"Chef Halal" ป้อนพ่อครัวไทยสู่พ่อครัวโลก
โดย ซาลามัต สหมิตร
+++++++++++++
กรรมการอิสลามเชียงใหม่ฯ จับมือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดเปิดอบรม พ่อครัวฮาลาล " Chef Halal " ยกระดับฝีมือพ่อครัวไทย รองรับการขยายตัวตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายกวินธร วงศ์ลือเกียรติ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ (ส.กอจ.เชียงใหม่) เป็นหน่วยงานในองค์กรศาสนาอิสลาม ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรในศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการในศาสนาอิสลาม ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งครอบคลุมการรับรองฮาลาล ด้วย
ทั้งนี้ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ส กอจ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการ และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้า และบริการอาหารฮาลาลจังหวัดเชียงใหม่ / ผลิตสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจฮาลาลในกลุ่มจังหวัดล้านนา / การสัมมนาการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการฮาลาลทุกระดับ/การปรับภูมิทัศน์ถนนบ้านฮ่อ ให้มีเอกลักษณ์และเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวถนนฮาลาล (Halal Street) และ อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาล
สำหรับโครงการอบรมสร้างพ่อครัวฮาลาล เป็นหนึ่งในนโยบายกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร " พ่อครัวฮาลาล Chef halal " ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10-15 มีนาคม 57 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอ แม่ริม จังหวัด เชียงใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก
" ประเทศไทยมีศักยภาพ และความพร้อมในการเป็นครัวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอาหารฮาลาล ทำรายได้ให้แก่ประเทศไทย ปีละหลายล้านบาท จึงเห็นความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของผู้ที่อยู่ในธุรกิจอาหารฮาลาล เพื่อแสดงถึงศักยภาพ และความพร้อมของประเทศไทย ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน " นายกวินธร กล่าว
ด้าน นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับตลาดกลุ่มประเทศมุสลิม โดยเฉพาะตลาดกลุ่มฮาลาล ซึ่งโครงการ เปิดอบรมพ่อครัวฮาลาล เป็นก้าวแรกของความร่วมมือ ของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย
" ปัจจุบัน ประชากรมุสลิมทั่วโลก1.6 พันล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการบริโภคอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด ประกอบกับอาหารอิสลาม หรือ อาหารฮาลาล ก็เป็นอาหารสากล ที่คนทุกเชื้อชาติสามารถรับประทานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องหมายฮาลาล จะการันตีว่า อาหารนั้นมีคุณภาพปลอดภัย และได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับมากขึ้นของคนทั่วโลก "
นายนคร กล่าวอีกว่า สำหรับ นโยบายครัวฮาลาลไทยสู่ครัวโลก เรากำลังเริ่มดำเนินการ ด้วยการเชิญผู้อำนวยของสถาบัน ทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ ที่มีประชากรมุสลิม จำนวนมากอาศัยอยู่ มาหารือ เพื่อจัดระบบว่า จะจัดการทดสอบอย่างไร เมื่อได้ขั้นตอน เราจะประกาศให้ผู้สนใจมาอบรมต่อไป
" โครงการนี้จะเป็นการสร้างเชฟฮาลาล เข้าสู่ตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยทุกคนที่ผ่านการอบกรม จะได้รับใบประกาศนียบัตร เพื่อการันตี ว่า ผ่านการอบรม ซึ่งคนที่สนใจเข้าอบรม ไม่จำเป็นต้องเป็นมุสลิม มีความต้องการพัฒนาฝีมือในเรื่องการทำอาหาร หรือ การเป็นเชฟมืออาชีพ อีกทั้งโครงการนี้จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดพ่อครัวฮาลาล ที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย " นายนคร กล่าว.
"
ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2557