SHIF 2015 : ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮาลาลทางออกแก้ปัญหาชายแดนใต้
โดย กองบรรณาธิการ
++++++++++++++++++++++++
“ โครงการเทศกาลนานาชาติฮาลาลชายแดนใต้” หรือ “Southern Border Halal International Fair” (SHIF 2015) นับเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ในการเสวนาผู้นำศาสนาราว 3,000 คน ที่จะร่วมกันผลักดัน จัดขึ้น โดย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน พ.ศ. 2558 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะรองประธานจัดงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามองข้ามบทบาทของผู้นำชุมชน โดยเฉพาะอิหม่าม ทุกครั้งที่คนในชุมชนมีปัญหาก็มักนึกถึงอิหม่าม งานนี้จึงได้จับมือกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการแสดงบทบาทในเชิงกฎหมายหรือในเชิงสังคม
การลงพื้นที่เรายังได้พบกับเยาวชนทั้งในพื้นที่ และในมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย พร้อมพูดคุยถึงแนวทางในการแก้ปัญหา โดยหารือร่วม ศอ.บต.และกองทัพภาค 4 และนายกรัฐมนตรี โดยเราจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหา
“เราอยากนำเรื่องฮาลาลและวัฒนธรรม พร้อมนำเอาหลักการของท่านศาสดา มาเป็นกลไกขับเคลื่อน โดยการนำแนวทางมาสนับสนุนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชุมชน“ รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย กล่าวและว่า
วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นการพูดคุย จากนี้ไปจะเข้ามาคุยต่อเนื่อง จึงเชิญอิหม่ามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ร่วม 3,000 คน มาพบปะแลกเปลี่ยนโลกทัศน์ โดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องการประกอบอาชีพและกลไกพัฒนา นอกจากนี้เราได้ประสานงานกับเศรษฐกิจชุมชนซึ่งมีกว่า 7 หมื่นราย เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้
“สำหรับความคาดหวัง SHIF 2015 ในครั้งนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ เราคาดหวังไว้สูงมาก จากนี้ไปเราจะเป็นสะพานเชื่อมของชุมชน เราได้หารือกับท่านเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยแล้วว่า หากองค์กรผู้นำท้องถิ่นมีกิจกรรมเราพร้อมจะเข้าไปสนับสนุน ทั้งนี้การแก้ปัญหาต่างๆจะต้องลงไปพูดในชุมชน เพราะปัญหาไม่สามารถแก้ในห้องประชุมได้”
ในประเทศที่พัฒนาสุดขีด เช่นญี่ปุ่น เยอรมัน พบว่าในประเทศเจริญแล้ว เศรษฐกิจการค้าที่สร้างรายได้หลักมาจากเศรษฐกิจชุมชน หรือการค้าภายในขนาดเล็ก ดังนั้นหากเราต้องการเป็นผู้นำการค้าในระดับโลก เราต้องพัฒนาการค้าในระดับชุมชนให้เข้มแข็ง เพราะการค้าเหล่านี้จะขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจระดับโลกต่อไป ผมจึงอยากให้สามจังหวัดเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาของประเทศโดยรวม
“ งาน SHIF 2015 ยังรวมเอาการประชุมสัมมนาทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมและธุรกิจฮาลาล พร้อมทั้งนิทรรศการวิทยาการและเทคโนโลยีฮาลาล กิจกรรมต่างๆ และการจัดสัมมนามีการเชิญอิหม่ามจากมัสยิด 2,800 แห่ง และแสดงสินค้ามากกว่า 150 บูธ ภายในงานทั้ง 3 วัน มีผู้เข้าร่วมเกินกว่า 20,000 คน และคาดการณ์ว่างานนี้จะช่วยกระเตื้องเศรษฐกิจฮาลาลให้เติบโตใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ถึงราว 15%-20% “ รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย กล่าว
การจัดงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้แทนจากรัฐบาล อาทิเช่น พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และ ดร.พงศ์ศักดิฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และผู้นำองค์กรมุสลิม โดย ท่านอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีกล่าวในระหว่างเปิดงานว่า การพัฒนาด้านการศึกษาแก่เยาวชนรุ่นใหม่เป็นสิ่งสำคัญ ในอันที่จะสร้างรากฐานด้านตลาดฮาลาลให้แข็งแกร่ง ขณะที่การศึกษานั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งผลให้ตลาดฮาลาลเติบโตไปอย่างแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ
โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันได้เล็งเห็นว่า ศักยภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาล ธุรกิจและบริการ ควรได้รับการส่งเสริม จะเห็นได้ว่า มีทีมงานนำโดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะคอยช่วยประสานงานจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชื่อว่า “กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ฮาลาลแห่งชาติ ปีพุทธศักราช 2559-2563’”
พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมาช้านาน และก่อความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาติหาที่สิ้นสุดมิได้ ฉะนั้น งาน SHIF 2015 ก็จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างความสงบและเพิ่มขีดความสามารถให้กับเศรษฐกิจฮาลาล
โดยเร่งสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับรองเครื่องหมายฮาลาล รวมทั้งเร่งส่งเสริมภาคส่วนสินค้าฮาลาลของไทย ให้ได้เป็นผู้นำด้านวิทยาการและเทคโนโลยีฮาลาลบนเวทีโลกอีกด้วย ทั้งยังช่วยพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง
“ ทั้งหมดนี้จะช่วยยกระดับภาวะความเป็นผู้นำ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับรองเครื่องหมายฮาลาลไทย ในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล ” พล.ต.ต. สุรินทร์ กล่าว.
ตี่พิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนตุลาคม