Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ศาสนบริหารธุรกิจ : ภารกิจสร้างคนให้เป็นมือบน

ศาสนบริหารธุรกิจ : ภารกิจสร้างคนให้เป็นมือบน

วิทยาลัยอาชีวะต้นแบบศาสนาบูรณาการแห่งแรกเมืองไทย

โดย กองบรรณาธิการ นิตยสาร ดิ อะลามี่


             สำนักข่าวอะลามี่ : ปัจจุบันการเข้าถึงสถานศึกษาไม่ยากเหมือนในอดีต แต่ขณะเดียวกันการศึกษามีให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับใครจะเลือกเรียนหรือชอบที่จะเดินในเส้นทางใด เพื่อวางรากฐานให้กับอนาคต

            เรามาอ่านมุมมองของ “อาจารย์มนตรี มาลีพันธุ์” ผู้อำนวยการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ ถึงอนาคตการศึกษาในระบบอาชีวะ และวิสัยทัศน์ ของ วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ

อาจารย์มนตรี เล่าย้อนก่อนจะมาเป็น วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ ในทุกวันนี้ว่า จุดเริ่มต้นมาจากการเป็นโรงเรียนสอนศาสนาและภาษาอาหรับ โดยชื่อว่า “ โรงเรียนสตรีศาสนวิทยา ”ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2528 โดย อาจารย์สมาน มาลีพันธุ์ (คุณพ่อ) ในยุคนั้นจัดให้มีการเรียนการสอนเฉพาะศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ ซึ่งตลอดระยะเวลาประมาณ 22 ปี ที่ผ่านมา (จากปี 2528 ถึง 2550) ผลิตบุคลากรส่งนักศึกษาไปเรียนต่อยังต่างประเทศจำนวนไม่น้อย

            “ จากสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง แม้แต่รัฐ ก็มีนโยบายส่งเสริมการศึกษาแบบบูรณาการมากขึ้น โรงเรียนที่สอนศาสนาสายเดียวก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะลดลง และจำเป็นต้องปรับระบบการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาสายเดียว ปรับตัวเป็นโรงเรียนสอนศาสนาบูรณาการวิชาสามัญ ด้วยวิสัยทัศน์ของอาจารย์สมาน มาลีพันธุ์ ผู้บริหารโรงเรียนในสมัยนั้น จึงปรึกษากับผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดทำโรงเรียนอาชีวะที่สอนบูรณาการศาสนาอิสลาม”

            นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เราปรับการเรียนการสอน จากโรงเรียนสอนศาสนามาเป็น “ โรงเรียนศาสนบริหารธุรกิจ” โดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนในระบบอาชีวบูรณาการศาสนาอิสลาม เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ในสาขาวิชาการบัญชี การขาย และคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ในสาขาการบัญชี การตลาด และสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ โดยจะสอนหลักสูตรอิสลามควบคู่กับหลักสูตรอาชีวศึกษา โดยเพิ่มให้วิชาภาษาอาหรับเป็นวิชาบังคับ เป็นภาษาที่สาม

            สำหรับหลักสูตรอิสลาม จะสอน 5 กลุ่มสาระรายวิชา ได้แก่ วจนะศาสดา ศาสนประวัติ ศาสนบัญญัติ เอกภาพ อัลกุรอาน โดยจะจัดการเรียนการสอนควบคู่กันไปในทุกวัน โดยมีบุคลากรครูส่วนใหญ่จบจากต่างประเทศ ซึ่งเด็กนักเรียนที่จบการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษาทั้งด้านวิชาชีพและวุฒิการศึกษาอิสลามศึกษาด้วย โดยเทียบเท่าระดับซานาวีร์

            อาจารย์มนตรี กล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า โรงเรียนนี้เป็นแห่งแรกที่เปิดการเรียนการสอนระบบอาชีวบูรณาการศาสนาอิสลาม โดยมี อาจารย์ สมศักดิ์ (มูนีร) มูหะหมัด ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสตรีศาสนวิทยา ในขณะนั้นช่วยสร้างหลักสูตรขึ้นมา เนื่องจากเป็นหลักสูตรใหม่และเป็นโรงเรียนอาชีวบูรณาการอิสลามศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย 

            “  เราเอาหลักสูตรภาษาอาหรับ มาสอนในโรงเรียนอาชีวะ แน่นอนภาษาอาหรับที่ใช้สอนกับโรงเรียนอาชีวะ ย่อมมีความแตกต่างกับภาษาอาหรับที่เรียนในซะนาวีย์ หรือโรงเรียนศาสนาโดยตรง ความเข้มข้นคงไม่เท่ากับเรียนซะนาวีย์ เพราะว่าจุดมุ่งหมายในการเรียนของเรา เพื่อให้นักเรียนศึกษา รวมทั้งสามารถนำไปใช้ในการสื่อสาร และทำธุรกิจได้ อาจารย์มนตรี กล่าวและว่า

            นักเรียนที่เรียนจบจากสถาบันสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ ตามปรัชญาของการเรียนอาชีวะ ขณะเดียวกันก็มีศาสนาคอยกำกับให้นักเรียนสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีเกียรติ พึ่งพาตัวเองได้ทั้งในโลกนี้ ปลอดภัยในโลกหน้า เพื่อที่จะให้เขาเหล่านั้นเป็นมือบนต่อไปในอนาคต และนี่คือวิสัยทัศน์ของ อาจารย์สมาน มาลีพันธุ์

            หลังจากนั้นอีก 5 ปี โดยในปี 2555 เราจึงยกฐานะจากโรงเรียนอาชีวะมาเป็น “ วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ” ด้วยการเป็นสถาบันการศึกษาอาชีวบูรณาการศาสนาอิสลามจนถึงขณะนี้เป็นปีที่ 8 ทำให้เรามีประสบการณ์และเรียนรู้การพัฒนาสถาบันแบบไม่หยุดนิ่ง

          “ผมจบการศึกษาในระดับมัธยมจากโรงเรียนเซ็นคาเบรียล เรียนมา 12 ปี ก่อนจะเรียนต่อในระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ เอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมหิดล(ศาสนาเปรียบเทียบ 1 ใบ) และปริญญาโท การทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีก 1 ใบ แต่ไม่เคยเรียนทางด้านการบริหารการศึกษามาก่อน จนกระทั่งตอนนี้กำลังศึกษาปริญญาเอกเรื่องการบริหารการศึกษาที่มหาวิทยาลัยสยาม” ผู้อำนวยการศาสนบริหาร ย้อนประสบการณ์ส่วนตัวว่า เขาเองก็ต้องเรียนรู้กับระบบการศึกษาแบบอาชีวบูรณาการศาสนา เพราะเป็นเรื่องใหม่ของสังคม

            อย่างไรก็ตามประสบการณ์ทำให้เขาเรียนรู้พื้นฐานจากความเป็นจริง  และบุคลิกภาพของนักเรียนซึ่งอาจจะแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป ด้วยความเป็นอาชีวะและต้องเรียนศาสนา ผสมผสาน 2 ด้านควบคู่กัน เพื่อที่จะส่งเด็กของเราไปเป็นนักธุรกิจ นักบริหาร และเป็นอีกหลายด้านหลากหลายอาชีพ โดยที่ไม่ลืมตัวเองว่ามาจากรากไหน รวมไปถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่ติดตัวเขามา

            8 ปีที่ผ่านมา คือ 8 ปี แห่งการเรียนรู้โลกแห่งอุดมการณ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น เพราะในยุคที่เราเริ่มทำโรงเรียนใหม่ๆ เราคิดฝันไว้อย่างหนึ่ง แต่เมื่อได้พบกับความเป็นจริงและเรียนรู้จากนักเรียนได้อะไรอีกหลายอย่าง ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดตลอดเวลา มันเป็นอัตลักษณ์ซึ่งอธิบายเป็นคำพูดได้ยาก แต่ผมมั่นใจว่า เป็นอัตลักษณ์ที่หาไม่ได้ง่าย ในโรงเรียนทั่วๆ ไป

           อาจารย์มนตรี ยกตัวอย่างให้เห็นถึงการแสดงออกของการอยู่ร่วมกันของสองวัฒนธรรม ครั้งหนึ่งได้นำเด็กเข้าร่วมจิตอาสาอาชิวะ ที่สวนลุมพินี จำนวน 100 คน เราพาเด็กเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อที่จะให้เด็กของเราได้แสดงออก เราเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างแต่ช่วงของพิธีกรรมทางศาสนาเราก็ออกมา ไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งทุกคนก็เข้าใจ เราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของอาชีวะ โดยรักษาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของเรา เราภาคภูมิใจที่เด็กมุสลิมโรงเรียนอาชีวะอื่นๆ เมื่อเห็นเราเป็นตัวกลางในการักษาอัตลักษณ์ซึ่งเป็นจุดยืน และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนอาชีวะที่บูรณาการศาสนาอิสลาม

            “ เราได้รับเกียรติและเป็นส่วนหนึ่งของ สมาคมวิทยาลัยเทคโนโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ปัจจุบันผมได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคม แม้ว่าเราจะเป็นโรงเรียนใหม่ เป็นโรงเรียนเล็ก แต่เราเป็นตัวแทนของอาชีวศึกษามุสลิม ในสายตาของสมาคมฯ โรงเรียนเราเป็นตัวแทนวิทยาลัยอาชีวะมุสลิมทั่วประเทศ ซึ่งให้ความยอมรับในการเป็นอัตลักษณ์ของเรา”

