ถอดไอเดีย"พาที สารสิน "ซีอีโอ นกแอร์ นักบริหารรุ่นใหม่
โดย เอกราช มูเก็ม
+++++++++++++++++++
หากจะเอ่ยถึงสายการบินโลว์คอสเมืองไทย หลายคนคงนึกถึงสายการบินนกแอร์ และเมื่อนึกถึงนกแอร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า จะต้องนึกถึงผู้ชายเสื้อยืดสีดำ กางเกงยีนส์ และแทบจะเรียกได้ว่า เขาเป็นโลโก้ของสายการบินนี้ เสียด้วยซ้ำ
นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับนี้ เราจะพามารู้จัก " พาที สารสิน " ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ (มหาชน) ถึงแนวคิดในการบริหารงานสายการบินโลว์คอส ของไทย สู่สายการบินอันดับหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับ ด้วยสไตล์การบริหารงานที่ฉีกรูปแบบ
พาที กล่าวถึง สถานการณ์อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย ว่า นับตั้งแต่ปี 2004 ได้ขยายตัวมากขึ้น จากเดิม 5 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้โดยสารมากถึง 22 ล้านคน ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรของไทยที่มี 65 ล้านคน จำนวนผู้โดยสาร 22 ล้านคน ยังถือว่าน้อย แต่มีแนวโน้มจะขยายตัวไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของสายการบินโลว์คอส เป็นการกระตุ้นให้คนหันมาเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น
" คนส่วนใหญ่ที่เดินทางมีอยู่ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่มคนเดินทางท่องเที่ยวธรรมดา กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม SME และ 3 กลุ่มคนที่เดินทางกลับบ้าน แทนการเดินทางโดยรถยนต์ ที่ใช้เวลานานกว่า อีกทั้งการกระจายช่องทางการจำหน่ายตั๋ว ทั้งผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซื้อขายผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือร้านค้าปลีก ก็เป็นส่วนกระตุ้นได้มากเช่นกัน "
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวถึงโอกาสการขยายสายการบินโลว์คอส ในประเทศไทย ว่า โอกาสยังมีอีกมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่า สายการบินโลว์คอส ได้ขยายเส้นทางบินไปตามหัวเมืองต่างๆ มากขึ้น เช่น จังหวัดแพร่ น่าน ชุมพร ระนอง ซึ่งเมืองเล็กเหล่านี้ คนมีกำลังซื้ออีกมาก ประกอบกับคนเหล่านี้เองจำเป็นที่จะเดินทาง ธุรกิจสายการบิน จึงต้องตอบสนองความต้องการ ให้เขามีโอกาสใช้ บริการเครื่องบินที่สะดวกมากยิ่งขึ้น
เขากล่าวถึงการบริหารสายการบินโลว์คอส ว่า ธุรกิจการบิน การบริหารไม่ต่างกัน แต่สายการบินโลว์คอส จะเน้นความคล่องตัว ตอบสนองสิ่งที่คนต้องการในระยะสั้นได้เร็ว
" ปัจจุบัน อาจเรียกว่าเราบริหารเหมือนธุรกิจแบบกองโจร การทำธุรกิจที่ต้องรวดเร็ว กลยุทธ์ในการบริหาร พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจุบันคนซื้อตั๋ว เขาเดินทางแบบตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องวางแผนการเดินทางนานเหมือนในอดีต การที่ผู้โดยสารตัดสินใจเร็วขึ้น ระยะเวลาการบิน ทำให้ใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง สายการบินโลว์คอส จึงต้องตอบสนองให้เร็วขึ้นเช่นกัน"
