Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   Cover girls : แบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก

" ปิยะธิดา ศาสนูปถัมภ์ "

ดีไซน์เนอร์แฟชั่นมุสลิมไทย

Cover girls : แบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก

+++++++++++++++

            นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่นักดีไซน์เนอร์มุสลิมประเทศไทย มีโอกาสโชว์ศักยภาพบนเวทีนานาชาติ ไม่เพียงเท่านั้นเธอยังได้รับการยอมรับว่าเป็นนักเผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม จนได้รับการโหวตจากโลกโซเชียลให้ได้รับรางวัลฮิญาบ ไอคอนอุควะห์ “Icon Ukhuwah International Award” ในงานแสดงเสื้อผ้ามุสลิมนานาชาติปี 2 หรือ “Kuala Lumpur International Hijab fair 2015”  เมื่อเร็วๆ นี้

            นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับนี้จะพามารู้จัก “ ปิยะธิดา ศาสนูปถัมภ์  หรืออลาเวียร์  เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Cover Girls เป็นที่ยอมรับในกลุ่มแฟชั่นเสื้อผ้ามุสลิมไทย วันนี้เธอกำลังขยับตัวเองก้าวสู่นักดีไซน์เนอร์ระดับแถวหน้าและเวทีระดับนานาชาติ

            อลาเวียร์ เปิดเผยกับ นิตยสาร ดิอะลามี่ ถึงเส้นทางธุรกิจแฟชั่นมุสลิม ว่า จุดประกายไอเดียเริ่มจากทำฮิญาบหรือผ้าคลุมผมแบบมุสลิม เพราะคิดว่าการแต่งตัวที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักศาสนาทำแล้วได้บุญ อีกทั้งผู้หญิงมุสลิมจะต้องแต่งตัวแบบปกปิดถูกต้องตามหลักการ 

          “ เริ่มทำตั้งแต่ศึกษาในระดับปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย (International Islamic University Malaysia) หรือ UIA ประเทศมาเลเซีย ขณะนั้นเริ่มนำ เสื้อผ้าจากเมืองไทยเข้าไปขายเพื่อนนักศึกษาในมหาลัย ซึ่งมีทั้งเพื่อนที่เป็นชาวมาเลเซียและนักศึกษาชาวต่างชาติ เพื่อนๆ ต่างรู้จัก เพราะจะมีลักษณะการแต่งกาย ที่มีสไตล์และเป็นที่สนใจของเพื่อนๆ อลาเวียร์ กล่าวและว่า

            ในอดีตการแต่งกายของผู้หญิงในมาเลเซีย ยังไม่ตามกระแสหรือมีแฟชั่นเหมือนปัจจุบัน เราก็แต่งตัวตามสไตล์แฟชั่นไทย ซึ่งเป็นที่สนใจของคนมาเลเซีย จึงนำสินค้าเสื้อผ้าจากบ้านเราไปส่งขายที่ร้านในประเทศมาเลเซีย การทำธุรกิจเสื้อผ้าจึงมีความผูกพันกับเธอ

            เมื่อเธอไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย (สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ) ที่นี่เป็นประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม สไตล์การแต่งตัวมีตัวเลือกน้อย แต่เธอยังยังคงรักษาอัตลักษณ์การแต่งกายของมุสลิม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยนำวิธีการ มิกซ์แอนแมทช์ จับเสื้อผ้าแบรนด์แต่ละแบรนด์มาผสมผสาน จนกลายเป็นคอลเลคชั่นใหม่ในสไตล์ของเธอเอง รวมถึงผ้าคลุมผม จนกระทั่งเพื่อนๆ ที่เป็นมุสลิมที่ยังไม่คลุมฮิญาบเมื่อเห็นว่าเธอคลุมฮิญาบแล้วสวยก็หันมาคลุมฮิญาบด้วย

            “หลังจากกลับมาอยู่ประเทศไทย จึงมีแนวคิดที่จะสานต่อธุรกิจที่เคยทำสมัยอยู่มาเลเซีย อีกทั้งด้วยใจรักเรื่องการแต่งกาย จึงคิดต่อว่า เราควรจะทำอะไรให้มุสลิมะฮ์ หรือเด็กวัยรุ่นมุสลิมไทย ที่ยังไม่ได้คลุมฮิญาบ หันมาสนใจเรื่องการคลุมฮิญาบ แต่งตัวให้ถูกต้อง แต่สามารถเข้ากับสังคม ทั้งในสังคมมุสลิมและสังคมทั่วไปได้

            เธอบอกว่า ก้าวแรกของธุรกิจเริ่มด้วยการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ โดยการใช้ตัวเองเป็นแบบง่ายๆ แนะนำการคลุมผมด้วยสไตล์ต่างๆ โพสต์ลงเฟสบุ๊ค ปรากฏว่ามีคนสนใจเข้ามาติดตามเราจำนวนมาก ก่อนที่จะพัฒนาเป็นธุรกิจขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2010 จากนั้นเริ่มเปิดหน้าร้านที่กรุงเทพฯ ย่านรามคำแหง ก่อนจะขยายสาขาไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

