Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   ต้มยำกุ้งมาเลย์จากข้อกล่าวหาท่อน้ำเลี้ยง - สู่ท่อการค้า

ต้มยำกุ้งมาเลย์จากข้อกล่าวหาท่อน้ำเลี้ยง - สู่ท่อการค้า

โดย : เอกราช มูเก็ม

            หากเอ่ยถึง " ต้มยำกุ้งมาเลเซีย " หลายคน คงนึกถึงในทางลบ บ้างก็บอกว่า ท่อน้ำเลี้ยงขบวนการก่อความไม่สงบชายแดนใต้  ตามที่สื่อพยายามยัดเยียดและหน่วยงานความมั่นคง บางหน่วยพยายามปั้นเรื่องให้คนเหล่านี้ไปในทางลบ


            ล่าสุดในรัฐบาล " ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร " นายกรัฐมนตรี ได้ส่งมือทำงานอย่าง " พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง "  ไปนั่งในตำแหน่งเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และ นี่คือจุดเริ่มต้น ในการพบปะกับกลุ่มต้มยำกุ้งอย่างจริงจัง จนนำไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกันของสองฝ่าย ทั้งภาครัฐ และคนไทยในมาเลเซีย 

          นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับนี้ พาท่านมาอ่านความคิด พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อกรณีการสานสัมพันธ์ " ต้มยำกุ้ง " มาเลเซีย

            พันตำรวจเอกทวี  กล่าวว่า วันนี้ เราต้องยอมรับว่า พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ปัตตานี ยะลา สงขลา นราธิวาส และสตูล มีพื้นที่ที่ติดชายแดนเพื่อนบ้าน มีเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมพิเศษ คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของคนชายแดนใต้ ในการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า อันเนื่องมาจากผลพวงความไม่สงบ เกิดขึ้นหลายปีที่ผ่านมา

            " จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโดยรวม ทุกภาคส่วนมีความเห็นตรงกันในการหาแนวทางในการแก้ปัญหา สิ่งหนึ่งที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ทำให้คนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ ได้ประจักษ์  คือ เมื่อความจริงปรากฏ ความไม่ดีก็หายไป เราจึงมีนโยบายให้คนทั้งประเทศได้รับรู้ และ มีส่วนร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยกัน ถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน และเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย "

             สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ เรื่อง เชื้อชาติ  โดยเฉพาะคนชายแดนใต้ มีเชื้อชาติมลายู  นอกจากนี้ในเรื่องภาษา โดยเฉพาะภาษาที่ใช้ในชายแดนใต้ เป็นภาษาสำคัญ ซึ่งเป็นภาษาในการสื่อสาร และใช้ในราชการของประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน อีกด้วย  และสุดท้ายคือ เรื่องศาสนา เนื่องจากคนในชายแดนใต้ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีเพื่อนบ้านที่นับถือศาสนาเดียวกันด้วย

            โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทย ที่เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย นับว่ามีความสำคัญมาก ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยไปทำธุรกิจร้านอาหารในมาเลเซีย ประมาณ 5,000-7,000 ร้าน ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้ ได้สร้างงานให้กับคนไทยในชายแดนใต้ สร้างงานให้คนที่ไม่มีวุฒิการศึกษา หรือ ที่เรียนไม่จบ ได้มีงานทำร่วม 2 แสนคน โดยได้รับเงินเดือนตั้งแต่ 8,000 ขึ้นไป นับว่าเป็นการช่วยเหลือประเทศไทย เป็นอย่างมาก

            " ถ้าแรงงานเหล่านี้เขาอยู่ในประเทศไทย อาจจะเป็นภาระ หรือปัญหาทางสังคม เกิดการว่างงาน และอาจเป็นปัญหาเรื่องยาเสพติดตามมา "

            พันตำรวจเอกทวี กล่าวถึงการนำผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ดูงานในจังหวัดเชียงใหม่ ว่า การมาศึกษาดูงานของผู้ประกอบการ ถือเป็นการมาเรียนรู้นอกพื้นที่ เป็นการศึกษาและนำมาต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกทั้งจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการทำการค้าได้มากขึ้น

            ส่วนกรณีการสร้างความเข้าใจนั้น ที่ผ่านมาในการเดินทางไปพบปะกับกลุ่มคนต่างๆ ได้นำหน่วยงานความมั่นคง เข้าไปด้วย เริ่มทำความเข้าใจ ทำให้ขณะนี้แนวทางที่ไม่ดีเริ่มหมดไป

          " เราพยายามใช้แนวทางประชาธิปไตย คือ อย่าไปบังคับและเพ่งเล็งเขา ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียเอง ก็หวังว่าจะร่วมกันพัฒนา เพราะนี่คือจุดแข็งของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนใต้ ถือว่ามียางพารามากที่สุดในโลก มีการประมงที่ยิ่งใหญ่ เรามีทรัพยากรมากมาย และที่สำคัญ เรามีมรดกทางวัฒนธรรม ที่สำคัญอีกด้วย "

            เลขาธิการ ศอ.บต. บอกว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้ คนที่คิดต่างจากรัฐ พวกเขาไม่ใช่อาชญากร เป็นเรื่องของความคิด ความเชื่อ เราต้องเปิดพื้นสำหรับคนที่มีความเห็นต่าง ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหา

            อย่างไรก็ตาม ช่องทางหนึ่งในการช่วยเหลือ คนไทยที่อยู่ในมาเลเซีย คือ การเข้าไปส่งเสริมในเรื่องของเงินทุน ซึ่งเป็นเพียงการเริ่มต้น เราจะไม่ปล่อยให้คนเหล่านี้ยืนตามลำพัง หรือ ใช้เงินกู้นอกระบบ เพราะเขาเหล่านี้ เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย และเป็นตัวแทนของพี่น้องมุสลิมในประเทศไทย

            ทั้งนี้รัฐบาลได้เตรียมความพร้อม ในเรื่องของการใช้ร้านอาหารต้มยำกุ้งของคนไทยในประเทศมาเลเซีย กว่า 5,000 ร้าน จัดทำเป็นศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งในอดีตผู้ประกอบการเหล่านี้สู้โดยลำพัง แต่ปัจจุบัน เราจะไปดูแลช่วยเหลือ และร่วมกันพัฒนา อาทิเช่น ปัจจุบัน รัฐบาลจัดส่งข้าวราคาถูกให้กับผู้ประกอบการประมาณเดือนละ 500 ตัน หากไม่เพียงพอเราสามารถจัดให้ได้ตามความต้องการ

            " ปัจจุบันเรากำลังขุดลอกอ่าวปัตตานี เพื่อนำเรือประมง 4-5 พันลำ ซึ่งในอดีตเรือเข้าอ่าวไม่ได้ ทั้งนี้หากเรือเหล่านี้เข้าอ่าวได้ เราจะมีวัตถุดิบ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการพัฒนา และผลักดัน นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่มีปัญหามาช้านาน ปัจจุบันเริ่มแก้ปัญหาไปแล้ว ซึ่งการพัฒนาจะมาพร้อมๆ กับสันติภาพ ชายแดนใต้ในเร็วๆนี้ "

ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับธันวาคม 2556