โรงเรียนธนาคาร(อิสลาม) ธ.ก.ส.
ต้นแบบการออม-สร้างวินัยเยาวชน
โดย กองบรรณาธิการ
+++++++++++++++++++++++++
สำนักข่าวอะลามี่: ช่วงเที่ยงของทุกวันจะเห็นเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่งทยอยเดินทางมาห้องธนาคารโรงเรียน(อิสลาม) บนบริเวณชั้นล่างของตึกของโรงเรียนหนองจอกพิทยานุสสรณ์มัธยม พวกเขาและเธอ มาเพื่อฝากเงินกับธนาคารโรงเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ทางโรงเรียนจัดทำขึ้น
นายประสาน เดชวิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน หนองจอกพิทยานุสสรณ์มัธยม เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 58 โรงเรียนธนาคาร(อิสลาม) กล่าวว่า การจัดตั้งโรงเรียนธนาคาร(อิสลาม) ว่า เริ่มตั้งแต่ 2551 โดยมีพี่เลี้ยงจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาหนองจอก จัดอุปกรณ์การเปิดรับฝากเงิน พร้อมด้วยอบรมเจ้าหน้าที่ ซึ่งธนาคารโรงเรียน จะเปิดให้บริการในระบบอิสลาม ที่สอดรับกับหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้นำไปบูรณาการเข้าไปในรายวิชาต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กรู้จักและรักการออม
นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนเด็กนักเรียน และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองได้รับทราบ โดยขอผู้ปกครองให้เงินเด็กเกินจากปกติ เพื่อให้เด็กมาฝากเงิน สะสมเพื่อนำเงินนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน เช่นกิจกรรมเข้าค่าย หรือค่าเทอมในภาคเรียนต่างๆ เพื่อลดภาระของผู้ปกครอง
ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า นับตั้งแต่เริ่มแรกได้รับการตอบรับอย่างดี ต่อมาทางโรงเรียนได้มีนโยบายให้เด็กทุกคนที่มาเรียนที่นี่ ต้องเปิดบัญชีกับธนาคารโรงเรียน ทำให้นักเรียนเป็นสมาชิก 100 % นอกจากนี้ยังมีบุคลากรโรงเรียน และบุคคลภายนอกและในชุมชนเจ้ามาร่วมด้วยอีกจำนวนหนึ่ง
“ โรงเรียนของเรามีนักเรียนทั้งหมด 1,800 คน แต่เรามี 4,000 กว่าบัญชี โดยมีทั้งศิษย์เก่าที่ออกไปแล้ว แต่ยังเปิดบัญชีต่อเนื่อง ปัจจุบันธนาคารโรงเรียน(อิสลาม) เรายอดเงินในบัญชีทั้งสิ้นกว่า 5.9 ล้านบาท ”
โดยเงินที่ได้มา เรานำฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ในระบบกองทุนธนาคารอิสลาม สาขาหนองจอก โดยแต่ละปี เราจะได้รับการสนับสนุนกลับจากธนาคารในรูปแบบต่างๆอาทิเช่น ทุนการศึกษา และอุปกรณ์เพื่อสาธารณะที่จะมาใช้ในโรงเรียน
ด้าน นายสนั่น มูฮัมหมัด รองผู้อำนวยการ หนองโรงเรียนจอกพิทยานุสสรณ์มัธยมกล่าวว่า ที่นี่เป็นระบบธนาคารโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทย เรามีนโยบายไม่ได้หวังเรื่องกำไรแต่เน้นให้นักเรียนรู้ว่าฝากเพื่อเอาบุญ เงินจากการฝากธนาคารโรงเรียน จะคืนไม่กำไรกับตัวบุคคล แต่จะคืนกลับมาในรูปแบบของการคืนสู่สังคม เงินเหล่านี้จะมาช่วยเรื่องทุนการศึกษาให้กับเพื่อนๆ นักเรียนที่ด้อยโอกาส เท่ากับว่าทุกคนที่มาฝากเงิน จะได้ร่วมกันสร้างบุญและสร้างโอกาสให้กับคนอื่นไปโดยปริยาย
“ สำหรับเงื่อนไขการเบิกถอนเงิน นักเรียนจะสามารถถอนได้ในวงเงินไม่เกิน 2,000 บาท หากเกินจากวงเงินนี้จะต้องขออนุมัติจากครูประจำชั้น ซึ่งครูจะประสานกับทางผู้ปกครองเพื่อรายงานการเบิกจ่าย ทั้งนี้พบว่านักเรียนบางคนมีเงินฝากตั้งแต่ ม.1- ม.6 มากถึง 60,000 บาท ” รองผู้อำนวยการ กล่าวและว่า
หลังจากเปิดดำเนินการ เริ่มได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในเรื่องของโรงเรียนธนาคาร(อิสลาม)โดยในปี 56 ส่งเข้าแข่งขันในอันดับ 1ในระดับจังหวัด และในระดับภาค ซึ่งได้อันดับสองของประเทศ ต่อมาในปี 57 ส่งประกวดใหม่ ได้รับชนะเลิศเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ สร้างความภูมิใจกับโรงเรียนทำให้หลายโรงเรียนทางภาคใต้ของไทยและจากมาเลเซีย มาศึกษาดูงาน
นางสาวศกุลตลา หวังบู่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในฐานะ ผู้จัดการธนาคารโรงเรียน(อิสลาม) กล่าวว่า ทุกวันจะต้องมารับฝากเงิน โดยทุกเย็นเพื่อนนักเรียนจะนำสมุดบัญชีมาฝาก จะลงบัญชีในสมุด และจะนำกลับไปคืนเพื่อนนักเรียนในเช้าวันถัดไป
