Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   " พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์"ตำรวจมืออาชีพ ภารกิจบนความท้าทาย

" พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์"ตำรวจมืออาชีพ ภารกิจบนความท้าทาย

โดย เอกราช มูเก็ม

++++++++++++++

            สำนักข่าวอะลามี่: หลายคนตื่นตัวเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่น้อยคนจะพูดถึงมาตรการด้านกฎหมาย เรามารู้จักภารกิจตำรวจ ผ่านมุมมอง " พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ " รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งในวงการตำรวจ รู้จักดีว่า ท่านเป็นนายตำรวจมือสอบสวนมือดีท่านหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


            ก่อนจะมารับตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ได้รับมอบหมายให้ดูภารกิจงาน ด้านกฎหมาย งานพิทักษ์เด็กสตรี ครอบครัว และ ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และงานสอบสวนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  

            "วันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พัฒนาบุคคลากร เช่น พัฒนาตำแหน่งพนักงานสอบสวน เรียกว่าตำแหน่งควบ ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานสอบสวนก้าวหน้าในสายงานและมีความชำนาญการเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เป็นการจูงใจให้อยู่ในตำแหน่งพนักงานสอบสวน ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ "

             เนื่องจากที่ผ่านมาตำแหน่งนี้เป็นงานที่ค่อนข้างเสี่ยง เพราะเป็นการทำงานที่อยู่ในกรอบและระเบียบของกฎหมายและมีโอกาสที่จะถูกฟ้องร้อง เพราะการใช้ดุลพินิจในการงานในแง่มุมของกฎหมาย อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ดังนั้นต้องแม่นยำและชัดเจน สามารถให้ความยุติธรรมกับประชาชนได้

            พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ 3 ด้านใหญ่ ๆ คือ รับแจ้งความ รับข้อกล่าวโทษ ดังนั้นจึงจะทำอย่างไรเวลามีประชาชนเดือดร้อน สามารถที่จะบริการประชาชนให้ได้รับความอบอุ่น เป็นที่พึ่งได้ พยายามทำให้คนของเรามีใจบริการ “เซอวิสมายด์”

            อีกด้าน คือ การทำสำนวนสอบสวน จะทำอย่างไรให้งานมีคุณภาพ บนพื้นฐานที่ถูกต้องรวดเร็วและเป็นธรรม และเรื่องสุดท้ายคือ การสืบสวน นอกเหนือจากมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงด้วย

            โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรี จะเป็นคดีที่เป็นเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อรองรับคดีดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงเข้ามารับผิดชอบมากขึ้น
 
            "ที่ผ่านมาผู้เสียหายเป็นผู้หญิง มีพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้ชาย โดยเฉพาะในคดีถูกข่มขืน กลับเหมือนเป็นการถูกข่มขืนซ้ำ "

            ในปีนี้จะมีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงจบปีแรก 68 คน รวมกับพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงเดิมอีกกว่า 260 คน ซึ่งเราวิเคราะห์ว่าต้องใช้คนประมาณ 500 คน ส่งเข้าประจำทุกสถานีตำรวจ แต่อาจจะไม่ครบทุก สน. แต่เบื้องต้นอาจเน้นคดีเกี่ยวกับเรื่องค้ามนุษย์เป็นพิเศษ
            พล.ต.อ.ชัชวาลย์  กล่าวถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์งว่ามีโครงสร้างและระบบที่ซับซ้อน ซึ่งการค้ามนุษย์มีแบ่งเป็น 3 กรณีใหญ่ๆ ประกอบด้วย การหาประโยชน์จากการค้าประเวณี คือ 1. การจัดหา การหลอกลวงและบังคับทั้งผู้ชายและผู้หญิง  2. การบังคับใช้แรงงาน ที่เป็นผู้ชาย รวมทั้งเด็กและผู้หญิง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมประมง และสุดท้ายคือการขอทาน

            " ถามว่าความรุนแรงมีมากขึ้นไหม ตอบได้ว่า จากสถิติจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้หน่วยงาน UN เอง ที่ติดตามสถานการณ์นี้ระบุว่า สถานการณ์นี้ยังมีอยู่และมีแนวโน้มสูงขึ้น "

            สำหรับในประเทศพื้นที่เสี่ยง โดยสถานที่เสี่ยงมาเป็นตัวกำหนด เช่น คาราโอเกะ พวกสถานบริการ นวดแผนโบราณ หรือ สถานประกอบการ มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน แต่ถ้าสถานประกอบการรายใหญ่มักจะไม่มีปัญหาส่วนแหล่งท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยว ก็จะมีการกระทำผิดในรูปของขอทาน

            รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การค้ามนุษย์เป็นเรื่องระดับโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ในภูมิภาคอาเซียน เองก็มีการประชุมหัวหน้าตำรวจอาเซียน หรือ "เอเชียน่าโปลิส" ได้มีการบรรจุเรื่องนี้ให้เป็นวาระสำคัญ เพื่อหาแสวงหาความร่วมมือกันมากขึ้น

            " การเปิดเวทีประชาคมอาเซียน หรือ AEC อาเซียนเองก็กังวล เพราะการเดินทางของคนมันง่ายขึ้น"

             พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวถึงความร่วมมือด้านกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน ว่า การจะใช้กฎหมายกลาง หรือ กฎหมายอาเซียน คงเป็นเรื่องยากที่แต่ละประเทศจะยอมรับ ขณะที่โอกาสของการกระทำผิดที่มันซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นทางออก จึงต้องให้มีการเรียนซึ่งกันและกันรู้เรื่องกฎหมายแต่ละประเทศ มีการแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น ขณะเดียวกันคนในภูมิภาคอาเซียนเองก็ต้องศึกษากฎหมายของประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

             อย่างไรก็ตามการเปิดเวทีประชาคมอาเซียน ตำรวจอาจไม่มีส่วนโดยตรง แต่ตำรวจ อาจเกี่ยวเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันสำนักงานอัยการ เริ่มเตรียมตัวในการตัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อดูแลเรื่องนี้แล้วขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจต้องมีพนักงานสอบสวน ที่มีความเข้าใจกฎหมายที่บังคับใช้ในแต่ละประเทศ เพราะคดีเหล่านี้พิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศ รวมถึงต้องจัดเครื่องมือ เช่น ด้านกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันอัยการมีการจัดตั้งแล้ว แต่ตำรวจยังไม่ชัดเจน

            " วันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องคิดว่า เรื่องคดีอาเซียนจะทำอย่างไร ซึ่งอาจต้องมีกลุ่มคน ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นนายตำรวจมืออาชีพเข้ามาดูแลด้านนี้โดยตรง อาจเป็นในลักษณะของแผนก อาชญากรรมอาเซียน โดยตรง ซึ่งเรื่องนี้จะมีการผลักดันผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างจริงจังต่อไป " พล.ต.อ.ชัชวาลย์  กล่าว.

            นี่คืออีกภารกิจของที่ท้าทาย ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องพัฒนาบุคลกร เพื่อรองรับความซับซ้อนของสังคมมากขึ้น

หมายเหตุ : ตีพิม์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับตุลาคม 2556