เจาะตลาดแฟชั่นมุสลิม ชูไทยศูนย์กลางอาเซียน
+++ มูลค่าตลาดโลก 2.88 ล้านล้านบาท
โดย เอกราช มูเก็ม
สำนักข่าวอะลามี่ : ธุรกิจแฟชั่นมุสลิม เป็นธุรกิจตัวใหม่ที่น่าจับตา และเริ่มเป็นที่รับรู้ในวงกว้างเมื่อไม่กี่ปีผ่านมา ขณะที่ กรมส่งเสริอมอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแฟชั่นมุสลิมมากขึ้น
ผู้มีบทบาทสำคัญ และเป็นผู้การจุดประกายให้ภาครัฐตื่นตัวคือ " สมพล รัตนาภิบาล " ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หลังจากมารับผิดชอบในตำแหน่งนี้ เขามีความฝันว่า” ในอนาคตจะทำอย่างไรให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางตลาดแฟชั่นมุสลิม “
สมพล ย้อนถึงธุรกิจเครื่องแต่งกายมุสลิมในอดีตว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการรับตัดเย็บเสื้อผ้า ตามลูกค้าต้องการ ซึ่งไม่สามารถพัฒนาธุรกิจได้ จึงมีแนวคิดว่าจะพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ให้เติบโตอย่างไร โดยมีทิศทาง มีกรอบ มีเทคนิคในการตัดเย็บ ตลอดจนสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ซึ่งนั่นหมายถึง ราชการต้องใช้งบประมาณจำนวนหนึ่งเข้ามาสนับสนุน
" หลังจากที่เราลงไปดูพื้นที่ พบว่ามีผู้ประกอบการ อาทิเช่น ย่านมีนบุรี สวนหลวง บางกะปิ นนทบุรี อยุธยา ปทุมธานี มีผู้ประกอบการรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวนมาก ที่ทำเป็นอาชีพ แต่ไม่ได้ทำเป็นระบบ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะรับจ้างตัดเย็บตามที่ลูกค้าสั่ง"
สมพล กล่าวอีกว่า ด้วยภารกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คือ การพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีขีดความสามารถให้มีการแข่งขันในตลาดได้ จึงคิดจะดึงคนกลุ่มนี้มาพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งสอดคล้องยุทธศาสตร์ของกรมฯ จึงเป็นที่มาของการเสนอแผนต่อต้นสังกัด
โดยมีเหตุผล 2 ประเด็นหลัก คือ 1.ประชากรมุสลิมทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 1,500 - 1,600 ล้านคน และ 2.ประชากรในประชาคมในเศรษฐกิจอาเซียน กว่ากว่า 600ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นมุสลิมกว่า 300 ล้านคน
ในที่สุดจากแผนบนกระดาษ สู่การจัดทำโครงการพัฒนาเครื่องแต่งกายมุสลิม ซึ่งเขาเป็นผู้จุดประกายโดยริเริ่มมาเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีสาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น อาจารย์จะผสมผสานในเรื่องของหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ เรื่องการตัดเย็บ
สมพล อธิบายถึงเทรนด์การแต่งการมุสลิมว่า การแต่งกายของพี่น้องมุสลิม แม้จะยึดตามหลักการศาสนา แต่พบว่าในแต่ละภูมิภาค สไตล์การแต่งตัว จะมีสีสันแตกต่างกัน เช่น มุสลิมในอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือ มุสลิมในไทย ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แม้ในโลกตะวันออกกลาง ก็มีวัฒนธรรมในการแต่งกายต่างกัน ซึ่งคนอาหรับเขาจะดูออกว่า การแต่งกายแบบนี้มาจากประเทศใด
" ผมมองว่าการออกแบบแฟชั่นมุสลิม ถ้าจะออกแบบได้ดี ต้องเป็นคนมุสลิม เพราะจะเข้าใจการแต่งกายและวัฒนธรรม รวมไปถึงการเข้าใจในความเชื่อได้ดี เนื่องจากความเป็นแฟชั่นมุสลิม มีความลึกซึ้งทั้งในด้านประเพณี และหลักการของศาสนา "
สมพล บอกถึงโครงการ และกล่าวถึงแผนยกระดับแฟชั่นมุสลิมในประเทศไทยว่า ในปีที่ผ่านมา ได้จัดโครงการอบรม และพัฒนาผู้ประกอบการ และดีไซเนอร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถพร้อมๆ กับการพาไปดูงานในต่างประเทศด้วย
" ปีที่ผ่านมาเรานำผู้เข้าอบรม 30 คน ไปดูงานที่ตุรกี เพราะประเทศตุรกี เป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับยุโรป มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมุสลิมหลากหลาย อีกทั้งเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ให้กับผู้ประกอบการ "
ขณะเดียวกันนี้ ได้จัดให้มีการประกวดแฟชั่นโชว์ โดยเน้นให้ผู้เข้าอบรมส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องประชาชน ทั้งมุสลิม และไม่ใช่มุสลิมได้รับทราบถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงตามกระแส ว่ามีเครื่องแต่งกายแฟชั่นมุสลิม มีรูปแบบและมีวิธีการ มีการสร้างสรรค์ ลวดลาย ซึ่งการบริโภคอุตสาหกรรมนี้ เป็นเรื่องที่แปลกกว่าแฟชั่นทั่วๆ ไป
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ยอมรับว่า เรื่องเครื่องแต่งกายมุสลิม ถือเป็นความแปลกใหม่ ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะจากปัญหาชายแดนใต้ จึงมองว่า น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา และพัฒนาในพื้นที่ สร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างเศรษฐกิจได้
" ผมกำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งเรื่องการผลิตมากขึ้น โดยให้เป็นในลักษณะของอุตสาหกรรมมากขึ้นกว่าเดิม "
สมพล วิเคราะห์โอกาสของตลาดแฟชั่นมุสลิมว่า หากเทียบกับมูลค่าการส่งออกสิ่งทอของไทย ในแต่ละปีมีมูลค่า ไม่ต่ำกว่าแสนล้าน จึงพยายามให้ผู้ประกอบการแฟชั่นมุสลิม เข้าใจถึงโลกของเครื่องแต่งกายและโลกของแฟชั่น ว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมในโลกจะออกมาในลักษณะรูปแบบ รูปทรงอย่างไร สีสัน หรือแนวโน้ม เทรนของสีเป็นอย่างไร
นอกจากนี้เราต้องเน้นของเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของการออกแบบ สีสัน รูปทรง ซึ่งมีความสำคัญ ทั้งนี้ไทยคงไม่ได้เป็นาผู้ผลิตแล้วส่งไปขาย แต่เราจะเป็นผู้ที่รับจ้างผลิตตามที่ลูกค้าสั่ง โดยเน้นงานคุณภาพและงานฝีมือที่เรามีความโดดเด่นกว่าเพื่อนบ้าน ที่เป็นผู้นำแฟชั่นมุสลิมในขณะนี้
อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสร้างแบรนด์สินค้า ซึ่งในอนาคตไทยอาจก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) ของแฟชั่นมุสลิมของอาเซียนและของโลกได้
" ผมยังไม่ได้คิดถึงขนาดนั้น แต่ต้องยอมรับว่า คนมุสลิมไทยทั่วๆไป เป็นคนเก่ง วันหนึ่งถ้ามีช่องทางและมีโอกาสที่ดี ผมมั่นใจว่าไทยอาจจะเป็นฮับด้านแฟชั่นมุสลิมได้ แต่ทั้งนี้อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนา ขณะที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรมุสลิม และองค์กรศาสนา ต้องร่วมมือกันด้วย"
สมพล ในฐานะผู้จุดประกายเรื่องแฟชั่นมุสลิมไทย บอกว่า การเข้ามาของ AEC มองว่าตลาดแฟชั่นมุสลิมจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอาเซียนเองให้ความสนใจกับมุสลิมมากขึ้น ดังนั้นเทรนด์ของแฟชั่นมุสลิมก็น่าจะโต และพัฒนาขึ้น เช่นกัน
เขามองการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นมุสลิมว่า อยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นมุสลิมในภูมิภาคนี้ ทำอย่างไรให้คนในโลกได้รู้ว่า เมื่อเขาต้องการเครื่องแต่งกายมุสลิมที่มีดีไซน์ ต้องมาที่ประเทศไทย
" สิ่งที่ผมภูมิใจลึกๆ คือในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ผมได้ทำในสิ่งที่เราตั้งใจ คือ อยากทำให้เครื่องแต่งกาย ให้คนมุสลิมได้ใช้เครื่องแต่งกายดูดี เหมาะสมกับวาระและโอกาส แต่สิ่งที่ภาคภูมิใจมากไปกว่านั้น คือเราทำให้ข้าราชการหรือนักการเมือง ให้เข้าใจว่า เครื่องแต่งกายมุสลิม มีความหลากหลาย มีดีไซน์ มีสีสัน ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น"
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับสิงหาคม 2556