ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้บุกเบิกสสม.องค์กรเพื่อสังคม
โดย เอกราช มูเก็ม
ชื่อของ ” ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ” หลายคนรู้จักในหลากหลายเวที หลากหลายบริบท บ้างก็รู้จักในนาม นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ หรือ บางคนรู้จักในฐานะผู้รณรงค์ต่อต้านการไม่สูบบุหรี่ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า นักวิชาการท่านนี้ มีบทบาทมากกว่าที่เรารู้จัก......
“ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์” เริ่มสนทนากับ นิตยสาร ดิ อะลามี่ โดยย้อนเวลาก่อนจะมาถึงวันนี้ว่า หลังจากเรียนจบจากคณะ วิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในระยะเวลาไม่นาน ก่อนจะสอบบรรจุเป็นนักสถิติแห่งชาติ ทำงานอยู่ระยะหนึ่งจึงสอบบรรจุเป็นอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชีวิตเข้าสู่การเป็นนักเศรษฐศาสตร์เต็มตัว
ในระหว่างเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ฯ ได้รับทุนวิจัย จากมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์สทำงานวิจัยที่เกาะฮาวาย แต่ชีวิตไม่ได้หยุดนิ่ง จากนั้นได้รับทุนไปศึกษาต่อประเทศออสเตรเลีย ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
“ ผมเชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์สองด้าน คือด้านการกระจายได้ และด้านโมเดลลิ่ง CGE (Computable General Equilibrium) ซึ่ง เป็นแบบจำลองที่วิเคราะห์ทั้งระบบเศรษฐกิจ ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งการผลิต การบริโภค การใช้ปัจจัยการผลิต การนำเข้าส่งออก การออม การคลังสาธารณะ เป็นต้น โดยมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในส่วนหนึ่งของระบบย่อมกระทบไปถึงส่วนอื่น ๆ อย่างเป็นลูกโซ่ ”
จากนักวิชาการเศรษฐศาสตร์สู่บทบาทนักสังคม
ศ.ดร.อิศรา กล่าวถึงจุดเริ่มต้นก่อตั้งโครงการมูลนิธิสุขภาวะมุสลิมไทย หรือ สสม.ว่า ขณะที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (Biotec) ในสังกัด สวทช. มี 2-3 เรื่องที่สะกิดใจ
“ มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่ง ทางศูนย์ฯลงทุนไปประมาณ 3-4 ล้านบาท มองว่า ปัจจัยในการผลิตต้องใช้วัตถุดิบที่มาจากมุสลิมจำนวนมาก ผมจึงขอโครงการนี้เพื่อให้มุสลิมทำ แต่ ปรากฏว่าไม่มีองค์กรมุสลิมหรือมุสลิม รับทำงาน นับว่าน่าเสียดาย อีกเรื่องขณะทำงานในคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ พบว่ามีเงินจากกองทุนสนับสนุนควบคุมยาสูบปีละ 10-20 ล้าน พบว่าองค์และสังคมมุสลิม ขอมาเพียง 5 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบสัดส่วนของประชากรมุสลิมในประเทศไทย ” ศ.ดร.อิศรา กล่าวและว่า
เราทุกคนต้องจ่ายภาษี มุสลิมก็จ่ายเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าตอนเอาภาษีคืนสู่สังคม กลับพบว่าสังคมมุสลิมได้ประโยชน์น้อยมาก ที่สำคัญงบประมาณของรัฐจำนวนมากไม่ถึงชุมชนมุสลิม นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถนำงบประมาณของรัฐกระจายสู่สังคมมุสลิม
นั่นจึงเป็นที่มาของจุดเริ่มต้นในการร่วมกันเขียนแผนงานและนำมาสู่การจัดตั้งมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย หรือ สสม.นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ก้าวสู่เป็นปีที่ 12 ภายใต้คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากวันนั้นถึงวันนี้ สสม.ดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นเฟสแรกการรณรงค์และผลักดันการทำสุนัตของมุสลิม ให้บรรจุในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง
เฟส 2 เริ่มรณรงค์และผลักดันให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต, เฟส 3 ผลักดันให้พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาตจนสามารถผ่านวาระหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่ปรากฏว่าในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับวาระตกไป ส่วนเฟส 4 ได้ปรับการทำงานใหม่ เริ่มผ่องถ่ายอำนาจการบริหารจัดการไปยังคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันอยู่ในเฟส 5 เริ่มมีการจัดกระบวนการภายใน มีการจัดตั้งบุคลที่จะมาทำหน้าที่รองผู้จัดการ โดยแบ่งตามความรับผิดชอบเช่น รองผู้จัดการ 1 ดูแลพื้นที่ตอนบน ส่วนรองผู้จัดการ 2 ดูพื้นที่ภาคใต้
ศ.ดร.อิศรา กล่าวถึง บทบาทการทำงาน ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาวะมุสลิมไทย หรือ สสม.ว่า ได้มีโอกาสไปร่วมงาน เรื่องนโยบายภาษีด้านสุขภาพในองค์กรระดับโลกค่อนข้างมาก เช่น องค์การอนามัยโลก ( WHO) สำหรับบทบาทกับประเทศไทย จะเกี่ยวข้องกับการรณรงค์เรื่องบุหรี่บ้าง แต่ยังค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับการทำงานในระดับโลก
“ ปัญหาการการทำงาน สสม.ในอดีตสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากคือสังคมมุสลิม ไม่รับเงิน สสม. ซึ่งต่อมาเราได้ทำความเข้าใจและขอให้สำนักจุฬราชมนตรี (ในสมัยนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ อดีตจุฬาราชมนตรี) ตีความ จนในที่สุดปัญหาข้างต้นหมดไป ”
ศ.ดร.อิศรา บอกถึงสิ่งที่คิดว่าสำเร็จและน่าภูมิใจ ในการทำงาน สสม. โดยกล่าวด้วยความมั่นใจ และด้วยความอิ่มเอิบว่า สสม.ไม่ใช่เป็นองค์กรของผม แต่ สสม.เป็นองค์กรของสังคม โดยเราเริ่มต้นจากการจดทะเบียนมูลนิธิจากเงิน 300,000 บาท เป็นเงินซึ่งทุกคนลงขันกัน ..นี่คือสิ่งที่น่าภูมิใจ..เพราะทุกคนคิดว่าเป็นองค์กรส่วนรวม ถือเป็นเจตนาให้ทุกคนมีส่วนร่วม
ศ.ดร.อิศรา สันติศาสน์ ไม่เพียงแต่เป็นนักวิชาการ และทำงานด้าน สสม.เท่านั้น แต่ยังเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มีบทบาท และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐศาสตร์ด้านการเงินอิสลาม เคยมีส่วนร่วมในการคณะกรรมาธิการยกร่างพรบ.ธนาคารอิสลามและเป็นอดีตกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์)
“ตอนที่ผมเข้าไปนั่งเป็นกรรมการบอร์ด เราเห็นว่า เรายังขาดการเตรียมความพร้อมด้านการบริหารและกำลังคนเพราะการบริหารธนาคาร ไม่ใช่แค่เอาเงินไปฝากและการถอน การเงินการธนาคารมีอะไรที่ให้เราต้องเรียนรู้มากมาย อาทิเช่น มันนี่มาร์เก็ต แม้กระทั่งเศรษฐศาสตร์ก็ยังเรียนไม่หมด ”
ทั้งนี้ จัดตั้งธนาคารอิสลามฯ มาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้บริหารสูงสุดหรือ MD เป็นมุสลิม
“ เรื่องของการเงินอิสลาม ผมมองว่าเราต้องมาดูตั้งแต่เริ่มต้น หรือ คอนเซ็ปต์ว่าเราจะเลือกเอาระบบการเงินวิธีคิดของอาหรับหรือมาเลเซียมาใช้ อยากให้มีการถกแนวคิดรูปแบบการเงินให้จัดเจน เพราะไม่ว่าระบบอาหรับหรือมาเลเซียต่างก็มีจุดอ่อนและจุดแข็งที่ต่างกัน ร่วมกันหาจุดลงตัว”
จึงอยากเห็นนักการเงินของมุสลิมที่เป็นนักวิชาการเข้มข้น ไม่ฉาบฉวย และอยากเห็นการเปิดเสรีทางการเงินอิสลาม เพื่อขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้นทำให้เกิดการแข่งขัน และที่สำคัญสังคมไทยจะต้องเข้าใจระบบการเงินอิสลาม ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ศ.ดร.อิศรา ยังเป็นนักวิจัยเรื่องฮาลาลอีกคนหนึ่ง โดยระบุว่า อุตสาหกรรมฮาลาล นับเป็นฐานเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่ต้องระวังและอย่าสับสน คำว่า “ฮาลาล” กับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาล แน่นอนมุสลิมทุกคนต้องบริโภคสิ่งที่ฮาลาล แต่มุสลิมทุกคนอาจจะไม่ต้องบริโภคอาหารที่มีเครื่องหมายฮาลาล ทั้งนี้ การมีเครื่องหมายฮาลาลจะช่วยให้มุสลิมทุกคนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแอ ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมส่งออกทั้งระบบ รวมถึงสินค้าที่ได้รับรองเครื่องหมายฮาลาล ทางออกเรื่องอุตสาหกรรมฮาลาลรัฐบาลไทยควรจะมีหน่วยงานหนึ่ง ทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล หน่วยงานนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นองค์กรของศาสนา เพราะองค์กรศาสนา จะมีหน้าที่ให้การรับรองตรวจรับรองเท่านั้น แต่ต้องเป็นขององค์กรเชิงยุทธศาสตร์ ทำหน้าที่ในการหาตลาด โปรโมทสินค้าฮาลาลของประเทศไทย และที่สำคัญจะต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
“สิ่งที่น่าห่วงในขณะนี้ หลายคนไม่รู้ หรือมองข้ามสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ภายใต้ข้อตกลงในการเปิดเสรีอาเซียน (AEC) ภาคบริการ ในอนาคตจะสามารถตรวจรับรองข้ามประเทศได้ องค์กรของไทยก็สามารถไปตรวจรับรองให้ประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้ ขณะเดียวกัน เขาก็สามารถเข้ามาตรวจรับรองในประเทศไทยได้เช่นกัน เรื่องเหล่านี้ หน่วยงานของรัฐไม่เคยตระหนัก”
สู่นักออกแบบวางแผนภาษีระดับโลก
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของไทยไม่มากนักที่จะมีบทบาทในเรื่องการเข้าไปออกแบบวางแผนการจัดเก็บภาษีให้กับต่างชาติ แต่ ศ.ดร.อิศรา ฯ เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเขาบอกว่ามี 2 ประเทศที่เขาเข้าไปเกี่ยวข้อง และนับว่าเป็นบทบาทสำคัญที่สร้างชื่อให้กับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทย
“ ผมเข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องระบบภาษีให้กับ 2 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศมัลดีฟส์“
ศ.ดร.อิศรา บอกว่า สำหรับประเทศลาวเกิดจากแรงผลักดันขององค์กรภายนอก ร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง สรรพสามิตบุหรี่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ผมเข้าไปทำวิเคราะห์ให้รัฐบาลลาว อุตสาหกรรมยาสูบในประเทศลาวมีหน้าตาเป็นอย่างไร ภาษี เก็บกันอย่างไร และต้องแก้ไขอย่างไร รวมถึงแนวทางเพื่อการควบคุมบุหรี่ ซึ่งลาวเป็นประเทศที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ซึ่งต่อมารับบาลลาวได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีแล้ว”
ในส่วนของประเทศมัลดีฟส์ หลังจากที่มีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ รัฐบาลต้องการจะเปลี่ยนแปลงรายได้ จึงนำมาปรึกษามายังองค์กรอนามัยโลก (WHO) ในที่สุดองค์กรอนามัยโลก เลือกผมเข้าไปทำงาน โดยเข้าไปศึกษาและวางระบบการจัดเก็บภาษีสุขภาพเสนอให้รัฐบาลมัลดีฟส์ มีระบบภาษีใหม่ โดยนำเสนอไป 6-7 ทางเลือก ซึ่งสุดท้ายคณะทำงานได้ประชุมสรุปและรับหลักการนำไปสู่การจัดเก็บภาษีใหม่ นับเป็นอีกภารกิจที่ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรระดับโลก
ศ.ดร.อิศรา สันติศาสน์ นับเป็นนักวิชาการที่มีผลงานมากมาย ทั้งในฐานะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และนักบุกบุกโครงการเพื่อสังคม โดยการันตีด้วยรางวัลอาจารย์ดีเด่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลจากองค์กรอนามัยโลก งดสูบบุหรี่โลก และล่าสุดโปรดเกล้าตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” สายเศรษฐศาสตร์ จากผลงานด้านกระจายรายได้และผลงานด้านภาษีบุหรี่
+++++++++++++++++++
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่
ฉบับเดือน พฤษภาคม 2558