หลากทัศนะนักวิชาการ หนุนยุติความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน
โดย วริษา ศิริพฤกษานุกูล
สำนักข่าวอะลามี่ : หลังจาก " ดาโต๊ะเสรี อาห์หมัด ซัมซามิน ฮาซิม " อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติภาพ ระหว่างไทยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น ได้ออกมาแถหลากทัศนะนักวิชาการ หนุนยุติความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนลง กรณีข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้นในเดือนรอมฎอน ปี 2556 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดยระบุว่า กลุ่มบีอาร์เอ็น รับปากควบคุมดูแลไม่ให้สมาชิกก่อเหตุความรุนแรงทุกรูปแบบในช่วงรอมฎอน คือ ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ถึง วันที่ 18 สิงหาคม 2556 ตลอดช่วงเดือนรอมฎอนและหลังสิ้นสุดรอมฎอนแล้ว 10 วัน รวม 40 วัน
ขณะที่ ท่าทีฝ่ายไทยต่อข้อตกลงลดเหตุรุนแรงช่วงรอมฎอน โดยไทยรับจะรักษาความปลอดภัยประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และลดการปิดล้อมตรวจค้นเชิงรุก อย่างไรก็ตาม การแถลงที่มาเลเซียเป็นการแถลงโดย ดาโต๊ะเสรี อาห์หมัด ซัมซามิน ฮาซิม ฝ่ายเดียว ไม่มีตัวแทนบีอาร์เอ็น และไม่มีตัวแทนคณะพูดคุยฝ่ายไทยเข้าร่วม
หลังจากมีการแถลงดังกล่าว มีความเคลื่อนไหวมากมายของกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง ผู้นำศาสนาในทุกศาสนา นักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อแถลงดังกล่าว ถึงแม้จะเพียงแค่ระยะเวลา 40 วัน แต่นั่นก็ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดี ซึ่งหมายถึงความสันติสุขในระยาว ล่าสุด นักวิชาการหลายท่านออกมาให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้มากมาย
นาย อับดุลสุโกร ดินอะ ผู้จัดการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีขอแสดงความยินดีกับการออกมาแถลงยืนยันการยุติหนุนเสริมการ พูดคุยสันติภาพในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ทดลองว่าเป้าหมายต่อไปที่จะเดินจะเป็นอย่างไร ในเดือนรอมฎอนนั้น เป้าหมายของผู้ถือศีลอดคือการสร้างความยำเกรงต่อพระเจ้า ผู้ที่ยำเกรงต่อพระเจ้าคือผู้ละทิ้งในสิ่งที่ไม่ดี ทำในสิ่งที่ดี
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกลัวว่า สิ่งที่ได้ประกาศไว้จะไม่เป็นตามนั้น ปัจจัยมาจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายว่าจะทำให้บรรยากาศเหล่านี้สะดุด เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายควรที่จะอดทน อดกลั้นให้มากที่สุด รวมทั้งประชาชนชาวไทยด้วย เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนที่ไม่เห็นด้วยก็ยังมีอยู่บ้าง และการเจรจาที่ทางรัฐบาลไทยได้กระทำอยู่ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะนี้กลุ่มก่อความเคลื่อนไหวมีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น พูโล กลุ่มอื่น ๆ ควรดูแนวคิดของบีอาร์เอ็น ที่ต้องการสร้างสันติภาพโดยการใช้การเจรจาพูดคุยเพื่อยุติความรุนแรง
" ตนเองนั้นคิดว่าในหากทางบีอาร์เอ็น สามารถลดเหตุความรุนแรงในช่วง 40 วันนี้ได้ ก็ถือเป็นการสร้างมวลชนได้มาก และตัวมวลชนเองจะเป็นตัวกดดันกลุ่มอื่น ๆ ให้ได้ปฏิบัติตาม แต่เราก็ยังกังวลว่า กลัวจะมีกลุ่มแฝงที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ เช่น ภาคการเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาสันติภาพ ตรงนี้เป็นสิ่งข้อควรระวัง "นาย อับดุลสุโกร กล่าวและว่า
ส่วนข้อเสนอ ของกลุ่ม บีอาร์เอ็น ที่ต้องการให้ถอนทหารนั้น ตนเองมองว่า น่าจะมีการพิจารณาจากภาครัฐเพราะถ้าไม่มีเหตุความรุนแรงเลย กำลังทหารก็ไม่มีความจำเป็น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ พลังจากภาคประชาชนที่จะร่วมกันแสดงให้เห็นถึงพลังของความต้องการด้านสันติภาพ
ด้าน อาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวด้วยว่า ผมคิดว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีเพราะเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยมีผู้แทนจากประเทศมาเลเซียเป็นคนแถลงจุดยืนในช่วงเดือนรอมฎอน ทุกคนก็มีความหวังว่าความรุนแรงจะลดลงได้จริง แต่หากถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ต้องสอบสวนดูว่ามาจากอะไร และมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและแถลงต่อสาธารณะ และหาก 40 วันนี้ ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง ผมคิดว่ามันเป็นรากฐานที่ดีของการพูดคุยครั้งต่อไป ทั้งความไว้วางใจของฝ่ายรัฐ
" ส่วนบีอาร์เอ็น ก็จะมีการยกระดับจากกลุ่มก็เหตุการณ์ความรุนแรง ก็จะกลายเป็นกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์ ส่วนข้อเสนอของ บีอาร์เอ็น ทั้ง 7 ข้อ ผมในฐานะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มองว่า รับได้ทั้ง 7 ข้อ แต่ต้องมีคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีการลงนามโดยนายกรัฐมนตรีก็สามารถออกมาเป็นแนวปฏิบัติระหว่างที่มีการพูดคุยเจรจาอยู่ในขณะนี้ เพราะถ้าทำจะเป็นการแสดงความจริงใจในการลดเงื่อนไข เช่นเดียวกับบีอาร์เอ็น ที่ลดความรุนแรง ก็ถือเป็นการแสดงความจริงจังและจริงใจเช่นเดียวกัน Wอาจารย์ประสิทธิ์ กล่าวและว่า
สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ สัดส่วนของประชากร 95 %นับถือศาสนาอิสลาม ข้อกังวลในวันนี้ของ อีก 5 %ที่เหลือคือผู้ที่นับถือศาสนาอื่นคือ เราถือว่าทุกคนเป็นคนไทย หากจะมีการยอมรับข้อเสนอทั้ง 7 ข้อของบีอาร์เอ็น ที่จะสามารถทำให้บ้านเมืองสงบสุข ผมคิดว่าพี่น้องในทุกศาสนิกของพื้นที่นี้ก็มีความต้องการแบบเดียวกันคือ สันติภาพ
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ความริเริ่มสันติภาพของเดือนรอมฎอน เป็นพัฒนาการอีก 1 ก้าวของการพูดคุยสันติภาพที่จะเป็นการตกลงและทำความเข้าใจร่วมกัน เป็นสิ่งใหม่ของประวัติศาสตร์ที่จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง ๆ เป็นการปูพื้นฐานของการพูดคุยสันติภาพตั้งแต่นี้เป็นต้นไป มันแสดงออกถึงความจริงใจของทั้งสองฝ่าย
" การพูดคุยครั้งต่อไปคงไม่พ้นเรื่องของข้อเสนอ 5 ข้อของ บีอาร์เอ็น และเพิ่มเติมเรื่อง 7 ข้อของเดือนรอมฎอน ส่วนทางฝ่ายของรัฐบาลคงเป็นข้อเสนอของการพยายามที่จะทำให้ลดความรุนแรงในระยะยาวต่อไป ที่สำคัญคือ ข้อเสนอในข้อโครงสร้างของบีอาร์เอ็น ที่จะต้องลงลึกในรายละเอียดต่อไป " ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
อย่างไรก็ตามจากข้อมูล นับจากนี้ไปจนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2556 แม้เราไม่อาจทราบได้ว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ แต่การออกมาแถลงของ ดาโต๊ะเสรี อาห์หมัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกพูดคุยสันติภาพระหว่างไทยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ บีอาร์เอ็น กรณีข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้นในเดือนรอมฎอน นั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี และเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์มากขึ้น