ธนาคารอิสลามฯในกระแสแรงบีบ แห่งมหาสมุทรดอกเบี้ย
ผ่านมุมมอง ” ดร.อณัส อมาตยกุล“ ประธานบอร์ดชะรีอะฮ์ไอแบงก์
สำนักข่าวอะลามี่ : การกำเนิดของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อกว่า10ปีที่ผ่านมา ทำให้ระบบการเงินการธนาคารอิสลามในประเทศไทย ตื่นตัวท่ามกลางการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ พร้อมกับที่ธนาคารอิสลามฯ ต้องรับคำถามมากมายว่าปลอดดอกเบี้ยจริงหรือไม่ ส่งผลกระทบเรื่องความเชื่อมั่น
นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับนี้เราจะมารู้จักระบบการเงินแบบชะรีอะฮ์ โดยผ่านมุมมอง ” ดร.อณัส อมาตยกุล“( Dr.AnasAmatayakul) ประธานที่ปรึกษาชะรีอะฮ์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อให้สังคมกระจ่างถึงระบบการบริหารธนาคารให้เป็นไปตามหลักชะรีอะฮ์
เริ่มต้นสนทนาด้วยคำถามสั้นๆ ว่า บทบาทของบอร์ดชะรีอะฮ์ ธนาคารอิสลามมีหน้าที่อะไรบ้าง ดร.อณัส บอกว่า ในเรื่องบทบาทของบอร์ดชะรีอะฮ์นั้น เราต้องแยกระหว่างสิ่งที่เราต้องการ กับขอบเขตและหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายให้กระทำ ซึ่งบทบาทของบอร์ดชะรีอะฮ์ มีหน้าที่ให้คำปรึกษา บอร์ดชะรีอะฮ์ ไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย แต่ทั้งนี้การบริหารและกำหนดนโยบายของธนาคารควรต้องปรึกษาบอร์ดชะรีอะฮ์เพื่อให้กิจการของธนาคารฯเป็นไปตามวัตถุประสงค์
เมื่อพูดถึงประเด็นว่าเราในฐานะนักวิชาการ และเป็นผู้ศรัทธานั้นเราต้องการอะไร แน่นอนว่าเราปรารถนาและมุ่งมั่นที่จะให้ธนาคารอิสลามฯ เป็นไปตามความต้องการของประชาคมมุสลิมในทุกกระเบียดนิ้ว ส่วนนี้คือความต้องการความมุ่งมั่นและความปรารถนา แต่ขอบข่ายหน้าที่ของเราคือ เราให้คำปรึกษา แก่ผู้บริหาร เมื่อผู้บริหารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมของธนาคารส่งเรื่องมาขอคำปรึกษา บอร์ดก็จะให้คำปรึกษาเพื่อให้ธุรกรรมนั้นๆเป็นไปตามหลักชะรีอะฮ์
ทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นวิถีของนักวิชาการอิสลามอยู่แล้วทุกท่านที่จำเป็นต้องกระทำ หรือในที่นี้คือการให้คำปรึกษาในสิ่งที่ถูกต้อง
บอร์ดชะรีอะฮ์จึงมีความสำคัญอย่างแน่นอน เพราะผู้บริหารมีหน้าที่ๆจะต้องบริหารให้สอดคล้องไปกับพระราชบัญญัติซึ่งห้ามธนาคารอิสลามฯกระทำธุรกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย
ต่อคำถามที่ว่า บอร์ดชะรีอะฮ์ จะสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความเข้าใจให้กับคนทั่วไปอย่างไรเพราะยังมีผู้คนในสังคมบางกลุ่มกังขากับบทบาทของธนาคารอิสลาม
ดร.อณัส บอกว่า ที่ผ่านมาบอร์ดชะรีอะฮ์ในชุดเก่าก็เดินสายพบปะกับผู้นำมุสลิมมาแล้วทั่วประเทศ เพียงแต่ต้องยอมรับว่า สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่ใหญ่มาก อีกทั้งฝ่ายบริหารจะต้องบริหารงานให้เกิดความใกล้ชิดกับมวลชนมากขึ้นกว่านี้
