Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   “ ฮุสนี ฮาหมัด”

“ ฮุสนี ฮาหมัด”จากชาวปาเลสไตน์ 
    
    สู่นักการศึกษามุสลิมไทย

โดย เอกราช มูเก็ม

++++++++++++++++

                         “.. ผมอยากเห็นคนมุสลิมในประเทศไทย มองคนต่างศาสนิกไม่ว่าชาวไทยพุทธ หรือชาวไทยคริสต์ ล้วนเป็นพี่น้องกัน เราต่างก็เป็นลูกหลานท่านนบีอาดัม แตกต่างแค่ความเชื่อเท่านั้น เราสามารถใช้หลักการศาสนามาแก้ปัญหาสังคมร่วมกันได้ ..”

++++++

             “ฮุสนี ฮาหมัด ” เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในแผ่นดินไทยกว่า 27 ปี เขาได้ซึมซับวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรมมุสลิมไทยจนทำให้เขาเรียกตัวเองเต็มปากว่า “เขาเป็นคนไทย”

            นิตยสาร ดิอะลามี่ ฉบับนี้ เรามาทำความรู้จัก ฮุสนี ฮาหมัด ผู้มีบทบาทผลักดันด้านคุณภาพสังคมและด้านการศึกษาแถวหน้าคนหนึ่ง ในแวดวงมุสลิมไทยปัจจุบัน “ฮุสนี” ดำรงตำแหน่งประธาน มูลนิธิคุณภาพชีวิตเพื่อการพัฒนา ( เป็นเจ้าของ โรงเรียนนานาชาติแพนเอเชีย) นอกจากนี้เขายังเป็นประธาน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อสังคม  โดยมีพันธกิจสำคัญคือ การเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทางภาคใต้ และโรงเรียนเรียนเอกชนในภาคอื่นๆทั่วประเทศ

            ฮุสนี เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เขาเกิดจากครอบครัวชนบท อาชีพทำเกษตรกรรม ในเมืองเล็กแห่งหนึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองประเทศปาเลสไตน์ (ในอดีตเป็นดินแดนในการปกครองจอร์แดน) หลังจากเรียนจบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปเรียนต่อสาขาวิศวกรรมโยธา ประเทศอินเดีย  หลังจบปริญญาตรี เขาไปทำงานในประเทศแอลจีเรีย ระยะหนึ่ง จากนั้นเพื่อนคนไทยในสมัยเรียนอินเดียได้ชักชวนมาประเทศไทย

             “ผมมาเมืองไทยเมื่อประมาณ 27 ปีที่ผ่านมา เริ่มทำธุรกิจส่งออก (ในปี1987) จากนั้นได้ไปลงทุนทำนากุ้งในภาคใต้ ทำให้เริ่มรู้จักสังคมมุสลิมในเมืองไทยมากขึ้น และที่นั่นทำให้ผมเริ่มมีความคิดในเรื่องการพัฒนาสังคมมุสลิม โดยมุ่งไปที่พัฒนาระบบการศึกษา เพราะผมเชื่อว่าความยากจน จะหมดได้เพราะการศึกษา”

             จากประสบการณ์เห็นว่าในสังคมไทยเรามีบุคลากรด้านวิชาชีพน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณของคนในวิชาชีพด้านต่างๆ ก็เลยเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร ให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ที่มีมากกว่า 300 โรงเรียน ซึ่งนักเรียนประมาณกว่า 3 แสนคน มีพัฒนาการศึกษาในระยะสั้นๆ จึงคิดที่จะมาช่วยพัฒนาโรงเรียนโดยทำงานอยู่ประมาณ 2 ปี แต่เนื่องจากคนกลุ่มหนึ่งมองว่าเขาไม่ใช่นักการศึกษา ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง

             ฮุสนี  ได้นำเสนอแนวคิดในการพัฒนาเด็กเยาวชนมุสลิม ว่า ปัจจุบันโรงเรียนสอนศาสนาในเมืองไทย เรียน 2 หลักสูตรคือหลักสูตรสอนศาสนากับสามัญ โดยโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาฯมีชั่วโมงเรียนประมาณ 60 ชั่วโมง/สัปดาห์ ขณะที่ในโรงเรียนของรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชน มีคาบเรียน 30 ชม./สัปดาห์ ทำให้นักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาฯสอบวัดระดับ O-Net ได้น้อยมาก

            เขาชี้ว่า ดรรชนีของเด็กนักเรียนมุสลิมที่จบมัธยม ปีละประมาณ 15,000 คน เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพียง 400 คนเท่านั้น  ส่วนที่เหลืออีกกว่า 14,000 คน เด็กเหล่านี้กลับไปอยู่ในหมู่บ้านของตนเอง บ้างก็ทำงาน แต่ในจำนวนนี้ซึ่งจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพ

          “ผมเคยคุยเรื่องนี้ ว่านี้เป็นการสร้างระเบิดเวลา เยาวชนเหล่านี้อีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วัยศึกษาอยู่ในวัยที่มีพลังสูง หากนำพลังไปในทางที่ดี ก็จะนำพาสังคมดีขึ้น แต่หากเยาวชนเหล่านี้ถูกชักนำในทางไม่ดี นี่คือระเบิดเวลาที่เกิดขึ้นแล้ว”