สำหรับธุรกิจสายการบินโลว์คอสในประเทศไทย ปัจจุบันมีเงินสะพัดหลายหมื่นล้านบาท เฉพาะสายการบินนกแอร์ แชร์ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ประมาณหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาทต่อปี ส่วนที่เหลือเป็นของสายการบินแอร์เอเชีย สายการบินวันทูโก และสายการบินอื่นๆ ซึ่งคาดว่าตัวเลขโดยรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละปีขยายตัวไม่น้อยกว่า 20 %
" ปัจจุบันเราได้ขยายบริการตลอดเวลา แต่ปัญหาคือเราเอาเครื่องบินเข้ามาประจำสายการบินไม่ทัน เช่น นครศรีธรรมราช ในอดีตปี 2004 การบินไทย บินเพียงวันละไฟล์ทแต่ปัจจุบันนกแอร์ บินวันละ 4 ไฟล์ท แอร์เอเชีย บินวันละ 2 ไฟล์ท ขณะที่ จังหวัดอุดรธานี การบินไทย บินวันละไฟล์ท นกแอร์บินวันละ 7 ไฟล์ท ผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 80% ทุกไฟล์ท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูงมาก "
คุณพาที พูดถึงแนวคิดในเรื่องการบริหารงานในฐานะเป็นซีอีโอ คนรุ่นใหม่ และมีสไตล์การบริหารจะแตกต่างจากซีอีโอคนอื่น ว่า การบริหารยึดหลักเป็นคนจริงใจ ไม่คิดโกง บริหารองค์กรให้พนักงานที่ทำงานของนกแอร์ มีความสุข อีกทั้ง เพื่อให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของเรา มาแล้วยิ้มได้ และขณะเดียวกัน พนักงานของเรามีความพึงพอใจในการทำงาน ทั้งหมดเราพยายามที่จะให้เกิดการหลอมรวมมาสู่จุดนี้
" วันนี้ผมมีความภูมิใจ ที่จะให้ประเทศไทยของเรา มีสายการบินโลว์คอส ที่สู้กับต่างประเทศได้ เราไม่น้อยหน้าฝรั่ง อันนี้คือสิ่งที่สำคัญ "
นอกจากนี้ คุณพาที ยังบอกถึงหลักการบริหารว่า หลักการของผมง่ายๆ คือ เราทำทุกอย่างให้ตอบสนองกับสิ่งที่โลกเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน แต่ในขณะเดียวกัน ผมต้องการที่จะเป็นตัวอย่างให้ทุกคนเห็นได้ว่า การธุรกิจทำอย่างตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบได้ ธุรกิจสามารถที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้
นอกจากนี้จะบอกกับสังคมว่า ประเทศเราก็มีคนเก่ง ไม่ใช่ฝรั่งเก่งอย่างเดียว คนไทยเราก็เก่งได้ สามารถบริหารได้ นั่นคือ สิ่งที่เราจะพยายามทำให้เห็นว่า เมื่อโลกเราเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เราก็จะพยายามทำให้ดีขึ้นเช่นกัน
ด้วยการบริหารที่โดดเด่น ของ " พาที สารสิน " ทายาทหนึ่งเดียวของ คุณอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ ทำให้ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงสายการบินนกแอร์ ต้องนึกถึง คุณพาที จนกลายเป็นแบรนด์ ที่ควบคู่กับสายการบินนกแอร์ เขาบอกว่า ด้วยบุคลิกส่วนตัวเป็นแบบนี้ ก็เลยกลายเป็นจุดเด่น
"เผอิญนิสัยผมเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว คือ สร้างความฉีกแนวตลอด อีกทั้งการทำธุรกิจของผมที่ทำแบบง่ายๆ วางตัวแบบนี้ตลอด เจอชาวบ้านก็แบบนี้ เจอนักธุรกิจก็แบบนี้ เพราะเราเป็นคนติดดิน ตรงไป ตรงมา เป็นยังไงก็เป็นแบบนี้ ไม่ได้สร้างภาพ จนถึงทุกวันนี้ ผมบริหารนกแอร์ มา 9 ปี ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยน" พาที กล่าวและว่า
ด้วยบุคลิกเป็นผู้ชายสวมเสื้อยืด ไม่อยากใส่สูท มันอึดอัด อยู่เมืองนอกก็แต่งตัวแบบนี้ เรียนจบกลับบ้าน ก็แต่งตัวแบบนี้ ไม่มีอะไรแตกต่าง เพราะเราทำตัวเองให้เป็นธรรมชาติ เป็นคนปกติ ไม่ต้องไฮโซ แต่งตัวดีไม่ต้องดีมาก นาฬิกาที่ใส่ก็ไม่แพง ใช้รถของบริษัท ชีวิตเรียบง่ายอย่างนี้ แม้กระทั่งอาหารการกินก็ธรรมดา
พาที กล่าวถึง แนวคิดในเรื่องการบริหารสายการบิน ว่า ถ้ามองจากภายนอก ธุรกิจการบิน ถือว่าเป็นธุรกิจที่ดูไฮโซ อย่างไรก็ตามในมุมมองของเขา กลับมองว่า ความอีโก้ หรือ อัตตาสูงของผู้บริหารสายการบิน จะอันตรายต่อธุรกิจ ขณะเดียวกันอาจทำลายธุรกิจการบินได้
" จะต้องตัดความอีโก้ออก ความเด่น ดัง เท่ห์ ออก นำตัวตนมารับสภาพความเป็นจริง เพราะนี่คือ การลงทุน ทุกอย่างต้องปลอดภัย เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่การการทำธุรกิจเพื่อให้ดูหรูอย่างเดียว แต่การสร้างภาพลักษณ์ของสายการบิน ให้ออกมาดีนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง "
พาที กล่าวถึงสไตล์การบริหารธุรกิจแนวใหม่ของเขาว่า การวางตัวให้เป็นธรรมชาติ ในการบริหาร คือ เราจะบริหารด้วยใจ เราไม่มีเป้าหมายที่แอบแฝง แต่เรามีเป้าหมายอย่างเดียวคือ ทำอย่างไรให้งานออกมาดีที่สุด และให้คนที่ทำงานกับเราแล้วมีความสุข
" มันอยู่ที่ความตั้งใจ และจิตใจของเราเอง สิ่งที่เราภูมิใจ คือ เวลาเราทำอะไรแล้ว ให้คนไทยเราเห็นด้วยว่า เราเองก็มีความสามารถ คนไทยไม่ได้ด้อยกว่าต่างชาติ แม้ว่าเราไม่ได้เก่งกล้าหรือมีความสามารถมากมายอะไร แต่เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด "
เขาบอกว่า การบริหารสายการบิน เป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งแรกที่สายการบินนกแอร์ จะทำคือ อะไรก็ตาม ที่ทำแล้วจะชนะใจคนไทย และให้มั่นใจว่า ของเราดี แล้วหันมาใช้บริการของเราอีก
อันดับที่สอง คือ เราต้องการขยายธุรกิจแบบมีสติ ค่อยๆ ขยายทีละจุดให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่ก็เพิ่มโอกาสให้บริษัทเติบโตมากที่สุด ไม่โตเร็วเกินไป เพราะถ้าล้มจะเจ็บ แต่ถ้าเราค่อยๆโต ถ้าสะดุดก็ไม่เจ็บมาก อีกทั้งจะทำให้เราสามารถตั้งตัวได้
พาที พูดถึง การแข่งขันสายการบินว่า ปรกติธุรกิจการบิน เป็นธุรกิจข้ามประเทศอยู่แล้ว ตั้งแต่เข้ามายืนในธุรกิจสายการบิน เราคำนึงถึงการแข่งขันอยู่แล้ว คำนึงถึงความเตรียมพร้อมให้เหมาะที่จะขยายไปต่างประเทศ
