”ไอแบงก์” ในกระแสร้อน
โดย กองบรรณาธิการ
+++++
สำนักข่าวอะลามี่ : ความเคลื่อนไหวของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมมุสลิม หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ปัญหาหนี้เน่า จนนำไปสู่วิกฤติความเชื่อมั่น ท่ามกลางการเปลี่ยนผู้บริหารหลายครั้งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แหล่งข่าวเปิดเผยกับ อะลามี่ ถึงโครงสร้างคณะกรรมการบริหารของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ ว่า เรื่องนี้ได้มีการหารือร่วมกันของหลายฝ่ายทั้งบุคลระดับผู้บริหารของธนาคารอิสลามฯ ตลอดจนถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะแนวทางการบริหารของธนาคารอิสลามฯ ที่ยังติดกรอบเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
“ เรื่องนี้เราหารือกันหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ของธนาคารอิสลาม พร้อมบันทึกข้อเสนอผ่าน กรมน.ภาค4 ส่วนหน้า ส่งให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ผ่าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขานุการ คสช.) เพื่อขอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย”
แหล่งข่าวระบุว่า เมื่อรัฐบาลได้จัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จึงอยากให้ดำเนินการด้านการเงินที่ถูกต้องตามหลักชารีอะห์ ในระบบการเงินอิสลาม เพื่อให้ประชาชนที่เป็นชาวไทยมุสลิมได้รับบริการตามหลักถูกต้องของศาสนา รวมถึงผู้ที่มิได้เป็นมุสลิมที่ต้องการใช้บริการก็สามารถใช้บริการได้ เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตามการบริหารงานในห้วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ของคณะกรรมการบริหารธนาคารฯ ชุดนี้ ที่นำโดย “นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์” แม้ว่าจะเป็นเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ในการบริหารจัดการระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศ เป็นที่ยอมรับกันในสังคมการเงินการธนาคารโดยทั่วไป แต่สำหรับในเรื่องการเงินการธนาคารในระบบอิสลามนั้น ไม่เหมือนแนวการบริหารธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ผู้ที่จะบริหารจะต้องเข้าใจในหลักการอิสลามเป็นอย่างดี จะต้องเชื่อมั่นและศรัทธา มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในเรื่องการเงินระบบอิสลามอย่างเชี่ยวชาญ
สำหรับข้อเสนอที่ถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ประกอบด้วย 1. ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงบอร์ดทั้งคณะที่มี นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ เป็นประธานกรรมการคณะบริหารนี้ในประการแรก
2. เรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารฯ ในหลายๆ ประเด็น เช่น การทำธุรกรรมของธนาคารมีอะไรบ้าง, อำนาจที่ปรึกษาชารีอะห์, สัดส่วนของกรรมการมุสลิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการของธนาคารฯ ที่เป็นมุสลิมมีเพียงคนเดียวจากจำนวน 11 คน, ที่มาของผู้จัดการ, คุณสมบัติของผู้จะดำรงตำแหน่งต่างๆ ที่ยังไม่เหมาะสมบางอย่างสูงมากจนหาผู้ทำหน้าที่ไม่ได้, การยกเว้นกฎหมายต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ 3. ยังเรียกร้องขอให้สรรหากรรมการผู้จัดการ ที่มีความรู้หลักการบริหารธนาคาร และมีความรู้หลักศาสนาอิสลาม หลักการเงินอิสลาม จากบุคคลภายนอกที่เป็นคนไทยนับถือศาสนาอิสลาม เพื่อให้เกิดความเชื่อถือและเชื่อมั่นกับภาคประชาชน ที่จะใช้บริการของธนาคาร และต้องกำหนดสัดส่วนกรรมการที่เป็นคนมุสลิมในอัตราส่วนกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมด เพื่อถ่วงดุลการบริหารที่มีมุมมองต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง ในระบบการธนาคารและหลักศาสนา