            “ แม้ว่าเราจะทำธุรกิจ แต่ก็ยังสามารถสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตัวเองและสังคมได้ด้วย จึงเป็นที่มาของการสร้างแบรนด์ Cover girls ซึ่งคำว่า Cover แปลว่า ปกปิด อยากให้ผู้หญิงแต่งตัวให้เรียบร้อยถูกต้องตามหลักการแต่ก็สวยได้ จนทำให้ในระยะกว่า 4 ปีที่ผ่านมา Cover girls ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น

            อลาเวียร์ กล่าวถึงธุรกิจร้านเสื้อผ้า Cover girls ว่า ในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ในแง่การตลาดยังไม่สามารถบอกได้ว่าเราประสบความสำเร็จ ตลาดแฟชั่นเมืองในไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียถือว่ายังห่างกันมาก ดังนั้น Cover girlsจึงอาศัยที่มีคอนเนคชั่นกับเพื่อนในอินโดนีเซีย เราจึงได้ขยายตลาดไปอินโดนีเซียมากกว่าในประเทศไทย

            “ เรามีโอกาสไปร่วมงานเดินแฟชั่นโชว์ในงานแฟชั่นของอินโดนีเซีย ซึ่งมีแบรนด์ไทยเพียงรายเดียวจากนั้นเพื่อนที่อินโดฯ ซึ่งเป็นกลุ่มเดีไซน์เนอร์มีชื่อเสียงหลายคน ชวนทำธุรกิจเสื้อผ้าในอินโดฯ จึงตัดสินใจร่วมกับเพื่อนโดยใช้ชื่อว่าร้าน Hijab Story ซึ่งร้านดังกล่าวเป็นร้านขายสินค้าระดับพรีเมียม โดยนำเข้าสินค้าจากทั่วทุกมุมโลก ในจำนวนนี้รวมถึงแฟชั่นมุสลิมจากเมืองไทยแบรนด์Cover girls รวมอยู่ด้วย”

            ด้วยกระแสแฟชั่นมุสลิมมาแรงในอินโดนีเซีย ประกอบกับการออกแบบของในสไตล์ที่โมเดิร์น เพียงระยะเวลา 6 เดือนแรกปรากฏว่ากระแสตอบรับเป็นอย่างดี จนถึงทุกวันนี้ Hijab Story เติบโตมี 15 สาขา ในประเทศอินโดนีเซีย นับตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งภายในปีนี้ตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 20 สาขา

            ในฐานะที่เป็นทั้งดีไซน์เนอร์และเป็นผู้ประกอบการแฟชั่นมุสลิม เธอบอกว่า แฟชั่นมุสลิมเป็นตลาดที่ใหญ่ประชากรในภูมิภาคอาเซียนกว่า 600 ล้านคน ในจำนวนนี้มีมุสลิมกว่าครึ่ง โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย นับว่าเป็นประเทศที่มีมุสลิมมากที่สุดในโลก จึงคิดว่าโอกาสของแฟชั่นมุสลิมยังมีอนาคตอีกมาก

            ด้วยผลงานการันตีแฟชั่นมุสลิมในเมืองไทยได้รับรางวัลชนะเลิศความคิดสร้างสรรค์ระดับประเทศ จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.) เมื่อปี 2012 และรางวัลชมเชย จากการประกวดเสื้อผ้าชุดลำลอง

            วันนี้ชื่อของ อลาเวียร์ หรือ ปิยะธิดา ศาสนูปถัมภ์ เจ้าของแบรนด์ Cover girls กลายเป็นดีไซน์เนอร์ ที่มี่ชื่อเสียงระดับนานาชาติ หลังจากเธอ คว้ารางวัลฮิญาบไอคอนอิควะห์ จากงาน Icon UkhuwahInternational Aword หรืองาน “Kuala Lumpur International hijab fair 2015” เป็นงานแสดงเสื้อผ้ามุสลิมนานาชาติปีที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-31 พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

            สำหรับ ไฮไลท์ของงาน เป็นการคัดเลือกจาก 13 ประเทศทั่วโลก แต่ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมรับรางวัล 8 คนจาก 7 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอแลนด์ จากมาเลเซีย 2 คนและหนึ่งในนั้นคือ อลาเวียร์ ตัวแทนจากประเทศไทยด้วย

            ความน่าสนใจของรางวัลดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเพียงความโดดเด่นด้านดีไซด์เท่านั้น แต่มันคือ”ศาสตร์แห่งแฟชั่น และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเผยแพร่ศาสนาอิสลาม” เรื่องของการแต่งตัวให้สวยงามและถูกต้องตามหลักการศาสนา

