บังไฟ "สุคิริน"สืบสานวัฒนธรรมอีสานชายแดนใต้
สำนักข่าวอะลามี่ : ชาวไทยและชาวต่างชาติ กว่าหมื่นคน แห่เที่ยวชมงาน ประเพณีบั้งไฟภูเขาทอง ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลายอย่างเด่นชัด ด้านเลขา ศอ.บต. พร้อมช่วยเหลือชาวอีสานกว่า5,000 คน ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ ได้มีเอกสานรสิทธิ์ที่ทำกิน น.ส. 3 ให้ทันภายในอีก 2 ปี ก่อนก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
วันนี้ (15 มิถุนายน 2556) ที่บริเวณบ้านไอกาเปาะ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติจากประเทศมาเลเซีย กว่าหมื่นคน แห่เที่ยวชมงานประเพณีบุญบั้งไฟ ภูเขาทอง ซึ่งเป็นงานประจำปี ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 31 โดยมี พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานในการเปิดงาน ร่วมกับ นายสิทธิชัย ศักดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายวีระพงษ์ แก้วสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายบรรเจิด สกุลดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง และ นายอารืองาน ดือรามาน ผู้แทนรัฐมนตรีการค้าจากประเทศมาเลเซีย นายซูการือนัย บินอีซอ ผู้แทนอำเภอเยอร์ลี รัฐกลันตันประเทศมาเลเซีย
ซึ่งการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ในครั้งนี้เป็นการจัดงานประจำปีของชาว อ.สุคีริน จ.นราธิวาส ที่สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ได้ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอันดีงามของพี่น้องประชาชนชาวอีสานกับพี่น้องประชาชนชาวมุสลิมเข้าด้วยกัน ซึ่งตำบลภูเขาทอง มีพี่น้องชาวอีสานที่มาอาศัยตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่แห่งนี้กว่า 40 ปี โดยประชากรร้อยละ 98 เป็นชาวไทยอีสาน หรือ ประมาณ 25,000 คน ส่วนอีกร้อยละ 2 เป็นพี่น้องชาวไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม คิดเป็นจำนวน 20 หลังคาเรือน
การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟแห่งนี้นิยมจัดกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 เพื่อเป็นการบูชาพญาแกน หรือ เทพแห่งฝน เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ อาทิ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมพละศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนราธิวาส การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ชมรมชาวเหนือ ร่วมงาน
นางเนือง อินทรสุข ชาวบ้านใน อ.สุคีริน เล่าว่า ตนเองเป็นชาวจังหวัดสุรินท์ เดินทางมากับสามี เมื่อปี พ.ศ. 2518 ประทับใจความอุดสมบูรณ์ของพื้นที่ภาคใต้ จึงตั้งรกรากอยู่มากว่า 40 ปี แม้จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ก็ไม่คิดจะย้ายไปไหน เพราะไม่มีที่ไหนอุดมสมบูรณ์มากไปกว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พี่น้องทั้งพุทธและมุสลิมก็ปรองดองกันดี ช่วยเหลือเจือจุนกันไปตามประสา
ขณะที่ นายมูฮำหมัดนารี เบ็ญฮูเซ็น นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย บอกกับสำนักข่าวอะลามี่ เพิ่งมาเที่ยวชมงานประเพณีบุญบั้งไฟแห่งนี้เป็นครั้งแรก และ มีเพื่อนชาวมาเลเซียเดินทางมาร่วมงานกว่าพันคน ทุกคนรู้สึกประทับใจในความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ และความเป็นมิตรไมตรีของผู้คนที่นี่ ไม่เชื่อเลยว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีบรรยากาศและความงดงามเช่นนี้
" ตนเองติดตามข่าวจากสื่อได้รับทราบแต่ข้อมูลความรุนแรงแต่หลังจากที่เดินทางมาสัมผัสเองมันคนละเรื่องกันเลย" นายมูฮำหมัดนารี
ทางด้าน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวด้วยว่าภาพบรรยากาศวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงข่าวดี ซึ่งความจริง ข่าวดีของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่าข่าวร้าย สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเราทุกคนต้องมาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ มาเป็นเจ้าของนำสันติภาพกลับคืนมา
" วันนี้คือตัวอย่างที่ให้เห็นว่า แสงสว่างทางนำสู่สันติภาพหนีไม่พ้นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเราต้องให้ความเสมอภาค ให้เกียริต ให้ความเคารพ วันนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเราทุกศาสนิกที่มาร่วมในที่นี้ได้ร่วมกันให้เกียตริ และอยากให้ทุกคนเป็นทูตของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบอกกับพี่น้องทั่วประเทศว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่แห่งสันติสุข " พันตำรวจเอกทวี กล่าวและว่า
นอกจากนี้ ความได้เปรียบของพื้นที่คือเรามีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย เปรียบเสมือนประตูด่านแรกที่จะก้าวเข้าสู่อาเซียน และ ผมเองอยากให้พี่น้องชาวอีสานกว่า 5,000 คน ในพื้นที่แห่งนี้ได้มี น.ส.3 หรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ภายในระยะเวลา 2 ปี ก่อนก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน