ความเชื่อกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดย บันฑิตย์ สะมะอุน
++++
ความเชื่อ/ศรัทธาของมุสลิมคือผู้ยอมรับเจตนารมณ์ของพระเจ้าด้วยความพอใจและยอมรับ ทรัพยากรธรรมชาติในโลกนี้ล้วนแต่ถูกสร้างมาด้วยเจตนาของพระองค์ (มัคลูก) ธรรมชาติที่พึ่งพากันเป็นนิเวศน์ที่สมดุลย์ ทั้งบนท้องฟ้า บนแผ่นดิน และใต้พื้นดิน ล้วนถูกบันทึกไว้แล้วทั้งสิ้นตั้งแต่เริ่มสร้างโลกและการแตกสลายของมัน มันขึ้นอยู่กับความรอบรู้ของพระองค์ นี่เป็นหลักคิดของมุสลิมที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การจะรู้จักหรือเข้าหาพระเจ้าที่มุสลิมเรียกว่า "อัลลอฮ" จะเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น "จงรู้จักพระเจ้าด้วยการรู้จักสิ่งที่พระองค์สร้าง (มัคลูก) " การจะเข้าถึงงานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน้าที่หลักของมนุษย์ตั้งแต่โลกกำเนิดขึ้น สวนสวรรค์ที่อยู่ในจินตนาการของมนุษย์ ก็คือแม่น้ำ/สายน้ำ ต้นไม้/สายลม และอาหาร
โลกทุกวันนี้เกิดวิกฤติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพื้นฐานของความตกต่ำทางความเชื่อ/ความศรัทธา งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมนุษย์เริ่มยอมรับความจริงของชีวิตที่ไม่สามารถสร้างความสมดุลย์ของชีวิตได้หากปราศจากความสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในอดีตเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกผูกไว้กับเรื่องความเชื่อ/ความศรัทธา ผีน้ำ ผีป่า และความเชื่ออื่นๆที่ถูกสร้างขึ้นให้ดูเหมือนเป็นผู้วิเศษเพื่อเป็นผู้ปกป้องดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางความเชื่อได้ยกธรรมชาติขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าหรือเป็นตัวแทนของพระเจ้า
สาเหตุหนึ่งเพราะอาจจะไม่สามารถให้ความไว้วางใจกับมนุษย์ในการดูแลปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงต้องให้ความรับผิดชอบอันสูงส่งและยิ่งใหญ่นี้แก่ผู้ที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ พระเจ้าบางองค์จึงมาจากธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ สัตว์ ภูเขา แม่น้ำ ดวงอาทิตย์ ดวงดาว ฯลฯ เป็นกุสโลบายหรือเป็นภูมิปัญหาของบรรพบุรุษที่ต้องการอนุรักษ์รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อย้อนกลับไปมองอดีต มนุษย์หรือกลุ่มชนของมนุษย์เคยถูกลงโทษ/ล้างเมืองมาแล้วด้วยภัยธรรมชาติด้วยรูปแบบต่างๆ แต่ที่เห็นได้ชัดคือการลงโทษที่มนุษย์เรียกว่าภัยธรรมชาติที่มนุษย์คือผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ นับเป็นภัยธรรมชาติที่เกินจากความสามารถที่มนุษย์สามารถตั้งรับหรือต่อสู้ได้ ภัยธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายหรือความรอบรู้ของมนุษย์
ในแนวคิดของมุสลิมจึงมองภัย/ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติเป็นการลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากมุสลิมมีแนวคิดที่ให้เกียรติธรรมชาติว่าเป็นตัวแทนของพระเจ้า แต่ไม่ใช่พระเจ้าที่แท้จริง
ธรรมชาติที่ดีหรือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลมาจากพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรงที่ไม่ให้เกียรติต่อธรรมชาติ นั่นยังสื่อความหมายว่า เมื่อไม่รัก/ไม่ให้เกียรติต่อธรรมชาติ ก็หมายถึงไม่รัก/ไม่ให้เกียรติต่อพระเจ้า
ในหลักความเชื่อของมุสลิมจึงได้ผูกธรรมชาติไว้กับความเชื่อ/ความศรัทธากับพระผู้เป็นเจ้าโดยตรง ในอัลกุรอานได้กล่าวว่า " และพวกเจ้าทั้งหลายจงอย่าได้สร้างความเสียหายในแผ่นดินหลังจากที่มันพัฒนาปรับปรุงให้ดีแล้ว" (อัล-อะรอฟ/56)
