Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   มองการเงินอิสลามผ่าน”อรุณ บุญชม”

มองการเงินอิสลามผ่าน”อรุณ บุญชม”

ชี้ “อะมานะฮ์ เอ็กเพรส” กระตุ้นธุรกิจชุมชนปลอดดอกเบี้ย

โดย กองบรรณาธิการ

+++++++++++++++++++++

              ชื่อของ อาจารย์อรุณ บุญชม” เป็นที่รู้จักในฐานะนักการศาสนาและเป็นนักวิชาการมุสลิม ที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งของสังคมมุสลิมในประเทศไทย

             อาจารย์อรุณ จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอิสลาม มาดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย สาขาวิชา อัลหะดีษและอิสลามศึกษา และปริญญาตรีรัฐศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

             ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านชะรีอะฮ์ กับสถาบันการเงินในประเทศไทยหลายแห่ง

            อาจารย์อรุณ บุญชมให้สัมภาษณ์ “นิตยสาร ดิอะลามี่ ถึงบทบาทการทำหน้าที่เป็นบอร์ดชะรีอะฮ์ ว่า แต่ละแห่งจะมีกรอบการทำงานที่ต่างกัน อาทิเช่น การทำหน้าที่เป็นบอร์ดชะรีอะฮ์ธนาคารอิสลาม ก็มีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยชัดเจนว่า ให้คำแนะนำแก่ธนาคาร ให้ดำเนินการในเรื่องของธนาคารซึ่งไม่ขัดต่อหลักการของศาสนา ไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย และจะไม่เป็นการหลอกลวง ที่ถือว่าเป็นธุรกิจที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการของศาสนา

            ในฐานะที่ เป็นประธานคณะกรรมการด้านชะรีอะฮ์ของ “อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในด้านธุรกิจ ธุรกิจของอะมานะฮ์ลิสซิ่ง เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเช่าซื้อรถยนต์ ในหลักการศาสนา ซึ่งต้องทำให้ถูกต้องในหลักการของสัญญา ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ สอดคล้องต่อหลักการของศาสนาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย

            อาจารย์อรุณ ผ่านประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาสถาบันการเงินแบบชะรีอะฮ์มานาน และเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินแบบอิสลาม โดยมองว่าถ้าดูจากสถิติของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่ามีการตื่นตัว และได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น

           “ผมไปดูงานในประเทศมาเลเซีย คนที่ไม่ใช่มุสลิม เขาบอกว่าใช้บริการกับธนาคารอิสลามเพราะเขามั่นใจ เนื่องจากธนาคารมีการเปิดเผยตัวเลขในเรื่องอัตราผลกำไรของธนาคารทุกเดือน ทำให้เขาเห็นสถานะทางการเงินของธนาคาร นี่คือภาพหนึ่ง ที่เรามองเห็นว่าการเงินแบบอิสลามน่าจะมีการขยายตัวมากขึ้น”

             นอกจากนี้จะเห็นว่าอีกกลุ่มหนึ่งมีความสำคัญต่อการเงินแบบอิสลาม คือกลุ่มสหกรณ์อิสลาม มีการจัดตั้งเป็นในระบบอิสลามิกไฟแนนเชียล คือให้บริการทางการเงินแบบอิสลามแก่สมาชิก ธนาคารอิสลามก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า มีการตื่นตัวและแตกแขนงออกไปหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจตะกาฟุล และอะมานะฮ์ ลิสซิ่ง

            อาจารย์อรุณ มองถึงโอกาสตลาดการเงินไทย ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกกลุ่ม AEC ว่าเราควรจะปรับตัวในด้านของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ในอาเซียนทั้งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ควรจะไปศึกษาดูงานว่าเขามีอะไรบ้าง เพราะเวลาจะมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคาร เขาอาจจะคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในประเทศของเขา แต่พอเอามาเรียกในประเทศไทย ธนาคารในไทยอาจจะฟังไม่รู้เรื่องหรืออาจจะเป็นเพราะการใช้ชื่อไม่ตรงกัน รวมถึงแนวคิดในการที่จะออกผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับหลักชะรีอะฮ์

            สำหรับแนวคิดของ บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน) ที่จะผลักดันโครงการ ”อะมานะฮ์   เอ็กเพรส” ในการขยายร้านค้าฮาลาลในชุมชนมุสลิมทั่วประเทศ เขามองว่าปัจจุบันพี่น้องมุสลิมมีความเคร่งครัดในเรื่องต่างๆ ทั้งในเรื่องหลักปฏิบัติและหลักศรัทธา (การทำอะม้าลอิบาดะห์) ซึ่งปฏิบัติกันอย่างเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เรายังขาดอยู่คือในเรื่องของการทำธุรกิจ

            ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของ “อะมานะฮ์ เอ็กเพรส” ที่จะเข้าไปตามชุมชนต่างๆ ของมุสลิม จะเข้าไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เข้าไปเป็นศูนย์กลางในการพบปะกันระหว่างพี่น้องภายในชุมชน เมื่อมีปัญหาในเรื่องต่างๆ จะนำเอาปัญหาเหล่านี้ มาพูดคุยแก้ไขแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

             “อะมานะฮ์ เอ็กเพรส จะเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องของการขายในสิ่งที่ชุมชนขาด จะทำหน้าที่สนับสนุนโดยใช้หลักการที่ถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์ ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการที่จะทำให้พี่น้องมุสลิมเราตื่นตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น”

              ทั้งนี้การทำธุรกิจของมุสลิมมีน้อย หลายคนอยู่ภาคของการเกษตร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ซึ่งอาจจะต้องการอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ เช่น ปุ๋ย รถแทรกเตอร์ รถไถนา ยาฆ่าหญ้า ทั้งนี้อะมานะฮ์ เอ็กเพรส สามารถช่วยดูแลได้ ในราคาถูกกว่าตามท้องตลาด

              นอกจากนี้หากเรามีเครือข่ายทั่วประเทศ จะส่งผลดีต่อการระบายสินค้า หรือผลผลิตทางการเกษตรแต่ละท้องถิ่น ที่มีมากในช่วงนั้นๆ อาจจะช่วยพยุงราคาได้ในอีกระดับหนึ่ง ไม่ให้ราคาตกมากจนเกินไป  ซึ่งจะเป็นผลดี

              เพื่อให้การทำธุรกิจประสบความสำเร็จแน่นอนต้องพึ่งทุน ซึ่งการระดมทุนตามหลักการศาสนาอิสลามมีหลายทาง อาทิเช่น นายทุนมีเงิน แต่ไม่มีโอกาสหรือไม่มีเวลาที่จะไปทำการค้าด้วยตัวเอง ก็จะหาผู้ร่วมงานถือว่าเป็นการใช้ทุนทางหนึ่ง เรียกว่า “มุฎอรอบะฮ์” เจรจาและตกลงกันให้เรียบร้อยในการแบ่งปันผลกำไรเป็นสัดส่วนร้อยละหกสิบเป็นของนายทุนอีกร้อยละสี่สิบเป็นของผู้ประกอบการเป็นต้น ไม่ใช่แบ่งกันเป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอน

              อีกเรื่องหนึ่งของการระดมทุน สามารถจัดเป็นหุ้นส่วน เป็นการระดมหุ้น นำเงินเหล่านี้ ไปดำเนินการลงทุนทำการค้า เป็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า “ศุกูก” ทั้งนี้ ศุกูก เป็นการลงทุนในระบบอิสลามอีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่อาศัยดอกเบี้ย เป็นตัวกระตุ้นให้คนเอาเงินมาลงทุนได้อีกทางด้วย

             “ คำว่า ศุกูก เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นประมาณกว่า10ปีที่ผ่านมา เป็นระบบการเงินอิสลามออกเพื่อทดแทนตราสารหนี้ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย ขณะที่ระบบการเงินของธนาคารพาณิชย์จะอยู่บนฐานของดอกเบี้ย ทั้งนี้ การออกศุกูกจะต้องมีกฎหมายรองรับและมีทรัสตรี ที่คอยควบคุมดูแลระบบว่าอยู่บนพื้นฐาน รวมไปถึงในเรื่องของการคืนทุนอย่างไร และการแบ่งปันผลกำไร ”

               อย่างไรก็ตามมองว่าการออกศุกูกในประเทศไทยยังเป็นเรื่องยาก ขณะที่ต่างประเทศอาทิเช่นมาเลเซียเขาทำแล้ว ทำให้สินทรัพย์ของศุกูกมีเพิ่มมากขึ้น และมากกว่ากว่าตราสารอื่นๆ

              “ แม้ว่าหากไม่สามารถออกในรูปแบบศุกูกได้ แต่ในระบบการเงินอิสลาม ยังมีช่องทางและสามารถใช้ระบบการลงทุนแบบอื่นได้ อาทิเช่น การลงทุนตามหลักของ “มุฎอรอบะฮ์” หรือหลัก “มุชารอกะฮ์” และหลักการ “วากาละห์” คือ การที่คนหนึ่งมีทุนและมอบทุนให้อีกฝ่ายไปลงทุน โดยตั้งกำหนดผลกำไร ตามที่ตกลงกัน การตั้งกฎเกณฑ์และกติกา ก็สามารถทำได้ “

               อาจารย์อรุณ ยังกล่าวอีกว่า ในหลักการนิติศาสตร์อิสลามก็จะแบ่งออกเป็น 4 ภาคหลัก คือ ภาคที่ 1 ภาคของ “อิบาดาต” อาทิเช่น การละหมาด การถือศีลอด หรือ ซะกาต ภาคที่ 2 คือ “มุอามะลาต” ภาคของธุรกิจซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 ของตำรานิติศาสตร์อิสลาม ที่เราศึกษากันและอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้นำมาออกมาปฏิบัติอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ อิสติศนาอ์ การว่าจ้างทำของ “สะลัม” การซื้อขายล่วงหน้า และในเรื่องของ “วาดีอะฮ์” การฝากของ, การฝากของ เป็นอะมานะฮ์ คำว่าอะมานะฮ์ เวลารับคืนก็ต้องได้รับคืนตามจำนวนที่ฝากไว้ และรับคืนกลับไปในสภาพเดิม

              อาจารย์อรุณ ยังยกตัวอย่างการทำการค้าในยุคท่านศาสดา ว่า ท่านซุเบร เป็นคนหนึ่งได้รับแจ้งข่าวดีว่าเป็นชาวสวรรค์ ถือว่าเป็นคนที่ไว้วางใจได้ แต่ท่านให้ถือว่าการฝากทรัพย์ เป็นการเป็นหนี้กัน (ไม่ใช่ของที่ฝากไว้) ซึ่งการเป็นหนี้ ถ้ามีการทวงถามเมื่อไหร่ต้องให้คืน แต่จะไม่ใช่ทรัพย์ในสภาพเดิมที่เคยฝากไว้ เพราะท่านได้มีการนำทรัพย์ดังกล่าวไปไปใช้แล้ว แต่ว่าจะคืนให้ครบตามจำนวนของทรัพย์ที่ฝากไว้ทุกประการ

             “ ท่านซุเบรถือเป็นนักการเงินคนแรกของท่านนาบี ท่านมีทรัพย์สินมาก ท่านสามารถเขียนการเบิกเงินจากต้นทางให้เบิกปลายทางได้ เหมือนระบบเช็คของธนาคารในปัจจุบัน ที่สามารถให้ไปเบิกเงินยังเมืองต่างๆ ได้ “

               อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ “อะมานะฮ์ เอ็กเพรส” จะเป็นอีกทางหนึ่งในการกระตุ้น  ให้เกิดการตื่นตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ชุมชนหันมาสนใจเรื่องเศรษฐกิจ ที่ปลอดดอกเบี้ยมากขึ้น…