            อลาเวียร์ บอกว่า รางวัลดังกล่าวตัดสินจากจำนวนคนที่เข้าไปติดตามในโซเชียลเน็ตเวิร์คและบุคคลที่ทำงานให้สังคมเรื่องของการรณรงค์ให้มุสลิม สวมใส่ฮิญาบนับเป็นรางวัลที่คนทั่วโลกรู้จัก

            “ สิ่งที่เราโพสต์บนโลกออนไลน์เราไม่ได้เน้นเรื่องทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เราเน้นในเรื่องของการเผยแพร่ศาสนา ขณะที่เราโพสต์ จะสอดแทรกในเรื่องของศาสนาด้วย รวมถึงการลงยูทูปแนะนำวิธีการและขั้นตอนการคลุมฮิญาบ ตลอดจนการทำกิจกรรมคืนสังคม โดยใช้แฟชั่นเป็นเครื่องมือสื่อสาร อาทิเช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในปาเลสไตล์และฉนวนกาซา หรือแม้แต่เด็กกำพร้าในประเทศไทย เพื่อระดมทุนในการช่วยเหลือสังคม”


            เวทีนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้โลกมากมาย ได้พบเพื่อนใหม่ บางคนเป็นคนที่เราติดตามและชื่นชอบอยู่แล้ว ทำให้เรารู้จักเขามากยิ่งขึ้น  นอกจากนี้เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด และได้รับรู้เรื่องราวของผู้หญิงมุสลิมที่อยู่ในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมในด้านของเสรีการแต่งกาย ซึ่งบางประเทศอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมประเทศนั้น แต่อย่างไรก็ดีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในเรื่องของศาสนา ทำให้สามารถเข้มแข็งขึ้นได้

            อลาเวียร์ กล่าวถึง เทรนด์แฟชั่นว่า ปีนี้เทรนด์ของโลกเป็นสีเขียวแต่ก็ยังสามารถนำมามิกซ์แอนด์แมทช์ สำหรับเทรนด์ตอนนี้ เป็นกระโปรงแม็กซี่ เดรส ไม่ใช่มุสลิมก็ใส่ได้  สำหรับเมืองไทย เราตามเทรนด์นี้บ้าง ส่วนกระแสแฟชั่นเทรนด์ปัจจุบันคือ ผ้าไหมและลูกไม้กำลังมา ดีไซน์ของเราจะเน้นไปทางนี้ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

            ส่วนซีซั่นหน้าคาดว่ากระโปรงพลีทแมกเดรส และเสื้อคาร์ดิแกน จะเข้ามาช่วยให้สาวๆ แต่งตัวได้สนุกขึ้น  เสื้อผ้าผู้หญิงมุสลิมไม่ได้ขึ้นตรงกับ ฮอลลี่วูด เกาหลี หรือญี่ปุ่น แต่จะเปลี่ยนไปตามเน็ตไอดอลหรือไอคอนมุสลิมบนโซเชียลจากทั่วโลก

            “ สำหรับจุดเด่นของ Cover girls เราเน้นทำงานแฟชั่นให้ออกมาดูดีมีสไตล์ พยายามศึกษาหลายๆ ด้าน ทั้งเทรนด์และธุรกิจ ซึ่งงานดีไซน์ของเราออกมาเป็นสินค้าที่นำสมัยนำเทรนด์ มีทั้งคุณภาพและคุ้มราคา ”

          ถึงแม้วันนี้ในต่างประเทศนับได้ว่าเธอจะมีคนรู้จักบ้างแล้ว แต่ อลาเวียร์ บอกว่า ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังว่าต้องมีชื่อเสียง เพียงแต่เราทำเพราะเรารักในอาชีพนี้ สำหรับก้าวต่อไปหากมีโอกาสก็อยากก้าวไปสู่เวทีแฟชั่นที่ได้รับการยอมรับมากกว่านี้ อาทิเช่น เวทีแฟชั่น มาเลเซีย, จาการ์ต้า, ดูไบ หรือ แม้แต่เวทีลอนดอนแฟชั่น

            นั่นคือการก้าวย่างของ “ปิยะธิดา ศาสนูปภัมป์” หรือ อลาเวียร์ดีไซด์เนอร์สาวไทย ที่กำลังจะก้าวสู่ดอกไม้แห่งเอเชียในอนาคต

          ++++



            “ ปิยะธิดา ศาสนูปภัมป์” หรือ อลาเวียร์

           เจ้าของแบรนด์ Cover girls

            ผู้ดำเนินพิธีกรรายการ We are muslimah ช่อง TM.TV. จันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00 น.-11.00 น. วันเสาร์ อาทิตย์ เวลา 16.30-17.30 น.
           นักธุรกิจส่งออกสินค้าไทยไปยังตะวันออกกลาง

             เบอร์ติดต่อ 083 012 9267, ID Line : nanopatch , Facebook : Alavearcovergirls and Covergirls fashion muslim,  Instagram : Alavear_covergirls, What*s app : +66830129267

 
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2558