ดร. วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ : อิหม่ามนักพัฒนา
โดย วรัญญา พุ่มเพ็ชร
+++++++++++++++++++
”ดร. วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ” อิหม่ามนักพัฒนา ผู้มีดีกรีความรู้ทั้งทางธรรมและทางโลก จนได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้บริหารมัสยิดต้นแบบอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
“ หลังจากที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนเมื่อปี 48 จากแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม.) เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรในมัสยิดชุมชนบ้านเหนือ ทั้งนี้มองว่า การพัฒนาคนเป็นหัวใจของการพัฒนาทั้งหมด ในการสร้างคนและพัฒนาชุมชนมุสลิม “ ดร. วิสุทธิ์ กล่าวถึงที่มาและแนวคิดก่อนจะมาถึงทุกวันนี้
ด้วยทัศนียภาพของ มัสยิดบ้านเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ริมคลองอู่ตะเภา ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและค้าขาย ผู้นำมัสยิดแห่งนี้ จึงมีแนวคิดในการพัฒนาชุมชนควบคู่ทั้งด้านกายภาพรวมพลังศูนย์การเรียนรู้ศึกษาดูงานและด้านเศรษฐกิจ
ดร. วิสุทธิ์ บินล่าเต๊ะ บอกว่า จากแนวคิดในการพัฒนาได้บริหารจัดการโดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลาง จึงได้จัดพาไปศึกษาดูงานทัศนะศึกษาที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีความก้าวหน้าในด้านการจัดสรรทรัพยากร และระดมเงินทุนในรูปกลุ่มออมทรัพย์ หลังจากดูงานกลับมาได้ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์มัสยิดบ้านเหนือ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 รวมไปถึงมีความตื่นตัวในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สำหรับหลักการบริหารจัดการคนในชุมชน การสร้างองค์ความรู้ เพื่อเป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง จัดการเรียนการสอน ทุกสัปดาห์ สอนอัลกุร-อาน รวมถึงคำแปล เพื่อที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เรียนรู้หลักการอิสลามรวมไปถึงผลักดันการเรียน สร้างอุดมการณ์เป็นการสร้างกัลยาชนรังสรรค์มัสยิดบ้านเหนือ
“ปัจจุบันชาวบ้านจะมารวมตัวละหมาดที่มัสยิดไม่ต่ำกว่า 100 คน/เวลา (การทำอิบาดะห์) ทำให้การทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งคน 100 คนนี้ จะกลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนของสังคมต่อไป”
นอกจากนี้ในทุกเย็นของวันศุกร์ จะมีกิจกรรมรวมกันกินน้ำชา มีการบริจาคเงิน เพื่อสร้างมัสยิด รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ และช่วยเหลือกันในชุมชน กิจกรรมดังกล่าวจึงกลายเป็นวิถีชีวิต เป็นเรื่องปกติของคนในชุมชน ซึ่งมีความผูกพันกับมัสยิด และพร้อมที่จะรับนโยบายที่ทางมัสยิดกำหนดขึ้น
ส่วนในแง่ของเศรษฐกิจ เรื่องการทำซะกาต เราพยายามที่จะทำความเข้าใจสำหรับคนที่มีเงินครบจำนวนที่สอดคล้องกับคำสอนของศาสนา จัดสรรซะกาต ทำให้เป็นไปในลักษณะจัดหาเครื่องทำมาหากินหรือสร้างบ้านพักให้กับคนยากจนและเด็กกำพร้า สนับสนุนการศึกษา จัดสวัสดิการคนชรา ซึ่งทางมัสยิดจะจัดการบริหารให้ถึงมือคนที่มีสิทธิรับซะกาต ตามที่หลักศาสนากำหนดไว้
ดร. วิสุทธิ์ บอกว่า สำหรับเรื่องของอาชีพ เราสนับสนุนให้คนในชุมชนมีอาชีพ เพื่อเลี้ยงคนในครอบครัว เช่น รถ และเรือประมง ซึ่งเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพทำให้ลดปัญหาความยากจน นอกจากนี้ เงินที่ร่วมกันบริจาคในวันศุกร์นั้นยังมีเหลือพอที่จะสร้างอาคารศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ประจำมัสยิด จัดสรรทุนการศึกษา คนที่ยากจน แต่ขาดโอกาสด้านการศึกษา ซึ่งการศึกษาจะพัฒนาคนได้ในระดับหนึ่ง
“ กำลังสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มแม่บ้าน เราได้จัดตั้งกลุ่มแม่บ้าน ทำหน้าที่ในกิจการด้านสตรีของชุมชน รวมตัวทำอาชีพเสริม ฝึกอบรมเยาวชนหญิงในการทำตัวให้เหมาะสม และจัดตั้งสภาซูรอ ส่งเสริมร่วมมือ รวมทั้งประชุมปรึกษา ช่วยเหลือดูแลคนในชุมชนในด้านต่างๆ มีการจัดตั้งกลุ่มพิทักษ์มัสยิดชาย-หญิง ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของมัสยิดและพื้นที่โดยรอบ”
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากกลุ่มสตรีเข้มแข็งแล้ว เราได้จัดทำ กลุ่มโฮมสเตย์ของชาวบ้าน โดยจัดให้มีการลงทะเบียน สำหรับชาวบ้านที่ต้องการมีรายได้เพิ่ม จัดบ้านเป็นโฮมสเตย์ให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาพัก พานักท่องเที่ยวล่องเรือ ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับคนในชุมชนไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท/เดือน
ปัจจุบัน มัสยิดบ้านเหนือ ได้กลายเป็นมัสยิดต้นแบบ มีผู้คนหลากหลายมาเรียนรู้ มาศึกษาดูงานและมาทัศนะศึกษา รวมถึงได้เรียนรู้แนวคิดการดึงมวลชนในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน ตลอดจนการอยู่ร่วมกันและการทำละหมาดร่วมกัน
มัสยิดชุมชนบ้านเหนือ นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางการดำเนินงานของ แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย (สสม.) คือ การเสริมสร้างสุขภาวะในสังคมมุสลิมไทย โดยใช้แนวทางศาสนาเป็นทางนำของหัวใจการทำงาน ด้วยการเริ่มต้นการสร้างสุขภาวะจากมัสยิดและชุมชน จนได้รับการยอมรับถึงวิถีชุมชนที่เข้มแข็งสู่ความสำเร็จ อีกยังสามารถเป็นประโยชน์กับชุมชนอื่น ในการเรียนรู้เพื่อขยายผลต่อไป
นี่คืออีกตัวอย่างในการจัดการปกครองระบบแบบแผนพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทำให้ชุมชนชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมิได้เลยหากขาดผู้นำชุมชนที่วิสัยทัศน์และเอาใจใส่ทุกข์สุขของคนในชุมชน รวมทั้งการร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นของสมาชิกในชุมชน
ตีพิมพ์ครั้งแรก : คอลัมน์// people focus นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2558