Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   Inside Asia : ส่องลงทุนลาว เพื่อนบ้านอาเซียน

Inside Asia : ส่องลงทุนลาว เพื่อนบ้านอาเซียน

โดย    อาวกาศ จันทร์ภิรมย์
          รายงานสดจากประเทศลาว

            สำนักข่าวอะลามี่ :  กระแสของอาเซียน ดูเหมือนในบ้านเรากำลังเป็นเรื่องที่ได้กล่าวถึงกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน  ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล ตื่นตัวกันมากขึ้น ด้วยการเปิดงานสัมมนาและนำพานักธุรกิจ ผู้ประกอบการเดินสายไปยังประเทศต่างๆ 


             สปป.ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) ติดกับไทย เพียงลำน้ำโขงกั้นขวาง ก็เช่นกัน ผู้ประกอบการไทยเข้าไปติดต่อการค้า ลงทุนมากขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหลายคนมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่อีกส่วนหนึ่งยังตั้งคำถามกลับว่า.. ไปทำอะไรลาว, คนก็น้อย กำลังซื้อก็ไม่มากมาย ซึ่งต่างกลัวกันไปต่างๆนาๆ ขณะที่บางส่วนก็บอกว่า รออีกสักระยะให้โตกว่านี้หน่อย

            อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้ประกอบการต่างชาติ เข้าไปทำการค้าและลงทุนในลาว อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ จีน บุกธุรกิจแทบทุกด้าน

            ปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของไทย ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค เริ่มเข้าไปทำตลาดในลาวเกือบทุกแบรนด์สินค้า ทั้งนี้ด้วยความนิยมของชาวลาว และอิทธิพลทางสื่อโฆษณาที่ผ่านทีวี อีกทั้งด้วยคุณภาพสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับมาก

            สปป.ลาว มีประชากรกว่า 6 ล้านคน การจัดตั้งโรงงานการผลิตสินค้าสำหรับการป้อนตลาดท้องถิ่นจึงอาจยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในระดับอุตสาหกรรม  จึงนำไปสู่ความจำเป็นต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทย ในการหาช่องทางเพื่อเพิ่มปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค เข้าสู่ตลาดและเมืองในพื้นที่เป้าหมายให้มากขึ้นและอาจใช้ลาว เป็นฐานกระจายสินค้าไป สู่ตลาดจีนตอนใต้ กัมพูชาหรือ ยุโรป ก็ได้

            สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีศักยภาพในตลาด อาทิ สินค้าจำพวกอาหาร อาหารแปรรูป และขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ ขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร และผู้บริโภคทั่วไป ยังมีค่านิยมชื่นชอบเครื่องปรุงรสเช่นน้ำปลา ซอส กะปิ น้ำตาลทราย จากประเทศไทยเช่นกัน

            อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต้องเข้าใจในตัวตนของ สปป.ลาว ซึ่งสำคัญต่อการตอบคำถามที่ว่า ไปทำอะไรดีในลาว การนำสินค้าที่เหมาะกับตลาด หากมองภาพรวมพบว่าลาวเสมือนเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและการอนุรักษ์วัฒนธรรม  การต่อยอดการค้าสำหรับเมืองท่องเที่ยว จึงเป็นอีกด้านที่น่าสนใจ

            เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ธุรกิจที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวไม่ว่า จะเป็นสปาและนวดแผนโบราณ ซึ่งไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแขวงหลวงพระบาง จำปาสัก ซึ่งหากผู้ประกอบการไทย สามารถหารือประกอบการร่วมกับทางฝ่ายลาว ก็น่าจะทำให้การต่อยอดตลาดในธุรกิจด้านนี้ไปได้ง่าย

            นอกจากนี้ สินค้าประเภท สมุนไพร ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสปา ดูแลรักษาสุขภาพและความงาม ขณะที่ลาวมีวัตถุดิบท้องถิ่น นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้เช่นกัน หากได้ร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีและส่งเสริมการตลาดร่วมกัน ก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการไทย เติบโตในตลาดลาวได้เช่นกัน

            นอกจากนี้ธุรกิจการบริการ อาทิเช่น โรงแรม ที่พัก ในแต่ละแขวงเมืองท่องเที่ยว ในลาวมีจำนวนมาก ซึ่งผู้ประกอบการไทย น่าจะมีความชำนาญในด้านการบริหารจัดการ ก็สามารถเข้าไปช่วยดูแลในการให้บริการ แก่ผู้ประกอบการในลาว ได้อีกเช่นกัน ไม่รวมถึงวัสดุสิ้นเปลือง ที่ต้องใช้ในโรงแรม ที่พัก ของผู้ประกอบการด้านโรงแรมที่พัก ของสปป.ลาว  ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสนใจที่จะนำสินค้าที่เกี่ยวเนื่องเข้าไปนำเสนอ น่าจะเป็นอีกความน่าสนใจ

            หากมองในฐานความจริงแล้ว สปป.ลาว เป็นประเทศเกษตรกรรมเช่นเดียวกับประเทศไทย ดังนั้น การพัฒนาภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ก็ต้องอาศัยวิชาการ วิทยาการ เครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยี ก็ต้องเข้ามามีบทบาทต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ชัดเจนมากที่สุด ดังนั้นสินค้าเกี่ยวกับการเกษตรไม่ว่า เครื่องมือ อุปกรณ์เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์  ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจเช่นกัน

            สปป.ลาว จัดเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบรูณ์ มีพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการเพาะปลูก ข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน ตลาดและเทคโนโลยี ส่งผลให้คุณภาพของผลผลิตด้านเกษตรจึงยังไม่ได้มาตรฐานนัก ล่าสุดรัฐบาลลาว ได้วางเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเพาะปลูก การส่งออกและแปรรูปการเกษตรในประเทศให้มากยิ่งขึ้นกว่าการส่งออกสินค้าขั้นต้น ด้วยการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่การเกษตรใหม่ๆ การจัดหาแหล่งชลประทาน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาสินค้าให้ทันสมัยและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาสินค้าเกี่ยวกับการเกษตรเข้ามาช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

            สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ก็คงจะมองออก แต่ด้วยชาวเกษตรกรของ.ลาว เป็นคนในท้องถิ่น ยังคงมีรายได้น้อย การจะนำสินค้าเครื่องมือเข้าไปทำตลาดในลาว ต้องพิจารณาเครื่องมือ อุปกรณ์เครื่องจักร ในราคาเบาและใช้งานง่าย เพื่อให้โอกาสแก่ชาวเกษตรกรของลาว ซึ่งจุดนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาประกอบในการนำสินค้าสู่ชาวเกษตรกรของลาว 

            อย่างไรก็ดี รัฐบาลลาว ก็มีการส่งเสริมด้านนี้อย่างจริงจัง การลดการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ก็มีส่วนให้ผู้ประกอบการไทย ในการนำสินค้าเหล่านี้เข้าสู่ลาวได้ง่ายยิ่งขึ้น

            มาถึงตอนนี้ก็คงจะพอมองออกแล้วนะครับ ว่าช่องทางการค้าในลาวดังนั้นหากผู้ประกอบการSMEs สนใจเข้าไปดำเนินการค้าในลาว ก็ไม่น่าหนักใจ เพียงแต่การเริ่มต้นการค้าในลาว ยังคงอยู่ในรูปแบบสายสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลที่เชื่อถือและไว้วางใจกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการไทย จะต้องใช้ความอดทนในการเปิดตลาดสู่ สปป.ลาว

            หากผู้ประกอบการสนใจเข้าสำรวจเส้นทางการค้าในสปป.ลาว ลองมาปรึกษา และหาข้อมูลร่วมกันได้ ที่ 083 611 0404 หรือ outhtabaa@gmail.com เพื่อเดินทางการค้าสู่ สปป.ลาว ร่วมกัน

 
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนสิงหาคม 2556