Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   สัมภาษณ์พิเศษ:”ธานินทร์ อังสุวรังษี”กับอนาคตธนาคารอิสลาม

สัมภาษณ์พิเศษ: ”ธานินทร์ อังสุวรังษี”
                              ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยคนใหม่

                                        ปรับโฉมบริการเชื่อมสะพานการเงินมุสลิมอาเซี่ยนรับ AEC

โดย เอกราช มูเก็ม

                  สำนักข่าวอะลามี่ :  ตลอดเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์เกี่ยวสถาบันการเงินของรัฐที่จะต้องควบรวมกิจการ ในจำนวนนี้มีพาดพิงถึง ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐส่งผลให้สั่นคลอนพอสมควร

                  หลังข่าวนี้กระพือ ปฎิเสธไม่ได้ว่า ลูกค้าธนาคารอิสลามฯก็เกิดอาการหวั่นไหว บ้างถึงกับถอนเงินก่อนกำหนด

                ท่ามกลางกระแสเรื่องของหนี้เน่าธนาคารฯที่ถูกระบุว่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 20% ของมูลค่าสินเชื่อ ยิ่งทำให้สังคมคลางแคลงใจว่า ธนาคารอิสลามจะสามารถยืนหยัดและเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่

                 หากจะย้อนการก่อตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (Islamic Bank of Thailand) ซึ่งเป็นธนาคารที่ดำเนินธุรกรรมโดยปราศจากดอกเบี้ยอยู่บนหลักการ กำไร-ขาดทุน ร่วมกันและดำเนินธุรกิจตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยมีคณะที่ปรึกษาด้านศาสนา(บอร์ดชารีอะห์)ให้คำแนะนำ ตรวจสอบ เพื่อให้ธนาคารดำเนินงานถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม
 
               ปัจจุบันธนาคารมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง

               ความจริงสถานะการเงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยวันนี้ เป็นอย่างไร นิตยสาร ดิ อะลามี่ จะพาไปหาคำตอบจาก ”ธานินทร์ อังสุวรังษี” ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยคนใหม่ ถึงคำถามคาใจ ซึ่งคนไทยทุกคนโดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมไม่ควรพลาด

อะลามี่: มุมมองหลังจากมานั่งบริหารธนาคารอิสลามฯ และมุมมองการบริหารเป็นอย่างไร

              ธานินทร์ : ก่อนเข้า-หลังเข้า ต่างกันนิดหน่อย ในแง่ของรายละเอียดก่อนเข้ามา ก็ไม่ทราบว่ามีปัญหาอยู่ในระดับไหน โดยเฉพาะเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หลังจากดูมาสักพักมั่นใจว่าจะเอาอยู่ ไม่มีปัญหา เพียงแต่จะต้องปรับวิธีการบริหารจัดการนิดหน่อย

                 ส่วนอีกมุมมองเห็นความเป็นอิสลามมีจุดแข็งเยอะ จึงอยากจะเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นธนาคารอิสลาม เพราะคำว่า ไอแบงก์ไม่ได้สื่อว่าเป็นมุสลิม อาจจะได้ในแง่ชื่อดูดี แต่ในความเป็นอิสลามก็ไม่ได้แสดงตัวตนออกมา ซึ่งเป็นหนึ่งในทิศทางที่เราจะปรับชื่อเรียก

                  นอกจากนี้ตัวธนาคารอิสลามเราดูแล้วมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศAEC ประมาณ 600 ล้านคน มีมุสลิมเกินครึ่ง ขณะที่เมืองไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวการคมนาคมเป็นศูนย์กลางของAECและเป็นศูนย์กลางทางอากาศ มีนักท่องเที่ยวเดินเข้าออกมากและเชื่อว่ามีคนมุสลิมมากกว่าครึ่ง ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของธนาคารอิสลาม ที่จะให้บริการทางการเงินกับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ด้วย

                 “ลูกค้าชาวไทยมุสลิม ยังเข้าถึงสถาบันทางการเงินน้อย ซึ่งมองอีกข้อหนึ่งก็เป็นจุดอ่อน มองอีกแง่ก็เป็นโอกาส ที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามุสลิมและให้บริการทางการเงินอย่างเต็มที่”ธานินทร์ กล่าวและว่า

                 ปัจจุบันเรามีหนี้เสีย 24,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 55 จนถึงมกราคมปี 56 ก็ยังอยู่ที่ 24,000 ล้านบาท ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่มีการปรับยอดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง ซึ่งผมควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆมาโดยตลอด สถานะโดยรวมไม่แตกต่าง น่าจะแข็งแรงขึ้นเล็กน้อยด้วยซ้ำ สภาพคล่องก็ปรกติ มีเงินเหลืออยู่ที่ 14,000 ล้านบาท  ซึ่งเรามีเพียงพอเพื่อจะให้ลูกค้าอุ่นใจได้ว่า เรามีเงินเหลืออยู่เพื่อสถานะความมั่นคงของธนาคาร

อะลามี่ : เราเข้าไปจัดการหนี้เสียและสร้างความมั่นใจให้กับลูกและสังคมอย่างไร

                ธานินทร์: หนี้เสียมีทุกธนาคาร และมีมาก่อนผมเข้า แต่เราจะไม่พูดถึงเรื่องกระบวนการบริหารจัดการก่อนหน้านี้ ล่าสุดผมได้หารือกับกระทรวงการคลัง เราจะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชียวชาญเข้ามาแก้ไขคาดว่าจะใช้เวลาแก้ไขได้ภายในไม่เกิน 3 ปี

               “จริงแล้วธนาคารไม่ได้อยู่ในสถานะฟื้นฟู แค่เราเข้าไปจัดการแผนธุรกิจในการจัดการหนี้เสีย ซึ่งมีอยู่ก่อนที่ผมจะเข้ามา ส่วนการขยายการบริการจากนี้ไปเราจะเปลี่ยนทิศทาง จากอดีตที่เราไปปล่อยให้รายใหญ่เยอะ เราก็จะเน้นลูกค้า SMEsซึ่งเป็นลูกค้าธุรกิจรายย่อยโดยเฉพาะชาวไทยมุสลิม

               ทั้งนี้ 2 กลุ่มดังกล่าวอาจมีโอกาสจะเข้าถึงแหล่งบริการแหล่งเงินได้น้อย ซึ่งธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อาจจะไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไหร่ ในเมื่อเราเป็นธนาคารอิสลาม เราก็มีหน้าที่ที่จะเติมเต็มในสิ่งเหล่านี้และเข้าถึงให้มากที่สุด

               ภาระกิจจากนี้ไปเมื่อเราเห็นช่องว่างที่ทำให้เกิดหนี้เสียคือ กระบวนการสินเชื่อจากอดีตที่ผ่านมา ไม่เข้มข้นเท่าไหร่ (ทำให้เกิดหนี้เสีย) จึงได้กระชับส่วนนี้ได้มีการปรับไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคมซึ่งได้หารือกับกระทรวงการคลังตลอดเวลา

              ส่วนการแก้หนี้เสีย ทางกระทรวงการคลัง ได้เร่งให้ดำเนินการให้รวดเร็ว ซึ่งตรงนี้ผมก็รับนโยบายมาก็จะดำเนินการให้เร็วที่สุด  นอกจากนี้มองว่า การที่ใช้ชื่อธนาคารอิสลาม จะสามารถช่วยได้มาก โดยเพิ่มช่องทางการบริการเราจะขยายธุรกิจซึ่งเรียกว่าฟรีเบส จะเน้นตู้ ATM ตู้มันนี่เอ็กเช้นท์ ให้บริการเพื่อเอาใจมุสลิมเต็มที่

             “ชาวมุสลิมที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหรือเป็นนักธุรกิจชาวมุสลิม เราจะจัดเพิ่มเจ้าหน้าที่ ที่สามารถพูดภาษาบาฮาซา ภาษาอาหรับ เป็นภาษาที่สามารถสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น นอกเหนือจากภาษาอังกฤษที่มีอยู่แล้ว

               สำหรับ ตู้ATM ก็สามารถเลือกภาษาได้ตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นข้อความที่ใช้ง่ายเหมือนตู้เอทีเอ็ม ในประเทศตนเอง ซึ่งไม่คิดว่าธนาคารไหนจะทำเพราะว่าเรามีลูกค้าหลักที่เป็นชาวมุสลิมอยู่แล้ว ซึ่งเป็นทั้งลูกค้าในประเทศและต่างประเทศที่จะสามารถใช้บริการของเราได้

              ทั้งนี้การขยายช่องทางดังกล่าวจะได้ค่าธรรมเนียมไม่ก่อให้เกิดหนี้เสีย ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเรา โดยใช้แบรนด์ความเป็นธนาคารอิสลาม ในการดึงดูดลูกค้าเข้ามามองว่าเป็นจุดแข็งที่ธนาคารอื่นเลียบแบบไม่ได้

อะลามี่: ตั้งเป้ายอดใช้บริการจากรายได้เสริม อย่างไร

                ธานินทร์  : ช่วงแรกเราต้องลองดูก่อน แต่คาดว่าในไตรมาส 4 จะพยายามขยายไปในแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งชุมชนที่มีการซื้อขายให้มากขึ้น  ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ผมเข้ามาทำ ตอนนี้เรากำลังเตรียมทีมทำงานมีการซักซ้อม มั่นใจเกิน 80% ว่าจะต้องดีแน่

              “ตอนนี้มีธนาคารทางต่างประเทศได้เข้ามาติดต่อเป็นพันธมิตรกับเราบ้างแล้วเพื่อที่จะให้ลูกค้าของเขาเข้ามาใช้บริการ คิดว่าใน 5 ปี รายได้ของค่าธรรมเนียมจะเท่าเทียมกับรายได้ที่ให้สินเชื่อเช่นเดียวกับธนาคารใหญ่ๆที่เขามีรายได้ครึ่งหนึ่งจากค่าธรรมเนียมน่าจะเป็นการสมดุลระหว่างการกระจายความเสี่ยงของแง่รายได้เอง “

อะลามี่: ข่าวธนาคารอิสลามฯค่อนข้างจะเป็นไปในทางลบคิดว่ามาจากสาเหตุอะไร

              ธานินทร์ : มองได้ทั้ง 2มุม สำหรับสถานะทางการเงินของธนาคารกลางปีที่ผ่านมาอยู่อย่างไรตอนนี้ก็ยังอยู่อย่างนั้นไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้ามองว่ากลางปีที่แล้วไม่มีปัญหา ตอนนี้ก็คือไม่มีปัญหาคือไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปจากเมื่อกลางปีที่แล้ว

             แต่ก็เข้าใจในเรื่องของการมีประเด็นเมื่อกลางปี ผมไม่แน่ใจว่าเป็นกระบวนการอะไร แต่ผมมองวิกฤตให้เป็นโอกาส เป็นการสร้างโอกาสให้ธนาคารมากขึ้น โดยจะพยายามปฏิรูปธนาคารมากขึ้นจะทำให้เห็นว่ามีอะไรที่แตกต่างและนำมาเปรียบเทียบได้ว่าของเก่าเป็นอย่างไรของใหม่เป็นอย่างไร

อะลามี่: มีแผนการระดมทุนหรือแนวทางในการออกพันธบัตรสุกุ๊กอย่างไร

                ธานินทร์ : มันอยู่ในแผนอยู่แล้ว แผนเพิ่มทุนที่เราส่งเพิ่มไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม2556ที่ผ่านมา ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงปรับ และกำลังจะส่งใหม่อีกรอบหนึ่ง ในแผนเพิ่มทุนนอกจากผู้ถือหุ้นเดิม ประกอบด้วยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ กรุงไทย และออมสินแล้ว การออกพันธบัตรสุกุ๊ก ก็เป็นแผนที่จะมาเสริมเพื่อให้ฐานทุนของเราแข็งแกร่ง เสถียรภาพของธนาคารก็จะดีขึ้นและให้สินเชื่อก็จะมากขึ้น

              “ เรามีแผนจะออกสุกุ๊กได้ภายในปีนี้ประมาณ3,000-6,000ล้านบาท ทั้งนี้ต้องดูว่ารัฐบาลจะใส่เงินเข้ามาเท่าไหร่ ซึ่งมันก็เป็นสัดส่วนเดียวกัน

             สำหรับกองทุนสุกุ๊ก มั่นใจว่ามีความต้องการสูงเพราะเป็นสิ่งที่เป็นความต้องการในตลาดและสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้มั่นใจว่าสุกุ๊กจะออกได้ทันภายในปลายปีนี้เพราะเงินเพิ่มทุนน่าจะเข้ามาประมาณกลางปีเช่นกัน ทั้งนี้สุกุ๊กจะเป็นแหล่งทุนให้เรามาเพิ่มทุนและสร้างความแข็งแกร่งให้ธนาคารได้

อะลามี่: แผนระยะสั้นและระยะยาวเราจะนำพาธนาคารอิสลาม ไปสู่จุดไหน-อย่างไร

                 ธานินทร์ :  อันดับแรกเราจะขับเคลื่อนจากคนของเราที่มีอยู่ โดยจะจัดเสริมทีมฝ่ายบริหารที่จะจัดยุทธศาสตร์ในการเจริญเติบโต ผู้บริหารข้างใน ซึ่งเราได้ปรับเปลี่ยนเข้าไปพอสมควร ซึ่งแต่ละคนต้องมีความตื่นตัว ปรับตัวตามขบวนการยุทธศาสตร์ใหม่ของธนาคาร

               “ ผมเป็นคนทำงานเร็ว และจริงจัง ฉะนั้นผู้บริหารที่จะอยู่กับผมได้ก็จะต้องปรับตัวเยอะ “

               เบื้องต้นเป็นจัดทัพใหม่ จัดกระบวนการใหม่ วิธีการที่จะให้กระชับมากเรื่องการให้สินเชื่อและปรับกระบวนการใหม่ ซึ่งตอนนี้ปรับไปแล้วและเป็นที่น่าพอใจถึง80% ซึ่งจากนี้การให้สินเชื่อจะต้องรอบครอบมากขึ้น

               นอกจากนี้การประเมินหลักประกันจะเข้มงวดการประเมิน โดยเฉพาะบริษัทประเมินสินทรัพย์ ที่ถูกขึ้นแบลคลิสไปแล้ว10แห่ง เราจะไม่ให้มาดำเนินการ ส่วนเรื่องการอนุมัติต่างๆ เราจะมีทีมงานที่ปรึกษาในการให้สินเชื่อ ซึ่งท่านเหล่านี้มีประสบการณ์ในการทำงานเยอะมากซึ่งอยู่ในวงการนี้มาถึง 20-30ปีในการทำงาน รู้เท่าทันเกมส์มาก

               สำหรับเรื่องของการแก้หนี้ ตอนนี้ทางกระทรวงการคลังเร่งมา ล่าสุดกำลังทาบทามที่ปรึกษาท่านหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงในวงการนี้เข้ามาช่วยเรา มีการทำงานอย่างซื่อสัตย์ เก่งและมีความสามารถมาก

                ส่วนหนี้เสียรายใหญ่ มีประมาณ100ราย คงไม่ยากในการแก้ตอนนี้เราได้เรียกเข้ามาคุยแล้วประมาณ 30 ราย ซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจา ใน ปี 56 เป็นการปรับขบวนการข้างใน ให้ทำงานให้มีประสิทธิภาพและตรงกับวิสัยทัศน์ของแบงก์ในการบริการ ส่วนสินทรัพย์น่าจะขยายประมาณ 50% ซึ่งเราพยายามรักษาระดับไว้ก่อน จนกว่าการเพิ่มทุน “ ปีนี้ขอจัดกระบวนการข้างใน ต้องเดินซ้อม ยังอยู่ในกรอบ ซึ่งจะเน้นรายย่อยและชาวไทยมุสลิม”

  อะลามี่: AECเปิดจะทำให้ แบงก์กิ้งต่างๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นจะต้องปรับตัวอย่างไร

              ธานินทร์ : ผมไม่ห่วงเพราะใบอนุญาติในการจัดตั้งธนาคารอิสลาม มีแค่ใบเดียวคือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ดังนั้นธนาคารที่อยู่ในต่างประเทศ หากเขาเข้ามา ก็มาเป็นพาร์ทเนอร์ชิบ ซึ่งเบื้องต้นคุยไปหลายแล้ว

              ในที่สุดสถาบันการเงินเฉพาะทาง ก็ย่อมต้องเดินบนถนนของตัวเองเหมือนกับสถาบันการเงินอื่นๆของรัฐอื่นอาทิเช่น ธนาคารออมสิน  ในอดีตก็เคยเคยปล่อยกู้แข่งแบงก์ทั่วไป นอกจากนี้ ธนาคาร ธกส. ก็ย่อมต้องมาเน้นเกษตรกร ธนาคาร ธอส. ก็ต้องตอบสนองตอบความต้องการของคนอยากมีบ้าน

              ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ก็ต้องหันกลับมารับใช้สังคม ตามเจตนาการตั้งธนาคาร เพื่อมุ่งรับใช้สังคมมุสลิมเป็นรากฐาน เฉกเช่นเดียวกัน

: หมายเหตุตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือน มีนาคม 2556