            ปัจจุบัน วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ มีนักเรียนเด็กนักเรียนร่วม 700 คน มีบุคลกรทั้งหมด 45 คน เตรียมเปิดสาขาใหม่ อีก 2 สาขา คือสาขาการโลจิสติกส์ และการออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิก คาดว่าจะเปิดภายใน 2 ปีนี้ หรือ ก่อนครบรอบ 10 ปี ของ ศาสนบริหารธุรกิจ

            “ ส่วนใหญ่เด็กนักเรียนของเราจะมาจากชุมชนในละแวกนี้ อาทิเช่น ย่านฝั่งตะวันออกและรอยต่อของกรุงเทพมหานคร เช่น นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ขณะที่บางส่วนมาจากต่างพื้นที่ อาทิเช่น เชียงราย ปัตตานี และยะลา”

            อย่างไรก็ตามในระยาวเป้าหมายสูงสุดของ “ อาจารย์สมาน มาลีพันธุ์ ” ในฐานะผู้ก่อตั้ง ท่านอยากจะขยายการศึกษาจากระดับวิทยาลัยสู่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเรามีโรดแมปอยู่แล้ว ผมไม่สามารถบอกว่าระยะเวลาไหน เพียงรอเวลาอันเหมาะสม

            อาจารย์มนตรี กล่าวถึงสถานการณ์โรงเรียนเอกชนในขณะนี้ว่า เชื่อว่าทุกคนที่มาเปิดโรงเรียน (สถานศึกษา) เราไม่ได้มองโรงเรียนอื่นเป็นคู่แข่งเพราะระบบการศึกษาเราต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย เพราะระบบการศึกษาคือวงจรที่สัมพันธ์กันของสังคม

            “ แน่นอนเรามั่นใจในความเป็นอัตลักษณ์ที่ลอกเลียนแบบได้ยาก นักเรียนของเรามีการแต่งกายที่รัดกุมเหมาะสมตามรูปแบบของมุสลิม ไม่เพียงจัดห้องละหมาดเท่านั้น แต่เรายังถ่ายทอดวิชาทางศาสนาและภาษาอาหรับ การละหมาดคือการปฏิบัติในกิจวัตรชีวิตประจำวันและเป็นส่วนหนึ่งของนักเรียน  เราก็บังคับให้เด็กถือศีลอดช่วงของเดือนรอมฎอน ทางโรงเรียนจะไม่มีอาหารขาย แต่เด็กนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธ สามารถฝากครูไปซื้ออาหารข้างนอกได้ ”

            ส่วนการดำเนินชีวิตบนความเชื่อและศรัทธาในพหุสังคมนั้น ปัจจุบันโรงเรียนของเรามีนักเรียนต่างศาสนิกประมาณ 5% เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา เราก็ให้อิสรภาพในการไปปฏิบัติศาสนกิจ แม้เราเป็นโรงเรียนมุสลิม เราให้เกียรติและให้เสรีภาพในการประกอบกิจกรรมของแต่ละศาสนา เป็นการอยู่ร่วมกันในพหุสังคม และเพื่อปลูกฝังแนวความคิดในการอยู่ร่วมกัน อยากให้พี่น้องร่วมชาติเข้าใจว่า มุสลิมพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับทุกกลุ่มชน และพร้อมที่จะสร้างสรรค์สังคม

            อาจารย์มนตรี มองอนาคตทางการศึกษากับ AEC ว่า เราสามารถมองได้ในหลายมิติ การเกิดขึ้นของเออีซี  เราจะต้องปรับทัศนคติ จากนี้ไปพรมแดนต่างๆ จะเริ่มคลายตัว รวมถึงเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ เออีซีจะเป็นทั้งเครื่องมือและกลไกบางอย่าง ในสิ่งที่เราต้องปรับทัศนคติและปรับแนวคิด การศึกษาอาจเป็นส่วนหนึ่งและจะเป็นตัวช่วย  เราจะต้องศึกษาเพื่อตอบรับการมาของเออีซี ซึ่งเราต้องเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องของภาษา คือ ภาษามลายู วัฒนธรรมอิสลาม วัฒนธรรมมลายูที่จับต้องได้ และวัฒนธรรมชวามลายู เป็นกระแสใหญ่ที่สุดในอาเซียนกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ เราต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน

            “ เราไม่สามารถสกัดกั้นเรื่องนี้ได้ประชากรครึ่งหนึ่งของอาเซียนใช้ภาษามลายู นอกจากนี้ อาหารฮาลาล จะไม่เป็นสิ่งที่แปลกอีกต่อไป คนจำนวนครึ่งหนึ่งของอาเซียนต้องการบริโภค ดังนั้นเราจะต้องปรับวิถีการคิดให้สอดรับกับคนกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน เราต้องลดวาทกรรม ที่สร้างความขัดแย้งให้ลดน้อยลงเพราะจากนี้ไปเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวแต่เรากำลังมีเพื่อนบ้านกว่า 600 ล้านคน เพราะเราคือประชากรของประชาคมอาเซียน ”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนตุลาคม 2558