ส่วนประเด็นความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนแบบอิสลามยังน้อยอยู่หรือไม่ ดร.อณัส บอกว่า หากเราเปรียบเทียบองค์ความรู้และทักษะของมุสลิมระหว่างผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ฮาลาล เราก็จะพบข้อเท็จจริงว่าเรามีทักษะ ความคุ้นเคยและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมการเงินอิสลาม หรือตามหลักชะรีอะฮ์น้อยกว่าเรื่องของผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลเป็นอย่างมาก ทั้งจำนวนของผู้รอบรู้ด้านการเงินอิสลาม หรือผู้รู้ที่จับประเด็นการเงินการธนาคารอิสลามเป็นประจำก็มีน้อยกว่าจำนวนนักวิชาการที่จับประเด็นเรื่องการอิบาดะฮ์ อื่นๆ(การนมัสการและภักดีต่อพระเป็นเจ้า)
ดร.อณัส อธิบายถึงปัญหาที่ทำให้มุสลิมขาดทักษะทางการธุรกรรมการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ นั่นคือนับจากสมัยของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซล.) การทำธุรกรรมต่างๆ หรือธุรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมสอดคล้องไปตามข้อคำสอนที่มีธรรมะครอบคลุมไว้ คือไม่หลุดกรอบของหลักชะรีอะฮ์ ทั้งนี้เป็นไปตามเป้าหมายของหลักชะรีอะฮ์ที่พระเป็นเจ้าทรงประทานลงมาเป็นวิถีธรรมแก่ลูกหลานของอาดัม เพื่อพวกเขาจะได้ไม่เบียดเบียนและเอาเปรียบกันและกันในประเด็นที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การหยิบยืมเงินทอง การลงทุน ฯลฯ
เราจึงกล่าวได้อย่างภาคภูมิว่า ธุรกรรมทางการเงินของมนุษยชาติที่มีมาอย่างยาวนานตลอดประวัติศาสตร์นั้นธรรมะในอิสลามได้เป็นวิถีให้มนุษย์ผู้ชอบธรรมใช้ปฏิบัติมาโดยตลอดจวบจนไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมาที่ชาวตะวันตกได้เตลิดไปในการเป็นอริกับวิถีธรรมะ หลุ่มหลงอยู่ในการบริโภค ในวัตถุนิยม เอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์
พวกเขาได้ออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก ทำให้การค้าและธุรกรรมการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ยุติลง เมื่อไม่มีการค้าการลงทุนแบบอิสลาม นักวิชาการอิสลามก็หยุดการพัฒนาตามทำให้การเงินอิสลามได้ระงับไปด้วย ระยะเวลาเกือบ 200 ปีของการตกเป็นอาณานิคมก็ยาวนานเพียงพอที่จะทำให้นักวิชาการอิสลามขาดทักษะในเรื่องการเงินการธนาคารทั้งแบบชะรีอะฮ์และแบบตะวันตก
“ วันนี้เราพูดเรื่องการออกศุกุก การทำตะกาฟุล(ประกันภัยตามหลักชะรีอะฮ์) เราต้องยอมรับว่าธุรกรรมต่างๆเหล่านี้ ได้หยุดหรือได้สลบไปเมื่อ 400-500 ปี มาแล้ว และได้หยุดนิ่งเลยเมื่อราว 200 ปีมานี้ เนื่องจากโลกมุสลิมไม่สามารถทำการค้าได้เพราะตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งความเชี่ยวชาญในการลงทุน ในการให้ยืม การขอสินเชื่อ การคิดกำไรของการค้าการลงทุนเหล่านี้ จึงหยุดการพัฒนาไปทั้งๆที่โลกและสังคมมนุษยชาติเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนไปตลอดไม่มีเวลาหยุดนิ่ง”