ระบบนิเวศน์หรือความสัมพันธ์ที่ร้อยเกี่ยวกันของธรรมชาติ เช่น การเชื่อมสัมพันธ์ด้วยสายสัมพันธ์ทางเครือญาติของเผ่าพันมนุษย์คือภาพของบ่วงโซ่อาหารของระบบสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ธรรมชาติที่สมบูรณ์คือระบบนิเวศน์ของธรรมชาติที่ร้อยเกี่ยวกัน และจะขาดจากกันไม่ได้ เพราะนั่นเป็นสาเหตุแห่งความวิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะไปกระทบกับชีวิตของมนุษย์โดยไม่มีทางเลือก อัลกุรอานจึงตั้งคำถามกับมนุษย์ว่า "ดังนั้น หวังว่า ถ้าหากพวกเจ้าผินหลังให้(การศรัทธาแล้ว)พวกเจ้าก็จะก่อความเสียหายในแผ่นดิน และจะตัดสายสัมพันธ์ของพวกเจ้ากระนั้นหรือ ?" (มุฮัมมัด/22)
เพราะมนุษย์มีพื้นฐานของการทำลายอยู่ในนิสัยดั้งเดิมของตัวเอง หากขาดความเชื่อความศรัทธา และหลักความเชื่อความศรัทธาของมุสลิมกับพระเจ้าถือเป็นหลักใหญ่สำคัญของชีวิตมนุษย์ คำสั่งโดยตรงจากพระเจ้าคือ ให้ศรัทธาต่อพระองค์และอย่าได้สร้างความเสียหายบนผืนแผ่นดิน อย่าได้ทำลายละเมิดสิทธิของชีวิตมนุษย์ด้วยกัน และอย่าได้ละเมิดหรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
อัลกุรอานถึงกับบัญญัติไว้ว่า "การบ่อนทำลายได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องด้วยน้ำมือของมนุษย์ที่ได้กระทำไว้ เพื่อให้พระองค์จะให้พวกเขาได้ลิ้มรสบางส่วนที่พวกเขาได้ทำไว้ เพื่อหวังว่าพวกเขาจะได้กลับตัวกลับใจ" (อัรรูม/41)
เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และต้องการสื่อให้มนุษย์รับรู้ถึงความสำคัญในเรื่องนี้ พระเจ้าจึงวางกฎระเบียบแก่ชีวิตของมุสลิมให้มีความศรัทธาและปฎิบัติตามคำสั่งใช้คำสั่งห้ามที่มาจากพระองค์ และทรงประกาศชัดเจนในฐานะพระเจ้าต่อมนุษย์ว่า พระองค์ไม่รักผู้ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังกุรอานบัญญัติว่า "และพวกเขาได้ทำความเสียหายบนผืนแผ่นดิน(มนุษย์/ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)ที่กว้างขวางขึ้น และอัลลอฮไม่รักกับผู้ทำความเสียหาย/ผู้ทำลาย" (อัล-มาอิดะห์/64)
หลักความเชื่อในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหลักสำคัญที่เป็นคำสั่งโดยตรงจากพระเจ้า เป็นเรื่องที่ผูกติดกับความเชื่อ/ศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า จึงเป็นจิตสำนึกที่ถูกตีกรอบโดยแนวคิดทางศาสนาที่มุสลิมไม่สามารถแยกออกจากชีวิตแห่งความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าได้ และสำหรับแนวคิดของมุสลิมแล้ว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการหลุดพ้นจากการเป็นมุสลิมด้วยการขัดขืนคำสั่ง/ปฎิเสธความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า
และจะเห็นได้ว่า หลักปฎิบัติหรือพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ยังต้องเกี่ยวโยงและต้องพึ่งพาธรรมชาติที่สะอาดบริสุทธิ์และสิ่งแวดล้อมที่ดีงามสมดุลย์ เช่น ก่อนจะทำการละหมาด มุสลิมจะต้องอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำที่สะอาด มิเช่นนั้นการละหมาดก็ถือว่าใช้ไม่ได้/เป็นโมฆะ
การอาบน้ำด้วยน้ำที่สะอาด เป็นบทบัญญัติทางศาสนาที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาหลายเรื่อง นอกจากนั้นในหลักศาสนายังห้ามไม่ให้ทิ้งสิ่งสกปรก(นายิส)ลงในน้ำที่ไม่ไหล ในที่ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป้าหมายสำคัญทางศาสนานั้น ก็เพื่อต้องการรักษาอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดความเสียหาย เพราะจะมีผลเสียต่อพิธีกรรมทางศาสนาในที่สุด
ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่แยกไม่ได้ระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคม แยกไม่ได้ระหว่างชีวิตมนุษย์/สัตว์และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แยกไม่ได้ระหว่างโลกนี้และโลกหน้า
ความเชื่อดังกล่าวของมุสลิมนี้ เป็นเรื่องสากลของมุสลิมทั่วโลกที่เชื่อ/ศรัทธา เป็นหลักคิดที่แข็ง/ชัดเจนและจริงจังต่อความเชื่อที่มีต่อพระเจ้าที่ผูกพันกับการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม .................
หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์เพื่อเสนอเจตนารมย์เนื่องในวันอนุรักษ์ แม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ (18กันยายน 2557)