"ครรชิต"โต้ขัดแย้งภายใน ยันธนาคารอิสลามฯมีสภาพคล่องมั่นคง
สำนักข่าวอะลามี่: ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ยืนยันสภาพคล่องธนาคารแข็งแกร่ง และพร้อมเดินหน้าปล่อยสินเชื่อและออกแคมเปญเงินฝากสำหรับลูกค้าในไตรมาส 4 เชื่อมั่นหลังดำเนินงานตาม แผนฟื้นฟูธนาคารจะมีกำไรภายในสิ้นปี 2556
ดร.ครรชิต สิงห์สุวรรณ์ รักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เผยว่า “จากความทุ่มเทและร่วมแรงร่วมใจของคณะผู้บริหาร พนักงานทุกท่าน และการได้รับการสนับสนุนในทุกด้านจากคณะกรรมการธนาคาร และคณะที่ปรึกษาชะรีอะฮ์ ทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอิสลามฯ ในไตรมาส 3/2556 มีแนวโน้มดีขึ้นเป็นอย่างมาก จากที่ธนาคารมีการอนุมัติแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Financing-NPFs) ได้สูงกว่า 28,000 ล้านบาท จากเป้าหมายปี 2556 ของกระทรวงการคลัง 6,500 ล้านบาท
และคาดว่า ณ 31 ธันวาคม 2556 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ธนาคารจะรับได้อนุมัติแก้ไขไปข้างต้น จะถูกปรับชั้นเป็นหนี้ปกติได้ประมาณ 23,000 ล้านบาท และจะได้สำรองหนี้สงสัยจะสูญคืนกลับมาเกือบ 10,000 ล้านบาท ส่วน NPFs ที่แก้ไขแล้วที่คงเหลืออีกประมาณ 5,000 ล้านบาท จะถูกปรับเป็นหนี้ปกติหมดสิ้นภายในไตรมาส 1/2557 ทำให้ธนาคารจะมี NPFs คงเหลือยกยอดไปปี 2557 เพียง 20,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 18.0 ของยอดสินเชื่อรวม ซึ่งลดลงจากร้อยละ 38.87 ของเดือนต.ค.2556 โดยธนาคารตั้งเป้าจะแก้ไขปัญหา NPFs จำนวนที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาท ให้หมดสิ้นไปภายใน 31 ธันวาคม 2557
ด้านฐานะทางการเงิน ณ 15 ตุลาคม 2556 ของธนาคารมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก โดยสภาพคล่องธนาคารโดยรวม (Total Liquidity) อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ มีพอร์ตสินเชื่อกว่า 110,000 ล้านบาท พอร์ตเงินฝากกว่า 121,000 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม (Assets Size) สูงกว่า 600 ล้านบาท ทำให้ธนาคารสามารถอนุมัติวงเงินหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือธนาคารรัฐแห่งหนึ่งได้ สำหรับผลกำไรสะสม 9 เดือนแรก (ก่อนหักสำรองหนี้สงสัยจะสูญ) ประมาณกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งหากการแก้ไขหนี้เสียข้างต้นเป็นไปตามแผนงาน และสามารถดึงสำรองกลับมาได้ภายในสิ้นปี 2556 ธนาคารจะมีผลประกอบเป็นกำไรอย่างแน่นอนในปี 2556
ส่วนกระแสข่าวที่ว่าธนาคารอิสลามฯ จะมีการปิดตัวลงนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยธนาคารได้มีการหารืออย่างสม่ำเสมอกับกระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างองค์กรภายใน เพื่อให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยให้ผู้บริหารและพนักงานธนาคาร ได้ทำงานในหน้าที่ที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญเพื่อร่วมมือกันพัฒนาธนาคาร ส่วนกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนโยบายนั้น อาจจะเป็นเรื่องในอดีตที่ธนาตารไม่มีส่วนรับรู้หรือเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ดร.ครรชิต กล่าวถึง ทิศทางการดำเนินงานในไตรมาส 4/2556 ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการเร่งรัดการ ลด NPFs เสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารทั้งในด้านการเพิ่มยอดเงินและสินเชื่อ โดยล่าสุดธนาคารได้ ออกแคมเปญเงินฝากประจำหลักการร่วมทุน (มุฎอรอบะฮ์) “iBank Big 4” ที่ให้อัตราผลตอบแทนถึง 3.75% และสินเชื่อ Happy Life เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกันตามคำเรียกร้องของลูกค้า ด้วยอัตรากำไรต่ำสุดเพียง 4.25 % ต่อปี
“ในปี 2557 เชื่อมั่นว่า ฐานะการเงินของธนาคารอิสลามฯ จะดีขึ้นโดยลำดับ และจะเป็นปีแห่งการมุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพในทุกๆ ด้านขององค์กร เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกรรม Islamic Commercial Bank และรองรับการเปิดตลาด AEC” ดร.ครรชิต กล่าว.