" ที่ผ่านมา เราเจอภาวะที่เหนื่อยยากมาหลายเรื่อง ทั้งการเมือง และกรณีวิกฤติน้ำท่วม เราผ่านมาหมดแล้ว ทำให้เราต้องเรียนรู้มากขึ้น ขณะที่เราทำธุรกิจ เราก็ช่วยเหลือประเทศด้วย โดยเฉพาะการคืนกำไรสู่สังคม เช่น กรณีน้ำท่วมเราก็ช่วย หรือแม้กีฬา เราก็เข้าไปช่วย ทั้งนี้การทำธุรกิจไม่ใช่เราจะรับอย่างเดียว เมื่อเรารับ เราก็ควรจะรู้จักการให้คืนกลับสังคมบ้าง "
พาที บอกถึงเป้าหมายของสายการบินนกแอร์ ว่า จากจุดที่เรายืนในวันนี้ เราคิดว่าในอนาคตจะส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นต่อไปอย่างไร เพราะเราอยากให้มันอยู่ยืนนาน
" ขณะนี้เรามีพื้นฐานรองรับที่แข็งแกร่ง พอที่รองรับเพื่อที่จะนำพาต่อไปในอนาคตได้ดี ผมก็เป็นส่วนหนึ่งของสายการบินนกแอร์ ในการสร้างคน สร้างพื้นฐาน ซึ่งอนาคตมันก็จะไปต่อของมันเอง โดยที่เราไม่ต้องอยู่ เพราะเราทุกคนไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า "
พาที กล่าวถึงความภูมิใจอีกเรื่อง คือ วันนี้เขาสามารถสร้างนกแอร์ ให้เป็นแบรนด์ ของคนไทย สามารถนำเข้าตลาดหุ้น คนเป็นที่รู้จักเราทั่วโลก ว่าเป็นสารการบินผู้ให้บริการที่ดี และเป็นที่หนึ่งของสายการบิน ที่ติดอันดับของโลก
ทั้งนี้ เขาได้ทำให้ฝรั่งเห็น และจะประทับตราว่า คนรุ่นใหม่ก็ทำได้ เราทำด้วยความมานะ และโปร่งใส มีจิตใจที่อยากจะทำจริงจัง และตั้งใจที่จะทำ ถึงจะสำเร็จ และที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งหากเราเห็นแก่ส่วนรวม เราอยู่จุดไหน เราก็สามารถช่วยประเทศชาติได้
พาที บอกว่า ขณะนี้เราเริ่มขยายสายการบินไปพม่า ไปเมือง เมาะลำไย ซึ่งปัจจุบันคนไทยอาจไม่รู้จัก แต่ตอนนี้ปูนซีเมนต์ไทย เข้าไปเปิดการลงทุนแล้ว
" เมือง เมาะลำไย ของพม่า อยู่ติดชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ใช้เวลาบินจากชายแดนเพียง 15 นาที แต่หากเราเดินทางโดยรถยนต์จะใช้เวลามากถึง 9 ชั่วโมง เพราะถนนยังไม่ดี ทั้งนี้การเข้าไปเชื่อมสายการบินในพม่า จะเป็นการเปิดโอกาสการลงทุนร่วมกัน ของสองประเทศมากขึ้น ซึ่งในอนาคต เรามีแผนจะขยายเส้นทางบินไปในประเทศเพื่อนบ้านภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น "
พาที กล่าวอย่างความภาคภูมิใจว่า ทุกวันนี้สิ่งที่เขากำลังทำ ไม่ใช่แค่ทำธุรกิจการบิน แต่เขากำลังสร้างชื่อเสียงของประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ สามารถสร้างชื่อเสียงของประเทศไทยได้ เพียงแต่ขอให้เราทำอย่างตั้งใจจริง และทุกอย่างเราก็จะทำได้
" นกแอร์ ของเราเริ่มจาก 5 คน ตอนนี้เรามีพนักงาน 1,500 คน จากลงทุน 5 แสนบาท ตอนนี้ มี 12,000 ล้านบาท ภายใน 9 ปี ปัจจุบัน เราขึ้นมาเป็นสายการบินอันดับหนึ่งก็ว่าได้ จากที่ไม่มีคน ตอนนี้มีคน 6-7 ล้านคน ถือว่าเราพอใจ เราภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เราทำให้คนหลายคนที่ไม่เคยขึ้นเครื่องบินมาก่อน ได้มีโอกาสได้ขึ้นเครื่องบิน วันนี้ถือว่าเราทำสำเร็จแล้ว "
ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนตุลาคม 2556