สร้างคน-สร้างองค์กร บนภารกิจ" จุฬาราชมนตรี " อาศีส พิทักษ์คุมพล
โดย เอกราช มูเก็ม
Interview : ฉบับนี้ กองบรรณาธิการ นิตยสาร ดิ อะลามี่ ได้รับเกียรติจากผู้นำสูงสุดในสังคมมุสลิม " ท่านอาศีส พิทักษ์คุมพล ” จุฬาราชมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษ หลังจากอยู่ในตำแหน่ง จุฬาราชมนตรี ร่วม 3 ปี
ท่านจุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล เริ่มสนทนากับเรา ถึงการใช้ชีวิตนับตั้งแต่ได้รับการคัดเลือกและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ว่า แม้ว่าจะมีตำแหน่งที่สูงขึ้น
แต่ชีวิตทุกวันนี้แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงแปลงอะไรมากนัก เพราะส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เหมือนที่ผ่านมา เพียงแต่อาจจะไม่ได้ออกสังคมบ่อยเหมือนที่ผ่านมา
"การใช้ชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ที่กรุงเทพฯมากกว่า นานๆ ครั้งจะกลับไปสงขลาบ้านเกิด หลังจากได้รับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี จะใช้เวลาส่วนหนึ่งแบ่งมาสอนหนังสือสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันนาน ๆ ครั้งจะได้สอน แล้วแต่เวลาจะอำนวย เนื่องจากติดภารกิจบ้างและอยู่ในช่วงระยะพักฟื้นจากอาการป่วยด้วย”
ส่วนการทำงานในฐานะประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วภูมิภาค ที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งมีภารกิจและพันธกิจทำงานที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว
ทั้งนี้ภารกิจร่วม 3 ปีที่มานั่งบริหารในตำแหน่งนี้ ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เพียงแต่จัดการเรื่องการบริหารภายในให้ทุกส่วนทำงานให้ดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เน้นการบริหารที่เป็นระบบมากขึ้น ส่วนการบริหารภายนอกอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
ที่สำคัญตอนนี้ผมได้ดำริการทำงานเกี่ยวกับเรื่องแนวความคิดสายกลาง (วาซาตียะฮฺ) โดยร่วมกับทางประเทศคูเวต ซึ่งได้ส่งคณะทำงานฯ ไปดูงาน และกลับมาขยายความคิดสายกลางให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยให้มุสลิมในสังคมไทยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสันติสุขท่ามกลางความหลากหลาย ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ก็จะมีการขับเคลื่อนงานอย่างจริงจังมากขึ้น
นอกจากนี้ก็จะมีการจัดตั้งสำนักงานอะมีรุ้ลฮัจย์ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เพราะที่ผ่านมาตำแหน่งอะมีรุ้ลฮัจย์เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารงานที่ชัดเจน ตั้งแต่ผมเริ่มทำงานตรงนี้ก็จะพยายามประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กิจการฮัจย์เป็นความรับผิดชอบของ อะมีรุ้ลฮัจย์อย่างเต็มตัว มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งนี้ เราต้องทำงานประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กรมการศาสนา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และหน่วยงานอื่น ๆ เนื่องจากกิจการฮัจย์ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง
ท่านจุฬาราชมนตรี กล่าวถึงบทบาทการทำงานในตำแหน่งประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยโดยตำแหน่ง ว่า จากนี้ไปคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ต้องลงไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อยกระดับการทำงานของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดให้มีศักยภาพและมีความก้าวหน้า เพื่อตอบสนองความต้องการพี่น้องมุสลิมให้มากขึ้น สำหรับในด้านบุคลากรก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย
ส่วนการทำงานของแต่ละฝ่าย ซึ่งคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีการแบ่งการทำงานออกเป็นหลายฝ่าย ปัจจุบันก็มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่แล้ว เพียงแต่ประธานแต่ละฝ่าย ต้องลงไปกำกับดูแลการทำงานของแต่ละฝ่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ ถือว่าการทำงานของฝ่ายต่างๆเป็นเพียงการเริ่มต้น อาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตาม การบริหารองค์กรและบริหารบุคคลอาจต้องใช้เวลาบ้าง ต้องให้โอกาสกับนักวิชาการคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาทำงานมาช่วยงานร่วมกับคนที่มีประสบการณ์”
ท่านอาศิส กล่าวถึง งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ในปีนี้ ( 20–22 มีนาคม 2557 ) ว่า อยากให้งานเมาลิดกลางฯ เป็นเวทีในการสืบสานเจตนารมณ์แห่งการเผยแพร่จริยวัตรอันทรงคุณค่าของท่านศาสดา และให้คนที่มาร่วมงานฯได้นำไปเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดในการจัดงานเมาลิดกลาง ฯของแต่ละปี
