร้อมที่จะช่วยเหลือและพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ส่วนหนึ่งจะเก็บเข้าองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวกลับมาพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนต่อไป
“สำหรับระยะยาวผมได้มองเห็นภาคการบริการหรือด้านการท่องเที่ยว ด้วยภูมิศาสตร์ที่ติดทะเล เหมาะกับการลงทุนทำรีสอร์ทที่พัก ขณะนี้เริ่มมีนักลงทุนเข้ามาสำรวจบ้างแล้ว ซึ่งเราพร้อมสนับสนุน หากมีผู้ประกอบการเข้ามาสนใจลงทุนในด้านนี้“ เกษมกล่าวและว่า
การเปิดเวทีประชาคมอาเซียนจะทำให้มีการเดินทางที่ง่ายขึ้น หากเราเตรียมตัวในพื้นที่ เพื่อรองรับการลงทุนในหลายๆ ด้าน รวมถึงการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่เฉพาะคนภายในประเทศ แต่ยังสามารถรองรับชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ก็สามารถเดินทางผ่านหรือแวะพักผ่อนก่อนเดินทางต่อไปยังที่อื่น
ปากบางในอนาคต ก็จะเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวและเป็นที่พักผ่อน อีกแห่งที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามมีภูมิศาสตร์ติดทะเล ทิวทัศน์ไม่แพ้ใครอีกที่หนึ่งของจังหวัดสงขลา
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2558