กระชับมิตรคนไทยใน“อียิปต์”ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองป่วน
โดย ดลหมาน ผ่องมะหึง รายงานสดจากกรุงไคโร ประเทศอิยิปต์
สำนักข่าวอะลามี่: การประท้วงในประเทศอียิปต์ เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปี ของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีประเทศอียิปต์ ดร.มูรซี ประธานาธิบดี ผู้ซึ่งมาจากพรรคมุสลิมบราเธอร์ฮูด หรือ พรรคอิควานมุสลีมีน เมื่อปีที่ผ่านมา
ท่ามกลางขึ้นครองอำนาจของ มูรซี จะมีกลุ่มสมาชิกกลุ่มใหม่คอยสอดส่องและวิเคราะห์การทำงานของเขา และคณะรัฐบาลชุดนี้ตลอดเวลา เนื่องจากเห็นว่าตลอดปีที่ผ่านมาไม่มีความก้าวหน้า และพัฒนา อีกทั้งยังไม่น่าไว้วางใจกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยกล่าวหาว่ามูรซี บริหารงานประเทศล้มเหลวในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม
ด้วยเหตุนี้การรวมพลคนไม่เอา มูรซี ก็เกิดขึ้นโดยนัดหมายให้วันที่ 30 มิถุนายน 2556 เป็นวันนัดพบของฝ่ายค้านซึ่งจุดใหญ่ที่ไคโรมีการรวมตัวกันที่หน้าทำเนียบ และตะรีรสแคว ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุน ก็ปักหลักที่จะเป็นกำลังใจให้มูรซี ณ เขตนัศซิตี้ และอีกหลายสถานที่ทั่วประเทศอียิปต์
ขณะที่ คนไทยและนักศึกษามุสลิมไทยที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศอียิปต์ กว่า 2,000 ชีวิต ก็ยังคงเกาะติดตามข่าวกันอย่างต่อเนื่อง
แม้สถานการณ์กำลังดุเดือดที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อและโซเชียลมีเดีย แต่ในชีวิตการเป็นอยู่จริงๆของทุกพื้นที่ยังคงนิ่งเงียบ เงียบจนน่ากลัว แต่สังคมนักศึกษาไทย และคนไทยเรากลับกลายเป็นการรวมมิตรที่หนักแน่นและมีสติในการดู ฟังข่าวและการติดตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
โดยที่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้ติดตามข่าวสารเรื่องนี้มาโดยตลอดพร้อมๆกับการเชื่อมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในการร่วมกันวางแผนการเพื่อการช่วยเหลือนักศึกษาไทยหากเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นได้ในทันท่วงที
การประสานงานกันระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ กับสมาคมได้ประสานกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ขณะนี้คณะกรรมาการบริหารสมาคมฯทั้ง 15 ชีวิตได้ปักหลักทำงานรวมรวมรายชื่อนักศึกษาทั้งหมด พร้อมๆกับตั้งเขตรวมพลนักศึกษาในเขตต่างๆ ทั่วอียิปต์ที่มีนักศึกษาอยู่ดังนี้
นักศึกษาเขตไคโร 1. ที่ทำการสมาคมฯ 2. บูอุสหอพักนักศึกษา 3. ทีซะเราะ บ้านชมรมดารุสสาลาม 4. อัยน์ ชัมซ์ 5. อะร๊อบ 6. ฮัยอาชีร สำหรับนักศึกษาผู้หญิง จะร่วมตัวที่บ้านเหลือง นักศึกษาชายที่สมาคมฯ 7. ฮัยอาชีร บ้านชมรมฟุรกอนและชมรมศาสนวิทยา 8. กุบบะห์ บ้านชมรมมิฟตะห์ฯ 9. ดุ๊กกี้ ชมรมสุเหร่าเขียว 10. มาตอรียะห์ ส่วนนักศึกษาในต่างจังหวัด1. เล็กซานดาเรีย 2. ดุมยาต ทั้งหมดคือจุดรวมของนักศึกษา
นายสมศักดิ์ พระยีเกะ นายทะเบียนสมาคมฯปี 56 บอกว่าจากการหารือกับสมาชิกได้วางแผนการณ์ไว้ 2 ทาง คือ ประกาศเตือนและรวมรวมรายชื่อ ประกาศนักศึกษาให้สำรองสะเบียงอาหาร และไม่ให้ออกนอกพื้นที่ถ้าไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการประท้วง
ส่วน แผนที่สอง ได้ประชุมเมื่อคืนถ้าหากเหตุการณ์ยืดเยื้อออกไปนักศึกษาที่เก็บสะเบียงอาหารก็หมดไปในกรณีนี้ เราจะเห็นความสำคัญของนักศึกษาหญิงเป็นลำดับแรกออกจากบ้านอันตราย อีกทั้งข้าวของก็แพงขึ้น สมาคมฯก็ได้ประกาศว่า นักศึกษาต้องการความช่วยเหลือแจ้งมาได้ที่สมาคมฯได้ทุกเวลา
ขณะที่ นาย พีรพล จันทร์ปวน รองเชฟไทยในโรงแรมดุสิต เขตนิวไคโร กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมประทว้ง ว่า ยังหวั่นเรื่องความปลอดภัยแต่พอติดตามข่าวรู้สึกว่าเขาจัดระเบียบได้ดีกว่าการประท้วงเมื่อปีก่อนมาก แม้ว่าจะหวั่น แต่ทุกคนมทีนี่ แม้กระทั่งอาหรับยังมาทำงานปรกติ
นายศรยุทธ ขันธวิธิ ด้านนักศึกษาไทยจากเขต มูกอวีลูน บอกว่า ตอนแรกที่ได้ทราบข่าวก็มีความกังวลบ้างแต่ตอนนี้วันที่1 กรกฏาคม ความกังวลที่ว่าจะมีความรุนแรงนั้นยังไม่ปรากฏ เพราะต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของกลุ่มตัวเอง และยังดำเนินการประท้วงอยู่ในขอบข่ายที่ถือว่ายังไม่รุนแรงเพราะเป็นการประท้วงแบบเรียกร้องด้วยพลังมวลชนมากกว่าการใช้กำลัง
" ตอนนี้ยังไม่พบความลำบากใดๆ นอกจากของที่ขึ้นราคาบ้าง และพบว่าร้านค้าแถวๆที่พักอาศัยได้ปิดให้บริการลงชั่วคราว แต่ถ้าเหตุการณ์ยืดเยื้อคงเป็นผลกระทบกับพวกเราแน่นอน" นายศรยุทธ กล่าวและว่า
สิ่งที่เห็น นักศึกษามุสลิมไทยเรามีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น รอบคอบขึ้น มีความนิ่งและมีสติในการดำเนินการทุกอย่างไปได้อย่างดี นี่คือสิ่งที่ต้องการเห็นในสังคมนักศึกษาศาสนาที่น่าจะมีสิ่งนี้เพื่ออนาคตต่อไปในการกลับไปบริหารประเทศอย่างมืออาชีพของ “ คนมีศาสนาในหัวใจใช่แค่ในกำมือ”