4. ข้อเรียกร้องยังเสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารธนาคารใหม่ โดยโครงสร้างที่มีผลกระทบกับประชากรมุสลิม โดยกลุ่มเป้าหมายประชากรมุสลิม ซึ่งส่วนมากอยู่ทางภาคใต้ ขอให้กระจายมอบอำนาจการบริหาร ลงสู่ภาคใต้ให้มากที่สุด เพื่อลดขั้นตอน ย่นระยะเวลาในการดำเนินงานให้รวดเร็วมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น คล้ายการบริหารงานในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
และ 5. ยกระดับฝ่ายกิจการฮัจย์และอุมเราะห์ เป็นฝ่ายงานหลักของธนาคาร เพราะถือเป็นหน้าตา และเป็นเกียรติของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
แนะเปิดเสรีทางการเงิน สร้างบรรยากาศการแข่งขัน
ขณะที่ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยกับ อะลามี่ ว่า เห็นด้วยที่สังคมมุสลิมเริ่มมีการตื่นตัวเกี่ยวกับธนาคารอิสลามฯ แต่การเรียกร้องที่มาของบอร์ดบริหารของธนาคารฯ คงเป็นเรื่องยากเพราะหากมองในแง่ธุรกิจ ธนาคารอิสลามฯไม่ใช่ของเอกชน หรือของมุสลิม แต่มีผู้ถือหุ้นจากส่วนต่างๆ ซึ่งบอร์ดของธนาคารก็ต้องมาจากตัวแทนผู้ถือหุ้น
“ แม้จะมีความเชื่อว่า ธนาคารอิสลามฯ หากมีผู้บริหารมาจากมุสลิม ก็ไม่ได้การันตีว่า จะบริหารงานโปร่งใส หรือ อาจเชื่อว่าบริหารแล้วมีปัญหาน้อยลง”
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทของบอร์ดชารีอะห์ของธนาคารอิสลามว่า หากดูในกรอบอำนาจมี 2 อย่าง คือ แสนอแนะ และให้คำปรึกษา อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่มานั่งในบอร์ดชารีอะห์ แม้ว่าจะมีความรู้ด้านศาสนา แต่ยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน ซึ่งบางครั้งหากไม่มีความรู้ด้านการเงิน รู้ไม่เท่าทัน การตัดสินใจอาจคล้อยตามฝ่ายบริหารได้ และที่สำคัญบอร์ดชารีอะห์ต้องกล้าที่จะแสดงออกให้มากกว่านี้
“ ส่วนการเรียกร้องให้มีผู้บริหารที่มาจากมุสลิมนั้น เท่าที่มีประสบการณ์จากธนาคารอิสลามฯ เคยทาบทามให้นักการเงินมุสลิมที่มีบทบาทในธนาคารพาณิชย์ หรือองค์กรอื่น ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความสามารถ แต่หลายคนปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะมองว่า การทำงานที่ธนาคารอิสลามอาจเหนื่อยกว่าที่ทำงานเก่า ”
แหล่งข่าวระบุ พร้อมกับกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้บริหาร ที่จะมีการเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนในบางประการว่า หากจะลดคุณสมบัติ ตนไม่เห็นด้วย เนื่องจากธนาคารอิสลามฯ จะต้องเป็นสถาบันการเงินที่ต้องแข่งขันในเวทีการเงินในระดับชาติและในเวทีต่างประเทศ
“ ผมเห็นด้วยที่ธนาคารอิสลามฯ จะต้องมีผู้บริหารเป็นมุสลิม แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการลดคุณสมบัติผู้บริหาร ฯ น่าจะผ่อนปรนคุณสมบัติด้านอื่น หรือสร้างแรงจูงใจด้านอื่น เพื่อให้มุสลิมที่มีความสามารถสนใจที่จะเข้ามาบริหาร แต่ต้องไม่กระทบกับคุณภาพของการทำงาน มิฉะนั้นจะทำให้ธนาคารคู่แข่ง หรือ ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปดูแคลนธนาคารหรือผู้บริหารของธนาคารอิสลามฯ ได้”
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ ยังแนะทางออกในระยะยาวว่า รัฐบาลต้องเปิดกว้างให้มีเสรีการทางการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ธนาคารในรูปแบบชารีอะห์เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และพนักงานเองก็มีทางเลือก เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและแข่งขันในการพัฒนาศักยภาพ
“ สำหรับผู้สมัครสรรหาผู้จัดการ (MD) ส่วนตัวมองว่ายังไม่ประทับใจกับบุคคลที่มาสมัคร ซึ่งในหลักการพิจารณานั้น หลังจากมีผู้สมัครสรรหาแล้ว บอร์ดธนาคารจะตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร เพื่อพิจารณาผู้สมัครคัดเลือกเสนอรายชื่อ ตามที่เห็นสมควรต่อบอร์ดธนาคารในการประกาศแต่งตั้ง แต่ที่ผ่านมา เคยมีปรากฏการณ์ หลังจากกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกแล้ว ปรากฏว่าบอร์ดกลับไม่รับ พร้อมกับแต่งตั้งคนอื่นที่ไม่ได้เป็นรายชื่อตามที่กรรมการสรรหาเสนอ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของบอร์ด ”
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนเมษายน 2558
จำหน่าย ร้านซีเอ็ดบุ๊ค ทั่วประเทศ