Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   KOJOWI : ผู้นำอินโดนีเซีย คนใหม่

ผู้นำอินโดนีเซียคนใหม่: บนความท้าทาย สู่ผู้นำกลุ่มประชาคมอาเซียน

โดย นิรากิ๊บ ฮัสซัน

+++++++++++++++++++++

            การเลือกตั้งประธานาธิบดี และ รองประธานาธิบดี โดยตรงของอินโดเนเซีย เป็นก้าวย่างสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศมุสลิมใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ว่าที่ ผู้นำอินโดเนเซีย คนใหม่ จะต้องฝ่าฟันต่อสู้กับปัญหา ไม่ว่าปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความยากจนที่มีช่องว่างที่แตกต่างเป็นอันมากระหว่างคนรวยกับคนจน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม และปัญหานานัปการ


            เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2014 ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชน อยู่ในวาระ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย

            การเลือกตั้งของประเทศอินโดนีเซีย กำหนดให้มีผู้สมัครทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีด้วยกัน และการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนครั้งนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 3 นับจากการเลือกตั้งโดยประชาชนครั้งแรกในปี 2004

            การเลือกตั้งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย กฎหมายการเลือกตั้งปี 2008 กำหนดว่า พรรคการเมืองที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎร (Dewan Perwakilan Rakyat )มากกว่า 20 ที่นั่ง หรือมีคะแนนเสียง Popular Vote 25 เปอร์เซ็นต์ สามารถเสนอชื่อผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

            กฎหมายเลือกตั้งยังกำหนดว่า ผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ต้องได้คะแนนมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และได้คะแนนอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์จากทุกจังหวัด รวมทั้งไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนจังหวัดทั้งหมดที่มี 34 จังหวัด ในกรณีไม่มีผู้สมัครประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี สามารถทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด ก็จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีรอบสอง โดยนำผู้สมัครที่ได้อันดับหนึ่งและอันดับสองมาแข่งกันอีกครั้ง 

 

เปิดปูมการเมืองอินโดเนเซีย "ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร"

           หากเราย้อนไปในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ปี 2004 ปรากฏว่า มีผู้สมัคร 5 คน จนต้องมีการเลือกตั้งรอบสองระหว่างหมายเลข 2 นางเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี ผู้นำพรรค PDI P กับนายฮาชิม มาซูดี อดีตผู้นำองค์กรนะห์ดาตุลอุลามา องค์กรศาสนาของมุสลิมประเทศอินโดนีเซีย ที่ใหญ่ที่สุด กับหมายเลข 4 นายสุสิโลบัมบัง ยูโธโยโน ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ (PartaiDemokrat) กับ นายมูฮัมหมัด ยูซุฟกัลลา ในขณะนั้นเป็นผู้นำพรรคโกลการ์ (PartaiGolkar)

         ผลปรากฏว่า ในการเลือกตั้งรอบสอง นายสุสิโล บัมบัง ยูโธโยโน กับ นายมูฮัมหมัด ยูซุฟ กัลลา ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

        ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีในปี 2009 มีผู้สมัครรับเลือกตั้งอยู่ 3 คน คือ หมายเลข 1 นางเมกาวาตี ซูการ์โนปุตรี กับ นายปราโบโว สุเบียนโต  หมายเลข 2 นายสุสิโล บัมบัง ยูโธโยโน ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ (PartaiDemokrat) กับ ดร.บูดีโยโน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของอินโดนีเซีย และหมายเลข 3 นายมูฮัมหมัด ยูซุฟ กัลลา กับ นายพลวีรันโต อดีตผู้บัญชาการทหารอินโดนีเซีย และผู้นำพรรค Hanura (PartaiHatiNurani Rakyat) 

         ซึ่งปรากฏว่า ในการเลือกตั้งในปี 2009  ผู้ชนะการเลือกตั้ง คือ นายสุสิโล บัมบัง ยูโธโยโน กับ ดร. บูดี โยโน

         ล่าสุด การเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ในปี 2014 ในครั้งนี้ มีผู้สมัครเพียง 2 คนเท่านั้น คือ หมายเลข 1.ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี คือ นายปราโบโว สุเบียนโต ส่วนผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดี คือ นายมูฮัมหมัดฮัตตา ราชาซา และหมายเลข 2 . ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดี คือ นายโจโก วิโดโด ส่วนผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดี คือ นายมูฮัมหมัดยูซุป กัลลา

 

ปริศนาคำถามประธานาธิบดีคนที่ 7 หรือ คนที่ 9 ของอินโดนีเซีย

            ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีในปี 2014  จะทำให้ประเทศอินโดนีเซีย มีประธานาธิบดีคนใหม่ นั่นคือ ถ้าถือเป็นทางการ ก็จะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 นับตั้งแต่ ประธานาธิบดี ซูการ์โน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนแรก

แต่ถ้าถือตามหลักประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ก็จะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 9 ด้วยในยุคประธานาธิบดีซูการ์โน ได้เกิดเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ ที่ทำให้เกิดตำแหน่งประธานาธิบดีอินดีนีเซีย ที่โลกลืม

          เหตุการณ์แรก เมื่อประธานาธิบดีซูการ์โน ถูกฮอลันดา จับกุมขังเป็นเวลาเกือบ 7 เดือน ประธานาธิบดีซูการ์โน ได้สั่งให้ นายซัฟรุดดิน ปราวีราเนอฆารา จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล ที่เรียกว่า Pemerintahan Darurat Republik Indonesia (PDRI) ขึ้นต่อสูในป่า ของเกาะสุมาตรา 

         เหตุการณ์ต่อมา ครั้งแรกตอนที่ประธานาธิบดีซูการ์โน เป็นประธานาธิบดีนั้น ดินแดนอินโดนีเซีย ไม่ได้มีลักษณะเฉกเช่นปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยสาธารณรัฐต่างๆจำนวน 7 สาธารณรัฐ และหนึ่งในนั้นคือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย รวมทั้งดินแดนอิสระอีก 9 ดินแดน ดินแดนทั้งหมดได้รวมกันจัดตั้งเป็นประเทศใหม่เรียกว่า สหพันธ์สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

          โดยสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดย มี ประธานาธิบดีซูการ์โน รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของสหพันธ์สาธารณรัฐอินโดเนเซีย ส่วน อัสอาตดาโต๊ะมูดอ รับตำแหน่งเป็น ประธานาธิบดี ของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

         ดังนั้นผู้ที่ได้รับเลือกในการเลือกตั้งปี 2014 นี้จะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 หรือ คนที่ 9 ของประเทศอินโดเนเซีย ตามแล้วทัศนะของแต่ละคน

 

เปิดขุมข่ายผู้สมัครประธานาธิบดี-รองประธานาธิบดี ในปี 2014 

            ประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วยความหลากหลายทางกลุ่มชนเผ่า ดังนั้นผู้สมัครประธานาธิบดีโดยปกติแล้ว จะเป็นผู้สมัครที่มาจากชนเผ่าชวา ส่วน ผู้สมัครรองประธานาธิบดีนั้น จะมาจากชนเผ่าอื่นๆ

            สำหรับผู้สมัครหมายเลข 1 นายปราโบโว สุเบียนโต ก็เป็นชนเผ่าชวา เป็นอดีตผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษที่ชื่อว่า Kopassus (Komando Pasukan Khusus) หรือ Special Forces Command มีชื่อเสียงด้านละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินโดเนเซีย

           " เขาเป็นอดีตบุตรเขยของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต เขามาจากตระกูลชนชั้นเชื้อสายเจ้าชวา บิดาของคือ ศาสตราจาย์ ดร. สุมิโตรโยโจฮาดีกุสุมา อดีตรัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรม ในยุคอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน ส่วนปู่ของของเขาคือ ระเด่นมัสมาร์โกโน โยโจฮาดีกุสุมา เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารที่ชื่อว่า ธนาคาร BNI (Bank Nasional Indonesia)"

           ส่วน นายมูฮัมหมัดฮัตตา ราชาซ มาจากชนเผ่ามลายู จากเกาะสุมาตรา เขาเป็นอดีตผู้นำองค์กรศาสนาที่ชื่อว่า องค์กรมูฮัมหมัดดียะห์ องค์กรของชาวมุสลิมที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอินโดนีเซีย เขายังเป็นอดีตรัฐมนตรี ในรัฐบาลของประธานาธิบดีสุสิโลบัมบัง ยูโธโยโน  อีกด้วย

            ปัจจุบัน นายมูฮัมหมัดฮัตตา เป็นผู้นำพรรค PAN (Partai Amanah Rakyat ) ส่วนพรรคการเมืองที่สนับสนุน นายปราโบโว สุเบียนโต กับ นายมูฮัมหมัดฮัตตา ราชาซา ประกอบด้วย 7 พรรคการเมือง ที่รวมตัวเรียกว่า Kaolisi Merah Putih หรือ พันธมิตรแดง-ขาว ซึ่งมีพรรค Gerindra  มีจำนวนสมาชิกรัฐสภา73 ที่นั่ง ส่วน พรรค Golkar 91 ที่นั่ง ขณะที่พรรค Demokrat  มี 61 ที่นั่ง รวมทั้งพรรคแนวอิสลามอีก เช่น พรรค PAN 49 ที่นั่ง พรรค PKS 40 ที่นั่ง พรรค PPP จำนวน 39 ที่นั่ง และพรรค PBB ซึ่งไม่มีที่นั่งในสภา แต่ละพรรคเมื่อรวมกันจะมีที่นั่งในสภา 353 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 560 ที่นั่ง

            ผู้สมัครหมายเลข 2 ผู้สมัครประธานาธิบดีคือ นายโจโก วิโดโด อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโซโล และปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงจาการ์ตา จากพรรค PDI - P โดยมีสถานะเป็น No-active Governor ซึ่งก็มาจากชนเผ่าชวาเช่นกัน ส่วนผู้สมัครรองประธานาธิบดีคือ นายมูฮัมหมัดยูซุฟกัลลา เป็นชนเผ่าบูกิส

            สำหรับผู้สมัครหมายเลข 2 นี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรค PDI P มี 109 ที่นั่ง พรรค PKB มี 47 ที่นั่ง พรรค NasDem มี 35 ที่นั่ง พรรค Hanuraมี 16 ที่นั่ง พรรคกลุ่มนี้มีที่นั่งในสภารวมกัน 207 ที่นั่ง จากทั้งหมด 560 ที่นั่ง

            สำหรับอินโดนีเซียนั้น เป็นเรื่องแปลกที่แตกต่างจากบ้านเรา ตอนที่ นายโจโก วิโดโด สมัครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงจาการ์ตานั้น ผู้เขียนเคยถาม นายอาเลกซ์นอร์ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุมาตราใต้ ที่ไปสมัครแข่งกับ นายโจโก วิโดโด ว่า ถ้าแพ้การเลือกตั้งจะเป็นอะไรต่อ คำตอบคือ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุมาตราใต้ต่อ เพราะในอินโดนีเซีย ถือว่าเป็นการลาชั่วคราว แล้วยังสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมต่อ

            นายโจโก วิโดโด หรือชื่อย่อว่า นายโจโกวี มีภาพลักษณ์ที่ดี โปร่งใส มีความติดดิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นภาพที่มีกระบวนการสร้างขึ้นมาก็อาจเป็นได้ เพราะว่าระหว่างการดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโซโล ในปี 2005-2012 ยังมีกรณีคอรัปชั่นจำนวนหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับ นายโจโก วิโดโด ที่ยังไม่ได้มีการดำเนินคดี

     
    นอกจากนั้น นายโจโก วิโดโด ยังถูกโจมตีเรื่องความร่วมมือกับชาวอินโดนีเซีย ที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น ครั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโซโล เขามีรองนายกเทศมนตรีเป็นชาวคริสต์ที่ชื่อว่า นายฟรานซิสกุส ซาเวรียุส ฮาดี รูดีอัตโม เมื่อเขาชนะได้รับเลือกเป็นผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา นายฟรานซิสกุส ซาเวรียุส ฮาดี รูดีอัตโม จึงเป็นนายกเทศมนตรีเมืองโซโลแทน

           ต่อมาเมื่อ นายโจโก วิโดโ เป็นผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา เขาก็มีรองผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตาชื่อ นายบาซูกี จาฮายา ปูร์นาม หรือชื่อเล่นว่า อาฮ๊อก เป็นชาวจีนฮักกา นับถือศาสนาคริสต์ 

           ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก เมื่อเราศึกษาผู้อยู่เบื้องหลัง นายโจโก วิโดโด ส่วนหนึ่งเป็นมหาเศรษฐีชาวจีนอินโดนีเซีย อาทิเช่น นายเจมส์ เรียดี รองประธานเครือ Lippo นายซอฟเฟียน นาวันดี ประธานเครือข่าย Gamela Group รวมทั้งองค์กร Centre for Strategic and International Studies (Indonesia) ที่เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ในการวางแผนการสร้างภาพลักษณ์

การหาเสียงของนายโจโก วิโดโดในครั้งนี้กล่าวกันว่า มี นายสแตนลีย์ เบ็นฮาร์ด กรีนเบิร์ก นักวางแผนทางการเมืองชาวสหรัฐ และเคยเป็นผู้วางแผนให้ นายบิล คลินตัน อดีตผู้นำสหรัฐ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยผ่าน นายเจมส์ เรียดี

 

รอผลการเลือกตั้งว่าที่ผู้นำคนใหม่

             ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีเกาะราว 1 หมื่น 7 พันเกาะ และต้องแบ่งเวลาออกเป็น 3 โซนเวลาด้วยกัน แต่ละโซนเวลา จะมีเวลาที่แตกต่างกัน 1-2 ชั่วโมง

            ในการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถลงคะแนนได้ระหว่าง 08.00 น. ถึง 13.00 น. ตามเวลาของแต่โซนเวลา โดยมีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 486,866 หน่วย มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 186,722,030 คน ผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ส่วนผู้มีสิทธิลงคะแนนต้องมีอายุครบ 17 ปีในวันลงคะแนน

            แม้ว่าการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2014 ที่ผ่านมา แต่การประกาศผลการเลือกตั้ง จะมีขึ้นในวันที่ 22 กรกฎาคม 2014

           หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง สำนักโพลในอินโดนีเซีย ซึ่งมีอยู่มากมายหลายองค์กร ได้ทำการสำรวจแบบ Quick Count ประกาศว่า ผลออกมาแตกต่างกันตามแนวคิด การสนับสนุนของแต่ละฝ่าย  มีทั้งที่ให้ผู้สมัครหมายเลข 1 ชนะ และผู้สมัครหมายเลข 2 ชนะ

            ซึ่งกล่าวว่า การสุ่มตัวอย่างแบบ Quick Count ในครั้งนี้ อาจเกิดความผิดพลาด เพราะมีการสุ่มเลือกตัวอย่างเพียง 2-3 พันหน่วยเลือกตั้ง จากที่มีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดถึง 486,866 หน่วย ทางรัฐบาลอินโดนีเซีย จึงให้ผู้สมัครและผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย หยุดระงับการประกาศชัยชนะ ให้รอผลการประกาศเป็นทางการในวันที่ 22 กรกฎาคม 2014 ( ในขณะที่เขียนนี้ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งว่าใครเป็นผู้ชนะ )

           แม้ว่าใครจะมาเป็นผู้นำรัฐบาลอินโดนีเซียคนใหม่ แต่ต้องต่อสู้กับปัญหานานัปการ ไม่ว่าปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความยากจนของชาวอินโดนีเซีย ช่องว่างที่แตกต่างเป็นอันมากระหว่างคนรวยกับคนจน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

           อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ หากอินโดนีเซีย ได้ผู้นำประเทศที่เข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา ด้วยประเทศซึ่งมีศักยภาพที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เชื่อว่า ประเทศอินโดนีเซีย จะสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำของกลุ่มประชาคมอาเซียนได้.

ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับสิงหาคม 2557