           ฮุสนี บอกว่า สังคมไทยไม่ใช่เป็นสังคมที่ขาดนักการศาสนา ที่ผ่านมาเราผลิตนักการศาสนามาก   เราสนใจแต่เรื่องฟัรดูอีน (วิชาภาคบังคับที่มุสลิมต้องปฏิบัติ) เพียงอย่างเดียว ทุกมัสยิดสอนฟัรดูอีน โรงเรียนสอนฟัรดูอีน ปอเนาะสอนฟัรดูอีน ผมก็ตั้งคำถามว่า...!!  แล้วใครจะสอน “ฟัรดูกิฟายะห์” (ข้อบังคับทางศาสนาแต่หากมีคนอื่นทำแทนแล้ว ก็ถือว่าชุมชนจะพ้นจากข้อนี้) ...นี่คือเหตุผลหนึ่งของการเปิดโรงเรียนแพนเอเชีย โรงเรียนอินเตอร์ของมุสลิมแห่งแรกของประเทศไทย

            “ ข้อมูลจากสมาพันธ์แพทย์ ในประเทศไทย มีแพทย์ 50,000 คน มีแพทย์มุสลิมประมาณเพียง 100 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก จากนี้ไปเราต้องเตรียมบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและความต้องการของนักเรียนด้วย  ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง นักการศึกษาเริ่มเห็นถึงความสำคัญเรื่องเหล่านี้ มากขึ้น”

             ฮุสนี มองว่า แม้สังคมเริ่มเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเรียกร้องให้สังคมมุสลิมตระหนัก คือ เราต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ต้องตระหนักว่า เราเป็นคนไทย นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักจุฬาราชมนตรี หรือ องค์กรมุสลิม จะต้องคิดเสมอว่าถึงบทบาทตัวเองในการให้ความช่วยเหลือสังคมทั้งภาพรวม

              “ ในฐานะคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในเมืองไทย ผมมองว่า รัฐบาลไทยให้สิทธิกับมุสลิมมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ปัญหาที่ผ่านมา เราไม่รู้จักบทบาท ไม่รู้จักสิทธิของตัวเอง ดังนั้นเราต้องตระหนักเรื่องนี้ให้มาก มิฉะนั้นคนมุสลิมจะเสียโอกาสจากการเป็นคนไทย”

             ในบริบทการทำงาน  “ฮุสนี” รับใช้สังคมในหลากหลายหน้าที่ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาบอกกับเรา ว่า เขาภาคภูมิใจ มากที่สุด คือ การสร้างโรงเรียนแพนเอเชีย  และมีส่วนร่วมในการจัดตั้งสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 6จังหวัดชายแดนใต้ เข้าไปสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามกับรัฐบาล

และที่สำคัญอีกเรื่องคือ การร่วมจัดตั้ง สถาบันวะสะฏียะฮ์ เป็นสถาบันมุสลิมสายกลาง ภายใต้การสนับสนุนจากประเทศคูเวต  โดยมี จุฬาราชมนตรี (อาศีส พิทักษ์คุมพล) เป็นประธานสถาบัน ฯ ซึ่งประเทศคูเวตประสบความสำเร็จมาแล้วในการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน ในอดีตที่ผ่านมา

            “ ผมอยากเห็นคนมุสลิมในประเทศไทย มองคนต่างศาสนิกไม่ว่าชาวไทยพุทธ หรือ ชาวไทยคริสต์ ล้วนเป็นพี่น้องกัน เราต่างก็เป็นลูกหลานท่านนบีอาดัม แตกต่างแค่ความเชื่อเท่านั้น เราสามารถใช้หลักการศาสนา มาแก้ปัญหาสังคมร่วมกันได้ ”
               ฮุสนี บอกว่า ตลอดชีวิตการทำงานเขาพยายามสร้างความฝัน เพราะการทำงานของชีวิตต้องมีความฝัน  เขาฝันอยากเห็นประเทศไทย เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เขาฝันว่า ในความสำเร็จนั้น จะมีสังคมมุสลิมเป็นผู้นำในการนำพาประเทศสู่การพัฒนา โดยยึดหลักการ “ ซื่อสัตย์ มืออาชีพ” เพราะนั่นคือการทำให้สังคมยอมรับ และเชื่อมั่นในสังคมมุสลิมมากยิ่งขึ้น

            “สิ่งสุดท้ายในชีวิตก่อนจะกลับไปสู่ความมเตตาของพระเจ้า ผมฝันว่า ถ้ามีโอกาส จะจัดทำโครงการวากัฟ (บริจาคตามเจตนา) อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้องค์กรนี้ทำรายได้นำไปพัฒนาสังคมต่อไป”

             อย่างไรก็ตามเขายังยึดมั่นว่า ประตูสำคัญของการสร้างสังคมให้มีคุณภาพ คือ ชุมชนหรือสังคมนั้นจะต้องมีการศึกษา เพราะเขาเชื่อมั่นว่า การศึกษาเท่านั้น ที่จะทำให้คนหายจน ซึ่งเขาย้อนกลับมามองตัวเองพร้อมกับทิ้งท้ายว่า  .. ถ้าผมไม่เรียน วันนี้ผมก็คงทำอาชีพการเกษตรเหมือนครอบครัว แต่คนเราต้องมีเป้าหมาย และมีความหวัง แม้พระเจ้าจะเป็นผู้ให้ริสกี แต่เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเดินทาง…”


ตีพิมพ์ครั้งแรก:นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือน ตุลาคม 2557