Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ไอแบงก์ เดินหน้าลุยแผนฟื้นฟู

ไอแบงก์ เดินหน้าลุยแผนฟื้นฟูพลิกธุรกิจ

เร่งภารกิจ 4 ด้าน - เน้นบริการสังคมมุสลิม

โดย กองบรรณาธิการ

              ไอแบงก์ลุยฟื้นฟูธุรกิจเรียกความเชื่อมั่น หลังเจอภาวะวิกฤติเร่งดำเนินตามคำสั่งซุปเบอร์บอร์ด “ ลุยเอาผิดผู้บริหารทุจริตทำให้แบงก์เสียหาย ”  พร้อมเดินหน้าแก้หนี้ NPL ตั้งเป้าปีนี้ลด 1 หมื่นล้านบาท


              นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ได้อนุมัติแผนฟื้นฟูของธนาคาร ในช่วงปลายปี 2557 โดยมีคำสั่ง ให้เร่งดำเนินการ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.  ศึกษาแผนปฏิรูปโดยเน้นปล่อยสินเชื่อกับมุสลิม และศึกษาแนวทางการตั้ง AMC เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ NPFs   2. ให้กำหนดเป้าหมายการทำงานองค์กร KPI  โดยการประเมินผลเป็นรายไตรมาส  3.เร่งตรวจสอบ และฟ้องดำเนินคดีกับผู้ทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย รวมไปถึงการบริหารผิดพลาดจนนำมาสู่ความเสียหายของธนาคาร และ 4.จัดทำแผนการหาพันธมิตร

             ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายของธนาคารในการกลับมาได้รับความเชื่อมั่น และความไว้วางใจ ในการให้บริการอย่างถูกต้องตามหลักชะรีอะห์ เพื่อเป็น ธนาคารหลักของลูกค้ามุสลิมและลูกค้าทั่วไปที่ทำธุรกิจกับกลุ่มชาวมุสลิม ตลอดจนเป็นธนาคารทางเลือกของลูกค้าทั่วไป

             โดยล่าสุดได้เดินสายโรดโชว์จัดประชุมสัมมนา เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการสนับสนุนเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูและแผนธุรกิจธนาคารอิสลามฯ ให้กับผู้บริหาร นอกจากนี้ได้เข้าพบกับผู้นำองค์กรศาสนา ผู้นำชุมชน รวมถึงเข้าพบ ท่านจุฬาราชมนตรี เพื่อขอคำแนะนำในการดำเนินของธนาคารอิสลามฯ ด้วย

             นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้บอร์ดของธนาคารมีการหารือกันถึงแนวทางการเอาผิดบุคคลเหล่านี้ซึ่งมีทั้งคนในและคนนอกที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามต้องมาดูกันว่าเริ่มต้นที่ธนาคารเกิดความเสียหายเกิดขึ้นเมื่อใด ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตตามมาอีกในอนาคต

             สำหรับด้านแผนดำเนินงาน ธนาคารจะต้องพลิกฟื้นธนาคาร ซึ่งได้จัดกลุ่มลูกหนี้ NPFs ไว้ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกคือ กลุ่ม กลุ่มที่ดำเนินกิจการได้ ที่ดำเนินกิจการและฟื้นตัวได้ กลุ่มที่สอง โดยเฉพาะการจัดการปัญหาหนี้แต่จำเป็นต้องลดภาระหนี้  กลุ่มที่สาม กลุ่มดำเนินกิจการแต่ฟื้นตัวยาก กลุ่มนี้ต้องใช้เวลามากในการฟื้นฟู และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือกับธนาคารหรือหยุดกิจการแล้ว

             อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ บอกว่าล่าสุดธนาคารได้เดินหน้าเจรจากับลูกหนี้รายใหญ่จากทั้งสิ้นกว่า 100 ราย เพื่อให้เข้าสู่ขบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจากการเจรจาในเบื้องต้น ภายในปีนี้จะลดหนี้NPLของธนาคารประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปี เดือน ธ.ค. 2557 ที่มียอดหนี้NPL ทั้งหมดที่อยู่ 4.78 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 43.56% ของยอดสินเชื่อรวม

              “ สำหรับหนี้NPL ที่แก้ไขไม่ได้ ธนาคารมีแผนจะขายหนี้ส่วนดังกล่าวให้กับบริษัทบริหารหนี้เสีย ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ขึ้นมา เพื่อรับโอนหนี้ไปบริหารต่อไป”

             นายชัยวัฒน์กล่าวอีกว่า หนึ่งในแผนที่ซูเปอร์บอร์ดอยากให้ธนาคารดำเนินการคือการเข้าสู่พันธกิจของธนาคาร โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มเป้าหมายไปสู่ลูกค้ามุสลิมมากขึ้น โดยธนาคารจะพยายามเพิ่มฐานลูกค้ามุสลิมปีละ 3 แสนคน ไปสู่ 1 ล้านคน ภายใน 3 ปี หรือสิ้นปี′60

             “แนวทางในการทำงานเราจะเข้าไปสนับสนุนลูกค้า ซึ่งประกอบกิจการที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาล โดยนำร่องในนำผู้ประกอบการนำสินค้าไปโรดโชว์บุกตลาดโลกมุสลิมซึ่งมีกว่า 57 ประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการนำไอแบงก์ สู่การเป็นธนาคารอิสลาม อย่างแท้จริง”

            โดยพันธะกิจของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เราตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2558  เป็นปีแห่งการปรับปรุงองค์กร  ใน ปี 2559 เป็นปีแห่งการเติบโตและการมีเสถียรภาพ และปี 2560  เป็นปีแห่งความเชื่อมั่น

             ประธานกรรมการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการสอดรับการฟื้นฟูธนาคารมีแผนปรับปรุงสาขาเพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มมุสลิมมากขึ้น เช่น ย้ายสถานที่ตั้งสาขาให้ใกล้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขากระจายใน 39 จังหวัด แต่ส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ซึ่งยังไม่สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ เข่น

            “ พบว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการขยายสาขามากผิดปกติ ซึ่งพบว่าบางสาขาเปิดในสถานที่เกินความเหมาะสม อาทิเช่น สาขาเซ็นทรัลพระราม9 ใช้พื้นที่มากถึง 269.75 ตร.เมตร  โดยจ่ายค่าเช่าสูงถึง 858,329 บาท/เดือน, สาขาเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า ขนาดพื้นที่ 196.93 ตร.เมตร ค่าเช่า 697,946 บาท/เดือน ซึ่งทั้งสองสาขาแทบไม่มีลูกค้าที่เป็นมุสลิม อีกทั้งมีผู้ใช้บริการน้อยมาก” นายชัยวัฒน์ กล่าว.

 

 

 

 

 

 

 ตีพิมพ์ครั้งแรก :นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนมีนาคม 2558