ฮาลาลอินเตอร์เชียงใหม่" CHIF2014 ! เวทีต่อยอดการค้าสู่ตลาดโลก
โดย: กองบรรณาธิการ
ตลอดระยะเวลา 4 วัน การจัดงาน “เชียงใหม่ฮาลาลอินเตอร์เนชั่นแนลแฟร์ 2557 Chaing Mai Halal International Fair ( CHIF 2014 )ระหว่างวันที่ 6- 9 กุมภาพันธ์ 2557 ณ ห้องเชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ตจังหวัดเชียงใหม่ คึกคักไปด้วยนักธุรกิจ และผู้ประกอบการฮาลาล ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น
แต่ในงานดังกล่าว จะมีผู้ประกอบการจากกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง และผู้ประกอบการจากประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก
โดยพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก จุฬาราชมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล และ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดงานในครั้งนี้
รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดงานแสดงสินค้าฮาลาลนานาชาติเชียงใหม่ในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล และเพิ่มจำนวนของผู้ประกอบการ SMEs ให้มีมาตรฐานถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กรศาสนา เพื่อสร้างโอกาส และช่องทางการตลาด ให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์และบริการ ฮาลาลในเขตพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงเพื่อสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรศาสนา ที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนแก่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล รวมถึงแสดงศักยภาพด้านการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ของภาคเหนือให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภค
งานแสดงสินค้าฮาลาลนานาชาติที่เชียงใหม่ครั้งนี้ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งหวังที่จะผลักดันให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมฮาลาล และภาคเหนือเป็นอีก 1 ในศูนย์กลางการกระจายผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลในระดับอนุภูมิภาคต่อไป
ภายในงาน มีการออกบูธของทางผู้ประกอบการด้านต่างๆ ผลิตภัณฑ์-บริการฮาลาลภาคเหนือ-กลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมถึงกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงGMS และ BIMSTEC จำนวนกว่า 213 คูหา
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรม-อาหาร-การแต่งกายแบบมุสลิม กิจกรรมจัดอบรมพ่อครัวฮาลาล และกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจ ซึ่งได้มีพิธีลงนามเซ็นสัญญา MOU เป็นที่เรียบร้อยแล้วภายในงาน นับเป็นนิมิตรหมายอันดีเกิดขึ้นภายในงานนี้อีกด้วย
ดร.วินัย กล่าวถึงแนวคิดการจัดงานที่เชียงใหม่ว่า เนื่องจากเชียงใหม่มีศักยภาพความเป็นศูนย์กลางทางภาคเหนือ ประกอบกับชุมชนมุสลิมเชียงใหม่ มีความต่างจากมุสลิมในภาคกลาง หรือ ภาคใต้ ที่เป็นเชื้อสายมลายู ขณะที่คนมุสลิมเชียงใหม่มีเชื้อสายอพยพจากยูนาน จากอินเดีย และปากีสถาน จึงมีความต่างและมีรากฐานการเป็นคนค้าขาย เราจึงเข้ามาส่งเสริมให้เขา ได้ตื่นตัวมากยิ่งขึ้น
" กลุ่มประเทศBIMSTEC หรือกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล ซึ่งมี อินเดีย บังคลาเทศ ขณะที่กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS)นับเป็นฐานโอกาสสำคัญในการตลาด ซึ่งหากรวมกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีประชากรมุสลิมกว่า 400 ล้านคน "
ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง หรือ ในกลุ่มอินโดจีน ก็จะเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบ และแรงงานสำคัญ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นการส่งสัญญาณให้คนในพื้นที่ และหน่วยงานราชการ ได้รับรู้ อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้คนในพื้นที่ตื่นตัว เพื่อให้เขาเห็นศักยภาพของตัวเองมากขึ้น
ดร.วินัย กล่าวอีกว่าในส่วนของการต่อยอดสินค้านั้น ต้องยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ของไทยเรามีคุณภาพไม่แพ้ชาติอื่น แต่เรายังขาดเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ จึงได้ลงนามความร่วมมือกับ อิสลามิคอาร์ต จากมาเลเซีย เพื่อเพิ่มศักยภาพการออกแบบสินค้าให้มากขึ้น
" ที่ผ่านมาคนรู้จักฮาลาล แต่คนจำนวนมากไม่รู้จัก เครื่องหมายฮาลาลจากประเทศไทย ซึ่งโลโก้ของเรา เหมือน " ไดมอนฮาลาลที่ห้อมล้อมพลอย " ดังนั้นการจัดงานจึงเป็นโอกาสในการแสดงศักยภาพสินค้าฮาลาลแล้ว ยังเพิ่มการรู้จักเครื่องหมายฮาลาลของไทย ในเวทีอาเซียน เพื่อให้คนเชื่อมั่น ตราฮาลาลของไทยมากขึ้นตามไปด้วย"
ด้าน นายกวินธร วงศ์ลือเกียรติ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า จะนำไปสู่การต่อยอด ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการ มาพบปะกัน โดยใช้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางฮาลาล
"เรามั่นใจว่า เชียงใหม่มีความพร้อมในเรื่องการผลิต เนื่องจากมีพืชไร่ทางการเกษตรจำนวนมาก และยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาขอรับรองเครื่องหมายฮาลาลกว่า 100 ราย ซึ่งผลิตสินค้าส่งออกไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท/ปี" นายกวินธร กล่าวและว่า
เรายังมองไกล ไปถึงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในเชียงใหม่ เนื่องจาก ปัจจุบันเรารับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีทุนจากญี่ปุ่น ดูไบ ใต้หวัน เริ่มเข้ามาลงทุนในเชียงใหม่ มากขึ้น
" ขณะนี้ภาครัฐเองเริ่มให้ความสนใจเรื่องฮาลาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ ได้บรรจุเรื่องฮาลาลเป็นยุทธศาสตร์ ของจังหวัดด้วย "
กวินธร กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ถือว่าเป็นที่น่าพอใจมาก เนื่องจากมีผู้ประกอบการจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว และจีน เข้าร่วม ซึ่งผลการเปิดเวทีพบปะการค้าของผู้ประกอบการ พบว่ามีผู้ประกอบการมาเลเซีย เริ่มสั่งสินค้าจากเชียงใหม่ เข้าไปขายในมาเลเซีย นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการค้าที่น่าพอใจ และเป็นรูปธรรมมากขึ้น
อุตสาหกรรมฮาลาล นับเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจและอีกทางเลือกของการสร้างการค้าแบบยั่งยืนบนเวทีการค้าโลก เพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่ฮาลาลโลก ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประเทศสมาชิกเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงนี้