“กวินธร วงศ์ลือเกียรติ“
เบื้องหลังผลักดัน “สวนอุตสาหกรรมฮาลาลเชียงใหม่”
โดย เอกราช มูเก็ม
++++++++
การจัดงานแสดงสินค้าฮาลาลนานาชาติเชียงใหม่ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ได้สะท้อนถึงบทบาทและศักยภาพของ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่
“กวินธร วงศ์ลือเกียรติ” ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ คือหนึ่งในแกนนำคนสำคัญขององค์กร ที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องยุทธศาสตร์ฮาลาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศตัวว่าจะเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าฮาลาลภาคเหนือ สู่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจีน พม่า ลาว ตลอดจนถึงประเทศอินเดียและบังคลาเทศ
ปัจจุบันเชียงใหม่มีผู้ประกอบการมาขอรับรองเครื่องหมายฮาลาล จากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผ่านการรับรองไปแล้วกว่า 100 ราย ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ เป็นผู้ส่งออกสินค้า กระจายไปทั้งประเทศ รวมทั้งการส่งออกไปยังตะวันออกกลางและยุโรป ด้วย
“ การจัดแสดงงานสินค้าฮาลาลฯ เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อมเรื่องศักยภาพ และอยากแสดงให้เห็นว่า เราพร้อมที่จะก้าวสู่ AEC ที่กำลังจะมาถึงปลายปีนี้”
กวินธร กล่าวว่า เชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางและเส้นทางระบายสินค้าทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่จะไปเชื่อมกับทางลุ่มน้ำโขงและส่วนหนึ่งเชื่อมต่อกับอินเดียและบังคลาเทศ แต่ที่ผ่านมาเชียงใหม่ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายผังเมือง เนื่องจากพื้นที่เกือบทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูก(พื้นที่การเกษตร) ซึ่งไม่สามารถขยายโรงงานได้
ด้วยปัจจัยดังกล่าว รัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติพื้นที่ 700 ไร่ ในพื้นที่อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเช่าพื้นที่จากกรมธนารักษ์ เพื่อก่อสร้างสวนนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ขนาดกลาง แต่ละโรงงานจะมีการลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท
“ หลังจากที่รัฐบาลประกาศ ทราบว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการพร้อมเข้าร่วมประมาณ 70-80% แล้ว นอกจากนี้ยังมีผู้สนใจจาก จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย ร่วมสร้างโรงงาน เพื่อผลิตสินค้าส่งไปยังตะวันออกกลาง รวมถึงแหล่งทุนสนับสนุนทั้งจากซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย อีกด้วย”
กวินธร บอกว่า สำหรับการก่อสร้างได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยรัฐบาลมอบหมายให้ 8กระทรวงเข้ามาดูแล ตั้งแต่เริ่มจัดทำผังเมือง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมเพื่อจัดทำผังเมือง เปลี่ยนพื้นที่ จากพื้นที่สีเขียวให้เป็นมีพื้นที่สีม่วง (โซนอุตสาหกรรม) พร้อมกับเดินหน้าเช่าพื้นที่จากกรมธนารักษ์ ต่อไป
“ ที่ผ่านมาเรามีการประชุมความพร้อมดำเนินการใน เชิงรุกโดยจัดลงนามความร่วมมือร่วมกันระหว่างสำนักงานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ กับ สภาหอการค้าเชียงใหม่ และ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 2 องค์กรให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ”
ในขณะเดียวกัน จังหวัดเชียงใหม่เอง ได้นำเรื่องฮาลาลบรรจุเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งทั้งหมดจะสอดรับกับนโยบายการจัดตั้งสวนนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล 700 ไร่ ซึ่งจะผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนกว่า500 ราย จะมีคนงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คน โดยในจำนวนนี้จะมีแรงงานจากพื้นที่ประมาณ 60-70%
ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ 8 กระทรวง ลงมาสนับสนุนโครงการ ทั้งงบประมาณการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 7,000 ล้านบาทโดยมีโครงสร้างสำคัญ คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ เข้าถือหุ้น 15% และทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโครงการ โดยได้รับการสนับสนุน จากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกในอนาคต
“ เราไปดูงาน เมืองหนิงเซียะ(ประเทศจีน) ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาลงนามความร่วมมือเป็นเมืองแฝด ทั้งนี้ หนิงเซียะ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งในระยะยาว เราเชื่อว่าสินค้าจากเชียงใหม่จะสามารถส่งเข้าไปยัง หนิงเซียะ และสามารถกระจายสินค้าไปทั่วจีนทั้งประเทศ นับเป็นประตูการค้าสำคัญ ในอนาคต ” กวินธร กล่าว.
ตีพิมพ์ครั้งแรก : คอลัมน์ People Focus นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับมีนาคม