Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /    ไอแบงก์จัดโครงการไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPFs)

ไอแบงก์จัดโครงการไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPFs)

++++

              ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัดโครงการ “ร่วมใจไกล่เกลี่ยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัยปี 2553 (PSA)

             ตามที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการโครงการสินเชื่อจุลภาค โดยกลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับผิดชอบ โดยดำเนินการอำนวยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายธนาคารให้แก่ประชาชนทั่วไปและประชาชนในระดับรากหญ้า ผ่าน 2 ฝ่ายงาน คือ ฝ่ายเศรษฐกิจและสังคม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (พศต.) รับผิดชอบพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และฝ่ายสินเชื่อจุลภาครับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล ในการนี้เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPFs) ของลูกค้าโครงการสินเชื่อจุลภาค

            ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้กับประชาชนในระดับรากหญ้าเพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาจากมหาอุทกภัยปี 2554 ตามมาด้วยการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ

           เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติการเงินในยุโรปในปี 2555 และผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศตั้งแต่กลางปี 2556 เป็นต้นมา ทำให้ลูกค้าของธนาคารจำนวนมากมีรายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ ส่งผลให้มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ประกอบกับการขาดวินัยทางการเงิน ทำให้เกิดปัญหาหนี้ค้างชำระ

          ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่เกิดจากภาระหนี้สินและช่วยเหลือลูกค้า ไม่ให้ต้องถูกฟ้องดำเนินคดีทางกฎหมาย ในขณะเดียวกันธนาคาร กลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ดำเนินการมาตราการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและได้จัดทำโครงการ “ร่วมใจไกล่เกลี่ย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” 

         โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม  ธนาคารอิสลามแห่งปะเทศไทย  ลูกค้า NPFs โครงการสินเชื่อจุลภาค ในการดำเนินโครงการดังกล่าว สำนักระงับข้อพิพาท ซึ่งเป็นตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยการเป็นหน่วยงานกลางในการเชิญลูกค้าให้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย ประนอมหนี้ที่มีปัญหากับธนาคารและจะลงนามเป็นพยานในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันโดยที่ธนาคารมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนให้กับลูกค้าเป็นกรณีพิเศษตามความสามารถและศักยภาพของลูกค้า

           โครงการดังกล่าวจึงเป็นโครงการที่จะช่วยทำให้ลูกหนี้สามารถปลอดหนี้หรือลดภาระหนี้สินลงได้โดยไม่ถูกดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่เกิดจากภาระหนี้สินและช่วยเหลือลูกค้าไม่ให้ต้องถูกฟ้องดำเนินคดี และเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสีย (NPFs) ของธนาคาร โดยให้โอกาสลูกค้าในการชำระหนี้คืนธนาคารด้วยวิธีการต่างๆ ตามความสามารถและศักยภาพของลูกค้า เช่น การชำระครั้งเดียวปิดบัญชีหรือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

           ร้อยโทสุรกำพล อดุลยรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ปี 2553 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ได้เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นโดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ ที่อำเภอหาดใหญ่ รวมทั้งจังหวัดสงขลาได้รับผลกระทบค่อนข้างมากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายในทุกระดับชั้นของสังคม ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งได้รับนโยบายจากทางรัฐบาลให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือ แก่บรรดาพี่น้องประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงทุนเพื่อนำมาฟื้นฟูกิจการที่ได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยในครั้งนั้น

            ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าไปรับผิดชอบในโครงการ รวมทั้งโครงการในการที่จะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดที่อยู่ระดับฐานรากของสังคมได้มีโอกาสเข้าถึงทุนการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งตนเองและครอบครัวและการศึกษาของบุตรธิดาให้ดีขึ้น

            จากการดำเนินการโครงการเกี่ยวกับเรื่องของการประสบอุทกภัยในครั้งนั้น มีบางส่วนที่พี่น้องประชาชนมีปัญหา ไม่ว่าจากเรื่องของภัยธรรมชาติและปัญหาในเรื่องพืชผลทางการเกษตรทำให้มีปัญหาในเรื่องของการผ่อนชำระคืนเนื่องจากเงินที่ทางธนาคารได้ให้โอกาสแก่พี่น้องประชาชนในระดับฐานรากนั้น ได้นำไปเป็นเงินตั้งต้นเพื่อฟื้นฟูกิจการ เป็นเงินของพี่น้องประชาชนที่ฝากไว้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย เพื่อที่จะบรรเทาความเดือดร้อนให้กับบรรดาพี่น้องที่นำเงินไปแล้วประสบภาระหนัก

             ทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจึงมีนโนบายขอความอนุเคราะห์เป็นโครงการร่วมกับทางสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากทางด้านศาลภาค 9 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดทำโครงการไกล่เกลี่ยปัญหาในบริเวณศาลของพื้นที่แต่ละจังหวัดซึ่งได้มีการกำหนดว่าที่จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จะดำเนินการได้ในวันใ

            จึงอยากเชิญชวนให้บรรดาพี่น้องประชาชนที่เคยใช้บริการแล้วประสบปัญหาเข้ามาพูดคุยกับทางธนาคารอิสลามซึ่งผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ของศาลได้ให้ความอนุเคราะห์ในการใช้บริเวณของศาลในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดเป็นพื้นที่ในการไกล่เกลี่ยเจรจา ในกรณีที่มีผู้ไม่มาไกล่เกลี่ยทางศาลจะมีหนังสือเชิญให้เข้าไปเพื่อที่จะพูดคุยกับทางธนาคาร ผู้ที่ได้รับหนังสือหรือมีผู้ที่ไม่ได้รับหนังสือ

            หากสนใจในโครงการนี้ เชิญไปพบปะพูดคุยหรือสอบถามได้กับทางศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีอยู่ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดอยู่ ซึ่งอาจจะไปในวันที่ได้รับนัดหมายเพื่อที่จะไปสอบถามเพื่อมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโครงการที่จะลดหย่อนหรือบรรเทาภาระให้กับบรรดาพี่น้องที่เข้ามาพบปะพูดคุย ในส่วนของผู้ที่ไม่ได้มาพูดคุยนั้นผู้พิพากษาและทางธนาคารได้ให้ความเมตตา และให้โอกาสที่จะมาพบปะเพื่อพูดคุยกันก่อนที่จะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

 

ขั้นตอนการดำเนินการ

           1. สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรมและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมเรื่องการจัดโครงการ “ร่วมใจไกล่เกลี่ย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศ” เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 เวลา 14.00-15.00 น.  โดยมีท่านกมล  คำเพ็ญ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ประจำสำนักประธานศาลฎีกาเป็นประธานการประชุม ที่ประชุมมีมติอนุมัติหลักการ ให้สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจัดทำโครงการดังกล่าวโดยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทาง ขั้นตอนการดำเนินงานและระยะเวลาดำเนินการโดยละเอียดต่อไป

           2. ธนาคารทำเรื่องถึง ผู้อำนวยการสำนักระงับข้อพิพาท เพื่อขอความอนุเคราะห์จัดทำโครงการ พร้อมแนบรายละเอียดโครงการ (ธนาคารจัดเตรียมข้อมูลลูกหนี้ที่จะนำเข้าร่วมโครงการและขออนุมัติดำเนินโครงการโดยกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์และผลประโยชน์ที่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับ)

           3. สำนักระงับข้อพิพาท ออกหนังสือเชิญชวนลูกค้าเข้าร่วมโครงการ โดยธนาคารจัดทำหนังสือหรือเอกสารเชิญชวนแนบเพื่อแจ้งหลักเกณฑ์และผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับในการเข้าร่วมโครงการประกอบ

           4. ธนาคารจัดประชาสัมพันธ์โครงการ และประกาศผ่านสื่อต่างๆ ของธนาคาร เช่น แผ่นพับ/Website/ตัววิ่งตามสื่อทีวี/ติดป้านที่สาขา ชุมชนและตู้ ATM เป็นต้น

           5. ธนาคารจัดประชุมชี้แจงผู้ประสานงาน (BC) เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในโครงการฯและกำหนดวิธีการทำงานร่วมกันกับธนาคารในการเชิญชวนลูกค้าให้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ ตามวันและเวลาที่กำหนด

          6. สำนักระงับข้อพิพาทและธนาคารร่วมดำเนินการจัดทำโครงการไกล่เกลี่ยตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดโดยสำนักระงับข้อพิพาทจัดผู้ไกล่เกลี่ยร่วมการเจรจาประนอมหนี้ธนาคารกับธนาคารและลูกค้า

 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี

           1.หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ เป็นไปตามระเบียบธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

            2. ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลได้โดยต้องทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารด้วย หากลูกหนี้ที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่ง ให้ธนาคารสามารถบังคับคดีโดยไม่ต้องมีหนังสือแจ้งตื่น

          สำหรับการนัดไกล่เกลี่ยจะจัดขึ้นในวันที่ 19-22 กันยายน 2557 ณ หน้าศาลจังหวัดสงขลา  วันที่ 2 ตุลาคม 2557 ณ หน้าศาลจังหวัดสตูล วันที่ 15 ตุลาคม 2557 ณ หน้าศาลจังหวัดยะลา วันที่ 18 ตุลาคม 2557 ณ หน้าศาล จังหวัดปัตตานี  และวันที่ 21-22 ตุลาคม 2557 ณ หน้าศาลจังหวัดนราธิวาส  โดยขั้นตอนการไกล่เกลี่ยในพื้นที่จังหวัดยะลา จะเริ่มตั้งแต่เวลา 8.30 น. ซึ่งจะตรวจสอบบัตรประชาชนตัวจริงทั้งผู้ขอเข้าร่วมโครงการและผู้ค้ำประกัน ณ จุดลงทะเบียนและมีการเปิดพิธีโดย คุณนิภา ชัยเจริญ ผู้พิพากษาจังหวัดยะลา