“ เริ่มมาช่วยทำงานให้กับธนาคารโรงเรียนตั้งแต่ ม.3 จนถึงวันนี้ร่วม 3 ปี ครั้งแรกสนใจอยากมาเป็นเจ้าหน้าที่ อาจารย์บอกว่าให้หาทีมมา 5 คน โดยในทีมประกอบด้วยฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย บัญชี การเงิน ธุรการ ผู้จัดการ และผู้ช่วยผู้จัดการ โดยการทำงานครั้งแรกจะมีรุ่นพี่มาประกบสอนการทำงานจนทุกคนสามารถทำงานได้ทุกตำแหน่ง “
นางสาวศกุลตลา กล่าวว่า บางครั้งมีปัญหาปิดยอดไม่ตรงกับบัญชี ซึ่งไม่ใช่เกิดจากเงินหาย แต่ส่วนใหญ่จะเกิดจาการเขียนตัวเลขกับยอดไม่ตรงกัน ต้องช่วยกันแก้ บางครั้งก็ใช้เวลานาน ต้องให้รุ่นพี่มาช่วย หรือปรึกษาคุณครู ช่วงแรกอาจเครียดบ้าง แต่ช่วงหลัง เริ่มคุ้นชินและสนุกกับงานมากขึ้น
“ พฤติกรรมการฝากบางคนมีเป้าหมายในการฝาก บางคนก็ฝากไปเรื่อยๆ บางคนรวมกลุ่มหารายได้มาเปิดบัญชีในนามกลุ่มสร้างการตื่นตัวของนักเรียนมากยิ่งขึ้น ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าการฝากเงินมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ บางวันมีเงินฝากวันละ 6 หมื่นบาท ถือว่าเป็นยอดเงินฝากที่สูงมาก ” นางสาวศกุลตลา กล่าวและว่า ประสบการณ์มาเป็นจิตอาสา นอกจากได้ความรู้เรื่องการเงินแล้วยังได้ฝึกความรอบคอบ ความซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลาและสอนให้เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น
ด้าน “ คุณอภิญญา ปุญญฤทธิ์ ” ผู้อำนวยการฝ่ายเงินฝาก กองทุนธนาคารอิสลาม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า โครงการโรงเรียนธนาคารของ ธ.ก.ส. แต่เดิม เป็นกลุ่มออมทรัพย์ โดยให้นักเรียนออมแล้วครูมาฝากเงินกับธนาคาร แต่ต่อมาในปี 2551 ได้ปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบโรงเรียนธนาคาร ซึ่งจัดเป็นรูปแบบมากยิ่งขึ้น เหมือนมีธนาคารอยู่ในโรงเรียน โดย ธ.ก.ส. สนับสนุน อุปกรณ์และระบบคอมพิวเตอร์แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,600 โรงเรียน
อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เปิดโครงการจนถึงขณะนี้พบว่าอัตราการขยายตัวแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันมีจำนวน 554,765 บัญชี มียอดเงินฝากทั้งสิ้น 416 ล้านบาท ในจำนวนนี้แยกเป็นโรงเรียนธนาคารในระบบอิสลาม 59 โรงเรียน มีบัญชีทั้งหมด 18,601 บัญชี ยอดเงินทั้งสิ้น 15.89 ล้านบาท(รวมธนาคารมหาวิทยาลัย / มหาลัยวิทยาลัยราชภัฏยะลา)
“ หากดูเงินในบัญชีเมื่อเทียบกับเงินฝากของธนาคาร ดูอาจไม่มาก แต่หากลงไปดูแต่ละโรงเรียนพบว่าบางโรงเรียนยอดเงินฝาก 4-5 ล้านบาท นับว่าเป็นยอดเงินที่น่าทึ่งมาก อย่างไรก็ตามธนาคารไม่ได้เน้นในเรื่องตัวเลข เพียงแต่ต้องการเน้นการออมและฝึกวินัยในการฝากของเด็กนักเรียน”
คุณอภิญญา กล่าวอีกว่า โรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีความพร้อม 3 ด้าน คือ ผู้บริหารโรงเรียนมีความพร้อมและมุ่งมั่น เด็กนักเรียนพร้อม และ สาขาของธนาคารแต่ละพื้นที่ต้องมีความพร้อม ด้วย เพราะทั้ง 3 ด้าน จะต้องเดินไปด้วยกัน เราไม่ต้องการปริมาณ แต่หากเปิดแล้วต้องมีคุณภาพ โดยมีหลักคิด หรือสมการสำคัญคือ รายได้- เงินออม = รายจ่าย หมายถึง ต้องออมทันที่ที่มีรายได้ ก่อนจะเป็นรายจ่าย
“ เพื่อเป็นการคืนกำไรกับสังคม ทุกปีเราจะมอบทุนการศึกษาให้ โดยจะคัดเลือกจากเด็กที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารโรงเรียน เพราะเขาเหล่านี้ทำงานเพื่อส่วนรวมสมควรได้รับการดูแล โดยมีทุนการศึกษาจนจบปริญญา ”
อย่างไรก็ตามโรงเรียนธนาคาร ไม่เพียงแต่จะสอนในเรื่องการฝากและออมเท่านั้น แต่โครงการโรงเรียนธนาคาร ยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กแสดงความสามารถ ฝึกการหาเงิน ฝึกการเก็บเงิน ฝึกการบริหารเงิน และต่อยอดทางความคิดเพื่อให้รู้ถึงระบบของธนาคารและรู้จักแหล่งทุนในอนาคตอีกด้วย
+++++++
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2558