“อิหม่ามนักเขียน นักวิชาการศาสนารุ่นใหม่”
โดย เอกราช มูเก็ม
สัมภาษณ์พิเศษ : ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำศาสนาเท่านั้น...แต่ อิหม่ามปราโมทย์ มีสุวรรณ อิหม่ามมัสยิดบัดรู้ลมุมีนีน (ศาลาลอย) ซึ่งตั้งอยู่ย่านพระโขนง ยังเป็นนักวิชาการศาสนา ที่มีแนวทางสายกลางที่น่าจับตามองคนหนึ่งทีเดียว และยังมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ด้านศาสนา (ด้านชะรีอะฮ์) อีกด้วย
อิหม่ามปราโมทย์ ย้อนอดีตให้ฟังว่า เขาเป็นคนบ้านดอนโดยกำเนิด ในวัยเด็กเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสุเหร่าบ้านดอน ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยา มูลนิธิ (อ.ศ.อ.) จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จึงกลับมาเรียนด้านศาสนาอย่างจริงจังที่โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์ (บ้านดอน) พร้อมๆกับศึกษาในระดับ ปวช. ที่วิทยาเขตพณิชยการพระนคร ย่านนางเลิ้ง ควบคู่กันไปด้วย
หลังจากศึกษาถึงชั้นสูงสุดของโรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนียะห์แล้ว จึงได้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ในคณะเผยแผ่ศาสนาอิสลาม หรือนิเทศศาสตร์อิสลาม โดยใช้ชีวิตศึกษาอยู่ที่ประเทศอียิปต์ประมาณ 5 ปี
“หลังจากจบการศึกษาจากประเทศอียิปต์ ผมก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยคุณพ่อ ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นอิหม่ามที่มัสยิดแห่งนี้ (มัสยิดบัดรู้ลมุมีนีน) จนกระทั่งท่านถึงวัยชราจึงได้เกษียณตัวเอง แล้วผมก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอิหม่ามแทนท่านในปี พ.ศ.2545 จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาร่วม 12 ปีแล้ว ในการทำหน้าที่อิหม่าม โดยมีสัปปุรุษที่สังกัดมัสยิดแห่งนี้ ประมาณ 700 คน”
ในฐานะที่เป็นอิหม่าม ซึ่งมีหน้าที่ปกครองดูแลปวงสัปปุรุษและคนในชุมชนให้อยู่ในกรอบของศาสนา จึงสำนึกอยู่เสมอว่านั่นคืออะมานะห์ (ความรับผิดชอบ) อย่างหนึ่งที่จะต้องทำให้ดีที่สุด ในการที่จะทำให้ปวงสัปปุรุษและคนในชุมชนให้มีการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม
อิหม่ามปราโมทย์ บอกว่า สิ่งที่ปรารถนาและคาดหวังมากที่สุดประการหนึ่งก็คือการทำให้คนในการปกครองได้ละหมาดครบ 5 เวลา เพราะละหมาดคือพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตแบบมุสลิม จึงได้จัดให้มีการสอนศาสนาประจำสัปดาห์ในวันเสาร์ และการอบรมศาสนธรรมประจำเดือนๆละครั้ง ในส่วนของการศึกษาอัลกุรอาน ฟัรดุอัยน์ และจริยธรรม ทางมัสยิดจะทำการสอนในช่วงเวลาเย็นของทุกวัน และถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการปูพื้นฐานชีวิตของเด็กมุสลิม ที่จะต้องอ่านอัลกุรอานให้ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเรื่องของการปฏิบัติศาสนกิจที่ถูกต้องซึ่งอยู่ในภาควิชาฟัรดุอัยน์
“การอ่านอัลกุรอาน นั้น เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในชีวิตของมุสลิมทุกคน ที่จะต้องอ่านให้ถูกต้องตามหลักการอ่านหรือหลักตัจญวีด เพราะจะต้องนำไปใช้ในการละหมาดและชีวิตประจำวัน ส่วนเรื่องความไพเราะนั้น ทางมัสยิดจะจัดให้มีนักกอรีมาสอนเพื่อเสริมทักษะการอ่านให้มีความไพเราะยิ่งขึ้นด้วย”
ไม่เพียงการทำหน้าที่อิหม่ามเท่านั้น แต่ชีวิตประจำวันของอิหม่ามปราโมทย์ ยังเป็นครูสอนศาสนาที่โรงเรียนมิฟตาฮุ้ลอุลูมิดดีนยะห์ (บ้านดอน) และเป็นวิทยากรบรรยายศาสนธรรมตามองค์กรศาสนา สถาบันต่างๆ และออกอากาศทางสถานีวิทยุอีกด้วย จึงเริ่มมีความรู้สึกว่าการสอนหรือการบรรยายนั้นมักจะได้เพียงแค่การรับฟังเท่านั้น จึงมีความคิดที่จะเขียนตำราทางวิชาการขึ้น
โดยตำราเล่มแรกที่อิหม่ามปราโมทย์ มีสุวรรณ เขียน ก็คือหนังสือ “กุญแจภาษาอาหรับ” เมื่อปี พ.ศ.2550 ปัจจุบันพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 แล้ว หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนเป็นกุญแจไขไปสู่ความเข้าใจภาษาอาหรับ เพราะมีบางส่วนของหลักไวยากรณ์อาหรับและคำศัพท์ภาษาอาหรับที่ควรรู้มากกว่า 4,500คำ
นอกจากนี้ยังมีหนังสือชื่อ “ดุอา...มันสมองของอิบาดะห์” เป็นหนังสือที่รวบรวมบทดุอาที่สมบูรณ์เล่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคำแปลในทุกบทดุอาด้วย และอีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจก็คือหนังสือ “พจนานุกรม 3 ภาษา” (อาหรับ – อังกฤษ – ไทย) ที่รวบรวมคำศัพท์มากกว่า 3 หมื่นคำ พร้อมทั้งมีบทสนทนา 3 ภาษา อีกด้วย จึงเหมาะสำหรับนักศึกษา ล่าม นักแปล และผู้สนใจภาษาทั่วไป
อิหม่ามปราโมทย์ ได้กล่าวถึงการได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ด้านชะรีอะฮ์) ว่า ในฐานะที่ได้รับตำแหน่งนี้ ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ (อะมานะห์) ในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกรรมของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เท่าที่มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยถือเป็นสถาบันทางการเงินแห่งเดียวที่ไม่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย จึงเป็นสถาบันการเงินที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุดสำหรับพี่น้องมุสลิมและพี่น้องต่างศาสนิก
“ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งในคณะที่ปรึกษา ที่ให้คำปรึกษากับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยด้านศาสนา (ชะรีอะฮ์) ก็จะพยายามดูแลการทำธุรกรรมทุกประเภทให้อยู่ในกรอบของชะรีอะฮ์ ซึ่งในภาพรวมสำหรับการทำธุรกรรมของธนาคารฯนั้นจะเห็นได้ว่าใช้หลักการลงทุน การร่วมทุน และการซื้อขาย ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม มีข้อตกลงที่ชัดเจน สำหรับสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับก็คือผลกำไรที่เกิดจากการดำเนินกิจการ หรือธุรกิจที่ไม่ขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลาม”
อิหม่ามปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่เป็นนักเผยแผ่ศาสนา สิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือต้องมีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ หมายถึงต้องกล้าที่จะพูด กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น และใช้วิธีการใดก็ได้ในการเผยแผ่ เช่นเป็นครู เพราะจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายทีเดียว หากวิชาความรู้ขาดการนำมาถ่ายทอดหรือเผยแผ่
อย่างไรก็ตาม การเป็นนักวิชาการเผยแผ่ศาสนานั้น เนื่องจากวิชาการต่างๆมีมากมาย จึงต้องมีวิธีการถ่ายทอดให้เหมาะสมกับวิชาการนั้นๆ บางวิชาการที่มีความละเอียดอ่อน เช่นวิชาการเกี่ยวกับนิติศาสตร์ จะต้องอธิบายทรรศนะต่างๆให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องรายละเอียด และจะต้องระมัดระวังการสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีกับผู้ที่เห็นต่าง ทั้งนี้การเป็นนักวิชาการเผยแผ่ศาสนาที่ดีจะต้องไม่เอาทรรศนะส่วนตัวหรือความเห็นส่วนตัวมาเป็นหลักการในการตัดสิน
“จรรยาบรรณของนักวิชาการหรือนักเผยแผ่ศาสนานั้น จะต้องไม่สร้างความแตกแยก คือแตกต่างได้ แต่ไม่นำไปสู่ความแตกแยก ควรจะชี้แจงทรรศนะหรือแนวทางต่างๆของนักปราชญ์ทั้งหลายที่ย่อมมีความเห็นต่างกันได้ หรือที่เราเรียกว่า “มัซฮับ” นั่นเอง ซึ่งล้วนมีหลักฐานที่เป็นที่ยอมรับมายืนยันทรรศนะของตนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นมาตรฐานของนักวิชาการหรือนักเผยแผ่ศาสนาที่ดีนั้น จะต้องสอนวิชาการให้ได้ประโยชน์สูงสุด และที่สำคัญคือต้องไม่นำไปสู่ความแตกแยกในสังคม”
คำกล่าวของท่านศาสดามุฮำมัด (ศ.ล.) ที่ได้กล่าวไว้ในฮะดีษหนึ่งความว่า “ความคิดเห็นที่แตกต่างกันของประชากรของฉัน เป็นความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า” นั้น เป็นความจริงที่บ่งบอกเรื่องนี้ได้อย่างดีทีเดียว
“ การมีตำแหน่งเป็นการทดสอบอย่างหนึ่งจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้มีตำแหน่งจะต้องคิดอยู่เสมอว่า เขาจะต้องถูกสอบสวนจากพระผู้เป็นเจ้าในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และได้รับมอบหมาย จะต้องไม่เคลิบเคลิ้มกับตำแหน่ง จะต้องไม่รู้สึกว่ามันเป็นเกียรติยศ ศักดิ์ศรี หรือความน่าภาคภูมิใจแต่อย่างใด เพราะความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้เขาหลงโลกดุนยา จนลืมพระผู้เป็นเจ้าในที่สุด ” อิหม่ามปราโมทย์ กล่าว.
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับพฤษภาคม2557