"เจฟรี มาละแซ": พวกเราไม่ใช่ท่อน้ำเลี้ยงผู้ก่อการร้าย
โดย เอกราช มูเก็ม
สำนักข่าวอะลามี่ : หากพูดถึงสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ คนไทยกลุ่มนี้มักจะถูกหางเลขเสมอ ล่าสุดผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย หรือ ที่รู้จักในนามร้านต้มยำกุ้ง มาเลเซีย นำคณะประมาณ 40 คน มาดูงานในจังหวัดเชียงใหม่
เรามารู้จักสมาคมต้มยำกุ้งในมาเลเซีย ผ่านมุมมอง " เจฟรี มาละแซ " นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย (ต้มยำกุ้ง)
เจฟรี เป็นคนอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ก่อนจะไปทำธุรกิจร้านอาหารไทยในมาเลเซีย ร่วม 20 ปี ใน กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นอกจากเป็นเจ้าของร้าน เขายังเป็น “นายกสมาคม ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย” อีกด้วย
" ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านค้าในมาเลเซียประมาณ 5,000 ร้าน ส่วนคนงานขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน หรือ เฉลี่ยประมาณ 15 คน / ร้าน ประมาณการว่ามีแรงงานไทยในธุรกิจร้านอาหาร หรือ ร้านต้มยำกุ้ง ไม่น้อยกว่า 150,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ บางร้านยังไม่เข้าเป็นสมาชิกสมาคมฯ โดยส่วนใหญ่ ประมาณ 80 % มาจากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ "
สำหรับร้านค้าในมาเลเซีย มีหลายแบบ มีตั้งแต่ ร้านค้าแผงลอยทั่วไป จนถึงร้านค้าแบบมาตรฐาน สวนอาหาร หรือในรูปแบบของเรสเตอรองท์
เจฟรี บอกว่า เมื่อปีที่ผ่านมา มีสื่อออกข่าวเกี่ยวกับร้านต้มยำกุ้ง ซึ่งถูกมองแง่ลบ ทั้งๆ ที่ในงานดังกล่าว เป็นการประชุมร่วมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มาให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ ที่ร้าน ลาล่า โดยกล่าวหาว่า เราเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้เราก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่า เราไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย โดยสื่อที่ลงข่าวนี้ ยอมลงขอโทษในหนังสือพิมพ์ แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เราได้รับความเสียหายมาก จากการออกข่าว พวกเราถูกมองว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงผู้ก่อการความไม่สงบ ทำให้รายได้ของร้านคนไทยในมาเลเซีย ลดลงมาก
" ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ ได้สร้างรายได้เข้าประเทศแต่ละปีจำนวนไม่น้อย โดยเฉลี่ยเด็กเสริฟ 150,000 คน มีรายได้คนละประมาณ 5,000 บาท/เดือน นี่เป็นการประมาณขั้นต่ำ นอกจากจากนี้ยังมี กุ๊ก หรือ เชฟ ซึ่งมีเงินเดือนมากกว่านี้ ในจำนวนนี้ยังไม่รวมผู้ประกอบการ ที่นำเงินเข้าประเทศ ปีละจำนวนมหาศาล "
นายกสมาคมต้มยำกุ้ง บอกว่า ก่อนหน้านี้พวกเขา ต้องช่วยเหลือตัวเอง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด แถมยังถูกกังขาจากสังคม และหน่วยงานความมั่นคง สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบชายแดนใต้ แต่หลังจากที่ ท่าน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. แสดงความจริงใจ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ เราดีใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ พวกเราได้พบปะ และคุยกับข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลไทย ทำให้เรามั่นใจมากยิ่งขึ้น
" ศอ.บต. มีส่วนในการเปลี่ยนแปลง ทำให้มีความเข้าใจกัน ช่วยให้ความรู้สึกดีขึ้นมา ระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ หรือคนที่ไปขายแรงงานในมาเลเซีย "
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสานต่อโครงการ ขณะนี้สมาคมฯ ได้จัดทำศูนย์กระจายสินค้า เพื่อเผยแพร่สินค้าจากเมืองไทย โดยเฉพาะสินค้า OTOP จากชายแดนใต้ ไปวางขายในประเทศมาเลเซีย โดยผ่านช่องทางร้านค้ากว่า 5,000 แห่ง ที่เป็นสมาชิกของสมาคม ฯ
เจฟรี บอกว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในขณะนี้คือ เรื่อง ค่าเอกสารใบอนุญาตทำงานที่สูงมาก จึงอยากให้รัฐบาลเจรจากับรัฐบาลมาเลเซีย เพราะคนงานเหล่านี้ต้องแบกภาระมากเกินไป
สำหรับการมาศึกษาดูงานในต่างถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เราได้ศึกษาดูว่า แนวทางในการปฏิบัติ คนที่นี่เขากินอยู่กันอย่างไร ชอบรสชาติในการรับประทานแบบไหน เพื่อจะนำไปพัฒนา รวมไปถึงปรับปรุง อย่างไรก็ตามจากการพบปะและคุยกันพบว่า เชียงใหม่ มีมุสลิม และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งระยะยาว อาจที่จะขยายร้านต้มยำกุ้งมาเชียงใหม่ หรือ เพื่อนบ้าน อาทิเช่น ลาว เพื่อรองรับการขยายตัว และรองรับตลาดท่องเที่ยว หลังเปิดประชาคมอาเซียน
" หลังจากที่เราได้รับการสนับสนุนและการช่วยเหลือจาก ศอ.บต. ในระยะยายาว ถ้าเป็นไปได้ เราจะพยายามผลักดันให้สมาชิกสมาคมฯ ที่มีศักยภาพขยายกิจการไปทำร้านอาหารในต่างประเทศ อาทิเช่น ในยุโรป อินโดนีเซีย และ บูรไน ทั้งนี้เพื่อให้คนรู้จักสินค้าแบรนด์ไทยและอาหารไทย มากขึ้น "
-----------------------