คลังรอแบงก์อิสลามแจง เหตุ พนง.ประท้วงไล่ผู้บริหาร
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สำนักข่าวอะลามี่ : คลังรอบอร์ดแบงก์อิสลามแจงสาเหตุพนง.ไล่ผู้บริหาร ก่อนหาแนวทางแก้ไข พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจกับพนักงาน
มีรายงานว่า พนักงานธนาคารอิสลาม (ไอแบงก์) รวมตัวชุมนุมประท้วงขับไล่นายธานินทร์ อังสุวรังษี ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และเตรียมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งจะมีการประชุมช่วงบ่ายวันนี้ (19 มิ.ย.)
ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้เร่งแก้ปัญหาและฟื้นฟูไอแบงก์ให้มีฐานะมั่นคง โดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) เพิ่มเป็น 9.25% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ 8.5% การระดมทุนด้วยการออกพันธบัตร 5,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 4 การปรับโครงสร้าง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งปีให้ดำเนินการได้ 6,500 ล้านบาท รวมถึงขายหนี้เอ็นพีแอลทั้ง 9,000 ล้านบาทด้วย ตลอดจนการสอบทุจริตการปล่อยสินเชื่อตามคำแนะนำของ ธปท. ทั้งลูกค้ารายย่อยและรายใหญ่ให้มีความคืบหน้า
ด้าน นายบัณฑิต โสถิตพลาฤทธิ์ อดีตประธานกรรมการไอแบงก์ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง 4 ปี และลาออกเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2556 ก็ได้มีกระบวนการตรวจสอบแก้ปัญหาหนี้เสียตามคำแนะนำของ ธปท. มาโดยตลอด แต่ไม่ได้พบว่าความผิดที่จะเอาผิดเพราะหลักประกันก็ครอบคลุม และใช้บริษัทที่ ก.ล.ต. และรายงานให้ ธปท. ทราบแล้ว
ทั้งนี้ หนี้เสียทั้งหมด 24,000 ล้านบาท เป็นหนี้เสียที่รับโอนมาจากธนาคารกรุงไทย 6,000 ล้านบาท และส่วนที่มาจากน้ำท่วม 60,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาพยายามแก้ไขให้ปรับลดลง พอมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้จัดการใหม่ ส่งผลให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อและปรับโครงสร้างหนี้ชะงัก ทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น จึงลาออกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็พร้อมจะให้ตรวจสอบการทำงานย้อนหลัง เพราะยืนยันว่าตลอดการทำงาน 4 ปี ทำให้ธนาคารมีกำไร
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาสถาบันการเงิน สิ่งสำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ไม่ควรจะออกมาพูดถึงปัญหาหนี้เสียหรือทุจริตรายวัน ถ้าเจอก็ดำเนินการตามขั้นตอน เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ก็มีเรื่องทุจริตและได้ไล่ออกไป ทั้งระดับรองกรรมการผู้จัดการและระดับจัดซื้อจัดจ้าง แต่ก็ไม่ได้มีการออกข่าว เพราะเกรงจะมีผลกระทบกับธนาคาร
ด้าน ดร.ครรชิต สิงห์สุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการไอแบงก์ เป็นตัวแทนระดับผู้บริหาร 21 คน เข้ายื่นหนังสือต่อนายเปรมกมลย์ ทินกร ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการธนาคาร ซึ่งก่อนเข้ายื่นหนังสือ ตัวแทนพนักงานประมาณ 200-300 คน ได้รวมตัวกันบริเวณหน้าธนาคารสำนักงานใหญ่ (อโศก) เพื่อแสดงจุดยืนตามข้อเรียกร้อง
โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยได้ตกต่ำถึงขีดสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารมา ทั้งในด้านผลประกอบการที่ขนาดสินทรัพย์ลดลงมากกว่า 20% นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2555 มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากที่สุดในประวัติการณ์โดยประมาณ 39,000 ล้านบาท และการขาดทุนสะสมที่มากกว่าทุนจนทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงติดลบถึง 14% โดยขาดทุนเฉพาะช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2556 ประมาณ 7,000 ล้านบาท ด้านความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อธนาคาร ส่งผลให้เกิดการถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก 29,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2555
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขใน 9 ประเด็น อาทิ ลดผลกระทบและการตกชั้นเป็นหนี้เสียของลูกค้า ด้วยการสั่งการให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องยกเลิกกระบวนการอนุมัติและเบิกจ่ายสินเชื่อที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับธนาคาร ยกเลิกการรวบอำนาจการอนุมัติตามลำดับชั้นโดยกรรมการผู้จัดการธนาคาร เพราะส่งทำให้การอนุมัติต่างๆ เกิดความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ และยกเลิกการว่าจ้างคณะที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการทุกราย เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของธนาคาร สอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการสั่งกันสำรองเป็นเงินจำนวน 7,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ธนาคารขาดทุนจนทุนติดลบโดยไม่มีความจำเป็น รวมทั้งตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการออกข่าวในทางเสียหายต่อธนาคาร โดยเฉพาะการเปิดเผยรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย มีหนี้เสียถึง 39,000 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการบริหารจัดการของธนาคาร
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่พนักงานธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBANK) ได้รวมตัวเพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารธนาคารฯลาออก เนื่องจากไม่พอใจการบริหาร ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าวว่า เหตุผลที่พนักงานรวมตัวกันเรียกร้องด้วยสาเหตุใด
" ต้องรอผลการรายงานจากคณะกรรมการ IBANK ก่อนถึงจะเข้าไปหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้ โดยในเบื้องต้น จะต้องพยายามสร้างความเข้าใจกับพนักงานมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมายอมรับว่า IBANK มีปัญหามาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้ประเมินผลงานของผู้บริหารแต่อย่างใด"
อย่างไรก็ตาม สำหรับฐานะของ IBANK ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขหนี้เสียตามแผน โดยเฉพาะการจัดชั้นหนี้ โดยก็ไม่ได้เป็นกังวลสำหรับหนี้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เพราะได้มีการตั้งสำรองหนี้จัดชั้นตามเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างครบถ้วนแล้ว