แนะรัฐตั้งเขตเซฟตี้โซนอุตสาหกรรมชายแดนใต้
โดย อัสวิน ภัฆวรรณ
สำนักข่าวอะลามี่: ภาคเอกชนชายแดนใต้แนะ รัฐบาลต้องตั้ง “ เซฟตี้โซนอุตสาหกรรม ” สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เผย แรงงานฝีมือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวั่นกระทบระยะยาวต่อการลงทุน
นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ประธานคณะกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจ สภาที่ปรึกษาบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) บอกว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เศรษฐกิจครัวเรือนของประชาชนยังมีกำลังซื้อ และยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมตัวหลักคือยาง ราคาจะอ่อนตัวลงมามากก็ตาม ที่ต่างกับปี 2554 - 2555 ที่ราคาดีที่เศรษฐกิจค่อนข้างจะขยายตัวเติบโตในระดับการค้าครัวเรือน
เขายังบอกอีกว่า การลงทุน การค้า ที่ยังขยายตัวได้ดี คือร้านอาหารมุสลิม ร้านเสื้อผ้ามุสลิม และร้านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งเป็นการลงทุนเองของรายเก่าและคนในพื้นที่ ส่วนลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดเล็ก และใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ความไม่สงบในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น
“แต่เศรษฐกิจที่กลับสวนทางกันคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ที่ดิน ราคาค่อนข้างดี ตลอดจนมีการซื้อที่ดินสะสมกัน โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ การค้า เศรษฐกิจ โดยอาคารพาณิชย์ ขนาด 2 ชั้น ราคาต้น ประมาณ 2.6 – 2.8 ล้านบาท และระยะเปลี่ยนมือ 3.8 ล้านบาท ส่วนที่ดินราคาสวนยางที่ริมถนนสายต่าง ๆ ราคาประมาณ 300,000 บาท / ไร่ ซึ่งถือว่าราคาอยู่ในเกณฑ์ดีเหมือนกับพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ทั่วไป”
ส่วนมาตรการการส่งเสริมบรรยากาศเศรษฐกิจให้ขยายตัวเติบโตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการทางด้านการลงทุน โดยสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนในระยะยาวพิเศษทางด้านภาษีลดหย่อนระยะยาว ประเภท 5 ปีขึ้นไป พร้อมกับสนับสนุนสินเชื่อ โดยสนับสนุนเป็นพื้นที่พิเศษ อีกทั้งจะต้องตั้งเขตเซฟตี้โซนอุตสาหกรรม นอกจากเขตเซฟตี้โซน เขตสำคัญทางด้านการค้า ที่ได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว
“แต่ในขณะเดียวกันทางด้านแรงงานฝีมือในพื้นที่ จะขาดแคลน เพราะพวกแรงงานฝีมือได้หลั่งเข้าภาครัฐกันมาก โดยสมัครไปเป็นอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ทหารพราน (ทพ.) และตำรวจ (ตร.) เป็นต้น ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่มีประมาณถึง 60,000 คน โดยภาพรวม” นายปกรณ์ กล่าว และว่า
ในส่วนระดับปริญญาตรี ก็หันไปเป็นลูกจ้างในโครงการของรัฐ อีกทั้งเป็นบัณฑิตอาสาโครงการต่าง ๆ ไม่ได้เกิดทักษะกับที่เรียนมาในสาขานั้น ส่วนในวัยเข้าสู่แรงงาน และในวัยแรงงาน ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการลงทุนรายใหม่เกิดขึ้นมารองรับ แรงงานจึงไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย และยังได้อัตราค่าแรงที่สูงกว่า
ปัญหานี้จะต้องดำเนินการรองรับในการแก้ไข เพราะจะเกิดผลกระทบทางด้านนี้ในระยะยาว 10 - 20 ปี.