ถามว่าหลายคนตั้งข้อกังขาว่าทำไมธนาคารอิสลาม จึงไม่เอามุสลิมเข้ามาบริหาร ดร.อณัส กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นบอร์ด ต้องตอบตามหลักชะรีอะฮ์ สิ่งทั้งหลายย่อมตกอยู่ในกฏทางจริยธรรมของชะรีอะฮ์ดังนี้
1.สิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ (วายิบ) 2.สิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำ คือมุสตะฮับ หรือะมันดูบ 3. สิ่งที่ศาสนาอนุโลมให้กระทำหรือยังไม่ต้องการกระทำ เช่นการละหมาดวายิบต้องกระทำ แต่หากเราอยู่บนรถเมล์ หรือเสื้อผ้าสกปรกในขณะเข้าเวลาละหมาด เราก็ได้รับการอนุโลมให้เลื่อนการละหมาดออกไปก่อนสักระยะหนึ่งแล้วกระทำชดเชยตามมาในภายหลัง 4.สิ่งที่ศาสนาไม่ส่งเสริมให้กระทำ
และ 5. ห้ามกระทำ ห้ามบริโภค ห้ามสวมใส่ ฯลฯ ทำ เช่น ข้อห้ามเรื่องหมู ถ้าไม่มีอะไรรับประทานและจำเป็นต้องประทังชีวิต ข้อห้ามก็จะเคลื่อนไปอยู่ในข้อที่ได้รับการอนุโลมเป็นต้น
“ นี่คือเกณฑ์จริยธรรมในระบบอิสลาม ซึ่งเราจะต้องนำมาใช้พิจารณาอย่างรอบคอบ”ดร.อณัส กล่าวและว่า
การพิจารณาในการแต่งตั้งผู้บริหาร เราควรพิจารณาว่า หากแต่งตั้งผู้ไม่ใช่มุสลิม ในเวลาที่สังคมมุสลิมยังไม่สามารถผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีความพร้อมเข้ามารับอะมานะฮ์นี้ (คือบริหารให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารเป็นไปตามหลักการชะรีอะฮ์) และหากแต่งตั้งผู้ที่มิใช่มุสลิมแต่บุคคลนั้นตกลงยินยอมที่จะบริหารให้เป็นไปตามหลักชะรีอะฮ์ตามที่บอร์ดชะรีอะฮ์ให้คำปรึกษาก็สามารถกระทำได้ไปจนกว่าสังคมมุสลิมจะมีความพร้อมที่จะผลิตลูกหลานของตนออกมาเพียงพอที่จะเข้ามาแบกรับภาระและอะมานะฮ์ในการบริหารธนาคาร
“ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของบอร์ดชะรีอะฮ์แต่เพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นฟัรฎูกิฟายะฮ์ (หน้าที่โดยรวมของสังคมมุสลิม) ที่ต้องเป็นฝ่ายลุกขึ้นกระทำ แทนการเป็นฝ่ายวิเคราะห์อยู่ห่างๆเพียงอย่างเดียว (คือส่งเสริมบุตรหลานให้มีการพัฒนาไต่เต้าจนมีคุณวุฒิเพียงพอที่จะก้าวเข้ามารับอะมานะฮ์ในการบริหาร) และหากเราลงมือทำเช่นนั้นในระยะเวลาไม่นานนักธนาคารอิสลาม ก็จะมีผู้บริหารที่เป็นมุสลิม เป็นผู้มีความสำรวมตน มีศรัทธาและมีคุณสมบัติของนักบริหารชั้นนำ “
ถามว่า จากนี้ไป บอร์ดชะรีอะฮ์ จะสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ได้แค่ไหน ดร.อณัส บอกว่า ผลิตภัณฑ์ของธนาคารอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดใหม่ หรือบอร์ดเก่า ได้กลั่นกรองผลิตภัณฑ์ ให้อยู่ในกรอบของชะรีอะฮ์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบางส่วนของสังคมมีความพึงพอใจต่อรายละเอียดของผลิตภัณฑ์หรือตัวผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาอย่างสอดคล้องกับหลักชะรีอะฮ์ตัวนั้นหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องของบุคคล ของโลกทัศน์ และวัฒธรรมการบริโภคหลักการทางชะรีอะฮ์ของมุสลิมไทย
ทั้งนี้การพิจารณาในการออกผลิตภัณฑ์การเงิน เราใช้แนวทางของนักนิติศาสตร์อิสลามทั้งหลายเท่าที่มีอยู่ในอะห์ลุสซุนนะฮ์ วัล ญะมาอะฮฺ (ประชาชาติอิสลาม) และเราคงมองเห็นว่าเป็นธรรมดาที่มุสลิมบางคนไม่พึงพอใจในการปฏิบัติของพี่น้องมุสลิมบางคนทั้งๆที่การปฏิบัตินั้นอยู่ในแนวทางของนักนิติศาสตร์อิสลาม เช่นการกอดอกสูงบ้างต่ำบ้าง แตกต่างกันไป ความไม่พึงพอใจดังกล่าวเกิดขึ้นกับการท่าทางและอริยาบทของการละหมาดได้ฉันใดก็เกิดกับการประยุกต์ใช้หลักชะรีอะฮ์ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารได้ฉันนั้น
“ การออกผลิตภัณฑ์ มีผู้รับอะมานะฮ์พิจารณา ถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งได้รับการเรียนรู้ทางผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในระดับมาตรฐาน คนเหล่านี้มองผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในฐานะนักนิติศาสตร์อิสลาม (ฟุกอฮาอ์) ซึ่งต่างคำนึงถึงปรัชญาทางกฎหมายอิสลาม เป้าหมายของชารีอะฮ์ คำนึงถึงการประยุกต์ใช้กับบริบททางสังคม (อุรฟ์) และการปรับใช้กฎหมายไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม (ตัฏบีก)”
นอกจากนั้นบอร์ดชารีอะฮ์ที่ผ่านมายังได้นำประเด็นต่างๆที่มีผู้ไม่สบายใจไปสอบถามจากนักวิชาการอิสลามก็ดี บอร์ดและผู้บริหารธนาคารอิสลามชั้นนำในโลกมุสลิม และบรรดามุฟตีของชาติอาหรับก็ล้วนได้รับคำตอบที่ตรงกับที่ทางบอร์ดชะรีอะฮ์ใช้พิจารณาผลิตภัณฑ์ ดร.อณัส ตอกย้ำความน่าเชื่อของผลิภัณฑ์ และกล่าวว่า
ธุรกรรมทางการเงินทุกวันนี้เป็นธุรกรรมที่ชาวยิว เป็นผู้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามครูเสด ทำให้เขาเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ มีกลไกสำคัญ คือให้ธุรกรรมที่ผูกโยงกันและทั้งหมดดำเนินไปได้โดยมีหัวใจก็คือต้องได้กำไรจากดอกเบี้ยที่ขูดรีดจากเพื่อนมนุษย์
“ธนาคารอิสลามฯที่ดำรงอยู่ทุกวันนี้ทั่วโลกล้วนเป็นเพียงหยดน้ำบริสุทธ์ในมหาสมุทรน้ำมันของระบบธนาคารดอกเบี้ย การดำรงอยู่ได้ที่มีอยู่ทั่วโลกทั้งในมาเลเซีย ในกลุ่มประเทศอาหรับ ในปากีสถาน ในอังกฤษและประเทศไทยนี้นับว่าสังคมมุสลิมควรภูมิใจ เห็นคุณค่าและควรก้าวเข้าแบกรับอะมานะฮ์อย่างเหมาะสม เช่นหาทางพัฒนาลูกหลานของตนให้เป็นนักการเงินการธนาคารอิสลามที่มีคุณภาพ อันจะเป็นการใส่ใจในกิจการธนาคารอิสลามอย่างแท้จริง”
นอกจากนี้ เราควรมองว่า บอร์ดชะรีอะฮ์เข้ามาเป็นบอร์ดตั้งแต่เริ่มวันแรกของอายุไขของธนาคารอิสลามนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ไม่มีใครจับประเด็นการเงินการธนาคารอิสลามมาก่อน อยู่ๆ เมื่ออัลลอฮ์กำหนด ก็มีอามานะฮห์ มาให้แบกรับ ซึ่งเป็นอะมานะห์ใหม่ ที่บอร์ดชะรีอะฮ์ในยุคแรกต้องมาคิด มาทำการบ้าน และประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ดังที่อัลลอฮ์ตรัสว่า ...พระองค์ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้มาก่อน..”
ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้บริหารชุดใหม่มาปลดบอร์ดชะรีอะฮ์ชุดเก่านั้น ดร.อณัส บอกว่า ประการแรกเราควรให้ความสำคัญกับเรื่องที่จับต้องได้มากกว่าเรื่องที่คลุมเครือ ประการที่สอง ในความเป็นจริงก็คือบอร์ดชะรีอะฮ์เหล่านั้น ล้วนเป็นนักวิชาการผู้เคร่งครัด มีความตกวา (สำรวมตน) ที่ล้วนไม่มีใครยึดติดในลาภยศทางโลก
เพราะฉะนั้น เมื่อกฤษฏีการะบุว่า ที่ปรึกษาธนาคารนั้นต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี ท่านเหล่านั้นจึงได้ผ่านพ้นภาระและอมานะฮ์นี้ไป และเราก็รู้สึกเสียดายในความรู้ความสามารถและวิสัยทัศน์ของท่านเหล่านั้น
“ บอร์ดเก่าและใหม่ ได้คัดสรรมาจากผู้ที่มีความรู้ มีทักษะ มีวิสัยทัศน์ และมีความคุ้นเคยกับการเงินในหลักการของอิสลาม ซึ่ง อาจารย์อรุณ บุญชม อดีตประธานที่ปรึกษาชะรีอะฮ์ ท่านมีความรู้ มีประสบการณ์ จึงเชิญท่านให้มานั่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดชะรีอะฮ์ชุดนี้ ที่มีทั้งหมด 5 คน”
ในส่วนของผลิตภัณฑ์มีการกังขานั้น เช่น เรื่องการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต เรื่องนี้ เรากำลังปรับปรุง เช่น การออกผลิตภัณฑ์โดยใช้หลัก“บัยอ์ อัลอีนะห์”หรือการทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินให้แก่ลูกค้าผู้ขอสินเชื่อด้วยเงินผ่อนในราคาต้นทุนบวกกำไร และธนาคารใช้ตราสารทรัพย์สินอันเปรียบได้กับโฉนดที่ดินที่กรมที่ดินออกให้เพื่อแสดงกรรมสิทธ์มาเป็นตัวกลางการซื้อขายทรัพย์สินจริงนั้น เราก็กำลังพิจารณาที่จะหาระบบชะรีอะฮ์อื่นมาเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความพึงพอใจมากขึ้น
แม้ว่า บัยอ์ อัลอีนะห์ จะมีอยู่อยู่ในนิติศาสตร์อิสลามสำนักชาฟิอีย์ (ฟิกฮ์ชาฟีอีย์) แต่ถ้าไม่พึงใจ เราจะหาผลิตภัณฑ์ที่ใช้หลักการอื่นในชะรีอะฮ์มาเปลี่ยนแทน เราทำทุกอย่างไปเพื่อให้กลิมะฮ์ (พระคำ) ของอัลอฮ์สูงส่ง แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา เพราะเราอยู่ในโลกดุนยา (โลกโลกียะ)ที่เราต้องวิริยะและบากบั่นในการทำให้ธรรมะมีชัยเหนืออธรรม
และแน่นอนว่าธรรมะย่อมชนะอธรรมแต่ต้องใช้เวลาและรอคอยการอนุมัติของอัลลอฮ์...อินชาอัลลอฮ์
ตีพิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนเมษายน 2556