" งานเมาลิดกลางฯ เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสามัคคีให้ทุกภาคส่วน เพราะเป็นการร่วมกันจัดงานฯ ซึ่งจะเป็นการหลอมรวมให้เกิดพลังในสังคมต่อไป "
ส่วนความเห็นที่แตกต่างในเรื่องการจัดงานเมาลิดกลางฯ ท่านจุฬาราชมนตรี ให้ความเห็นว่า อย่ามองงานเมาลิดกลางฯ ในมิติของศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้มองถึงมิติทางสังคมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาและปกติของสังคมที่มีความเห็นต่างในเรื่องปลีกย่อย อย่างไรก็ตาม ความเห็นต่างกันในสังคม หากไม่นำมาสู่ความแตกแยก ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ส่วนบทบาทของจุฬาราชมนตรี ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ในเรื่องของอำนาจจุฬาราชมนตรี นั้นให้อำนาจการบริหารในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามในหลักการอิสลามนั้น การเผยแพร่ศาสนา เป็นหน้าที่ผู้รู้ทุกระดับตั้งแต่ต่ำสุดถึงระดับสูงสุด ที่จำเป็นต้องทำหน้าที่อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามอำนาจบางอย่างอาจมีการปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทการเป็นอะมีรุ้ลฮัจย์ที่ผ่านมาได้เขียนอำนาจไว้กว้างๆ ไม่ได้ระบุชัดเจน ทั้งนี้ งานอะมีรุ้ลฮัจย์เป็นงานเฉพาะกิจ ดังนั้นจึงอาจยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ของแต่ละปีได้
ท่านจุฬาราชมนตรีได้กล่าวถึงบทบาทของฮาลาลไทยว่าในภารกิจของการรับรองฮาลาลให้กับผู้ประกอบการของไทยนั้น ที่ผ่านมาก็มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของประเทศผู้บริโภค แต่ก็ยังมีส่วนที่จะต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในแง่ของการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคนี้ อาทิเช่น มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของมาเลเซียและอินโดนีเซีย มีภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศมุสลิม ซึ่งอาจได้รับความเชื่อถือมากกว่า ในขณะที่ประเทศไทย ภาพลักษณ์ไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่หากดูมาตรฐานของการตรวจรับรองฮาลาลของไทยแล้ว เรามั่นใจว่ามีความเข้มข้นและมีประสิทธิภาพไม่แพ้ประเทศอื่นเลย ซึ่งแม้แต่ในกลุ่มประเทศมุสลิม ไม่มีประเทศไหนที่นำระบบวิทยาศาสตร์มาใช้เหมือนประเทศไทย
"สิ่งสำคัญที่สำนักจุฬาราชมนตรี และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ทำงานร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเรามองไกลไปว่า จะทำอย่างไรให้ ฮาลาลไทย มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น ..."
ทั้งนี้ การก้าวไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาล หรือหน่วยงานราชการ ต้องเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องการประชาสัมพันธ์ฮาลาล ถึงระบบการตรวจสอบว่า เรามีความเข้มงวดอย่างไร เพื่อให้เป็นที่ทราบของอารยประเทศทั้งหลาย อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนไม่ยอมรับในเครื่องหมายฮาลาลของไทย
" ผมมั่นใจว่า ถ้าอารยประเทศมาดูกระบวนการตรวจรับรองฮาลาลของไทย จะยอมรับในความละเอียดและความเข้มข้น เพราะเราเป็นประเทศเดี่ยวที่นำวิทยาศาสตร์มาใช้ ในการตรวจสอบระบบฮาลาล " ตามคอนเซ็ปท์ที่ว่า "ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ"เพราะเราสามารถตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนจากการผลิตได้ ซึ่งยืนยันว่า เราเป็นประเทศเดียวในโลกที่นำวิธีนี้มาใช้ "
ท่านจุฬาราชมนตรี กล่าวถึงการทำงานของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมมุสลิม ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายว่า บุคลากรในคณะกรรมการกลางฯเอง ก็ต้องปรับตัวและพัฒนาศักยภาพ เพื่อสร้างมาตรฐานและผลงานให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล
สุดท้าย ท่านจุฬาราชมนตรี ยังได้กล่าวถึงภารกิจเร่งด่วนว่า จากนี้ไปจะต้องเร่งพัฒนาองค์กรศาสนาให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพ เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับพี่น้องมุสลิมและสังคมให้มากขึ้น
นอกจากนี้ท่านจุฬาราชมนตรี ยังได้ฝากถึงสังคมมุสลิมในประเทศไทยว่า.. “สิ่งสำคัญในทุกวันนี้ เราจะต้องหันมาพัฒนาและสร้างคนให้มีคุณภาพมากขึ้น ส่งเสริม ให้เยาวชนลูกหลานได้เข้าสู่ระบบการศึกษาทั้งด้านศาสนาและสามัญ เติบโตเป็นคนที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญของสังคมและประเทศชาติต่อไป"
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับมีนาคม 2557