ติวเข้มตลาดฮาลาลหวังกระตุ้นผู้ประกอบการชายแดนใต้
สำนักข่าวอะลามี่ : ศอ.บต.ติวเข้มหัวหน้าสวน-เจ้าหน้าที่ในสังกัด บรรยายถึงพัฒนาการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยและความต้องการตลาดโลก หวังผลักดันให้ผู้ประกอบการชายแดนใต้ตื่นตัวเรื่องการผลิตสินค้าฮาลาล รองรับเวทีประชาคมอาเซียน
นายไพศาล พรหมยงค์ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ/คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนากิจการฮาลาลไทย กล่าวบรรยายถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมฮาลาลให้กับหัวหน้าฝ่าย พนักงานราชการ และลูกจ้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 200 คน ณ ห้องโถง อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยนายไพศาล กล่าวว่า ปัจจุบันอาหารฮาลาล เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้ในกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่มุสลิม เนื่องจากเป็นอาหารที่มีมาตรฐานสูง มีขั้นตอนการผลิตที่เน้นเรื่องความสะอาด ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และไม่มีสารพิษตกค้าง ส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดฮาลาลเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ สินค้าและบริการฮาลาลในลำดับต้น ๆ ของโลก การบริโภคอาหารของผู้นับถือศาสนาอิสลามจะให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารที่ถูกต้องตามศาสนาและต้องมีเครื่องหมายสินค้า “ฮาลาล” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้บริโภคยอมรับถึงมาตรฐานและขั้นตอนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักศาสนา คำว่า “ฮาลาล” เป็นคำภาษาอาหรับมีความหมายว่า“อนุมัติ” เมื่อนำมาใช้ในทางศาสนา จะมีความหมายว่า “สิ่งที่ศาสนาอนุมัติ” ซึ่งตรงข้ามกับคำว่า “ฮารอม” ที่มีความหมายว่า “ไม่อนุมัติ”หรือ สิ่งที่ศาสนาห้าม”
"การอนุมัติสิ่งใดหรือการห้ามสิ่งใดสำหรับมุสลิมทุกคนจะต้องปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตภายใต้ข้อกำหนดเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันคำสอนของศาสนาได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าการปฏิบัติตามข้อบัญญัติของศาสนา และหลีกไกลจากสิ่งที่ศาสนาห้ามจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และเชื่อว่าการปฏิบัติตัวเช่นนั้นจะได้รับผลบุญในโลกหน้า เพราะมุสลิมมีความเชื่อมั่นศรัทธาในข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าอนุมัติเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ที่สุด " นายไพศาล กล่าวและว่า
ส่วนสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าห้ามเป็นสิ่งที่มีพิษภัยและมีโทษ และอาหารที่ผลิตจากมุสลิมจะไม่ใช่อาหารฮาลาลโดยทันที ถ้าไม่ได้ผลิตตามข้อกำหนดแห่งหลักการอิสลาม
นายไพศาล กล่าวอีกว่าสำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากการประเมินในเบื้องต้น พบว่าท่ามกลางวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ยังมีโอกาสที่แฝงอยู่และเป็นแสงที่รอวันส่องสว่างได้อย่างไม่ยาก โดยเฉพาะการ ได้เปรียบจากแหล่งวัตถุดิบอาหารที่สำคัญ ทั้งปศุสัตว์ และประมง ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมฮาลาล ที่มีความแข็งแกร่งและ สู่ประเทศอาเซียน ตลาดโลกมุสลิม และแข่งขันได้ในระดับสากล