Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   อาเซียน:ไทยพื้นที่สัปประยุทธ์ของมหาอำนาจโลก

อาเซียน:ไทยพื้นที่สัปประยุทธ์ของมหาอำนาจโลก     

By: นูซันตารา อันดามัน




            สำนักข่าวอะลามี่ : รอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปี 2555 ถึงต้นปี 2556 มีผู้นำโลก ผู้นำชาติมหาอำนาจเดินทางเยือนอาเซียนกันหลายคน ทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเดินกันขวักไขว่ในย่านนี้กันเลยทีเดียว และผู้นำเหล่านั้นต่างแวะมาเยือนไทย

            มีคำถามว่าสาเหตุใดที่ผู้นำชาติมหาอำนาจเหล่านี้ ต้องเดินทางมาเยือนอาเซียนและเดินทางเยือนไทย ใช่เพราะปัญหาเศรษฐกิจของพวกเขาเพียงอย่างเดียวหรือไม่ โดยมองว่ากลุ่มประเทศอาเซียนเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง ยังสามารถแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรและตลาดที่กำลังโตได้หรือไม่

            ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่บีบรัดภายใน ทำให้ประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ต้องหาช่องทางแสวงหามูลค่าทางเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศ แน่นอนเศรษฐกิจของสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นซบเซาบางประเทศอยู่ในขั้นถดถอย

            ขณะที่เอเชียยกเว้นญี่ปุ่น เป็นประเทศกำลังพัฒนาขึ้นมาใหม่หรือตลาดเกิดใหม่ ถือธงนำโดยจีนที่ใช้เวลาไม่นาน ในการพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นไปรั้งอันดับ 2 ของโลก และยังมีแนวโน้มการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

            ด้านการพัฒนาทางทหาร จีนมีกองทัพที่เกรียงไกรและมีแสนยานุภาพ เป็น 1 ในมหาอำนาจของโลกอยู่แล้ว

            ตลาดใหม่ของเอเชียที่เนื้อหอมมากที่สุดยามนี้คงหนีไม่พ้นพม่า ที่เปิดประเทศแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยทรัพยากรที่ยังอุดมสมบูรณ์หลังปิดประเทศมานาน ทำให้มหาอำนาจหลายประเทศต้องการรุกเข้าไปในพม่า

            เดิมทีพม่ามีมิตรประเทศอย่างจีนเป็นพันธมิตรสำคัญ สัมปทานหลายอย่าง อุตสาหกรรมหนัก กิจการพลังงาน นิคมอุตสาหกรรมในทางตอนเหนือของพม่าถูกพัฒนาโดยจีน แต่ในยุคของการเปิดประเทศ พม่าพยายามรักษาระยะห่างจากจีน ด้วยอาจหวั่นว่าจีนจะเข้าฮุบกิจการและทรัพยากรหลายอย่าง

            พม่าจึงทอดไมตรีไปยังสหรัฐ ยุโรป เพื่อดึงเข้ามาคานกับจีน ทั้งผู้นำทางการเมืองระดับสูง ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ,ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เพิ่งอำลาตำแหน่งไปและผู้นำทางทหารหลายรายล้วนเดินทางเยือนพม่าในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา สหรัฐส่งสัญญาณชัดเจนต้องการเข้ามามีอิทธิพลอำนาจในภูมิภาคนี้ แน่นอนจีนที่เป็นลูกพี่ใหญ่เจ้าเดิมย่อมไม่พอใจ

            ด้านหนึ่งปัญหาข้อพิพาททางทะเลจีนใต้ ทะเลตะวันออก เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการปะทะกันระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในหมู่เกาะเซนกากุ ที่ญี่ปุ่นอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะนี้ ขณะที่จีนก็อ้างสิทธิเช่นเดียวกันโดยเรียกว่าหมู่เกาะเตียวหยู ปัญหาลุกลามบานปลายเมื่อมีการปลุกความคลั่งชาติขึ้นในจีน ชาวจีนได้ออกมาประท้วงและเผาทำลายธุรกิจญี่ปุ่นในจีนหลายแห่ง บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นในจีนต้องปิดบริษัทไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ผลกระทบตามมามากมาย

            ปัญหานี้เป็นประการหนึ่งที่ญี่ปุ่นเริ่มมองหาหนทางถอยออกจากจีน และมองหาซัพพลายใหม่ด้านอาหาร ที่เดิมญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่สูงกว่า 60 %

            ทันทีที่ ชินโซ อาเบะแห่งพรรคแอลดีพีของญี่ปุ่นชนะการเลือกตั้งและเป็นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย พร้อมกับประกาศยุทธศาสตร์เอเชีย โดยจะมีการถ่ายเททุน คน เงิน ลงมาสู่อาเซียนมากขึ้น เป็นการประกาศท่าทีสานสัมพันธ์กับอาเซียนให้กระชับมากขึ้น หลังจากที่ทุนญี่ปุ่นรุกเข้ามาในภูมิภาคนี้มานาน แต่ช่วงที่ผ่านมาขาดความกระฉับกระเฉงไปพอสมควร

            การเข้ามากระชับพันธมิตรกับอาเซียนให้แนบแน่นมากขึ้น เป้าหมายไม่ใช่เพื่อเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่กำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายสร้างดุลยอำนาจในการคานกับจีน

            เพราะอาเซียนเองหลายประเทศ มีเรื่องระหองระแหงกับจีนว่าด้วยข้อพิพาททางทะเลอยู่แล้ว ในดินแดนที่เรียกกันว่าทะเลจีนใติ้ หมู่เกาะสแปรตลีและหมู่เกาะพาราเซล ที่จีนอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะเหล่านี้ ถึงกับผนวกแผนที่รวมหมู่เกาะเหล่านี้ไว้ว่าเป็นดินแดนในการครอบครองของจีน พร้อมกับพิมพ์ลงในหนังสือเดินทางใหม่ของจีน

            ประเด็นปัญหานี้สร้างความไม่พอใจให้กับฟิลิปปินส์ เวียดนาม อย่างรุนแรง โดยฟิลิปปินส์ยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการไปแล้วและจะนำเรื่องนี้ขึ้นหารือในเวทีโลก

            ฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของสหรัฐ มีฐานทัพสหรัฐที่ตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์มานาน แม้พักหลังสหรัฐจะถอยห่างออกไปก็ตามที แต่ในรอบนี้ที่สหรัฐจะกลับมาใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงประกาศท่าทีสนับสนุนฟิลิปปินส์อย่างเปิดเผยในข้อขัดแย้งแห่งทะเลจีนใต้

            จะเห็นว่าสหรัฐ ญี่ปุ่น พยายามเข้ามาผนึกอาเซียน โดยอาศัยข้อพิพาททางทะเล ที่จะแทรกตัวเองเข้ามาเพื่อโดดเดี่ยวจีน

            ขณะที่จีนเองมียุทธศาสตร์ต่ออาเซียนเช่นเดียวกัน ในการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟลงมา โดยพร้อมทุ่มสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการสร้างรถไฟจีน-อาเซียนเชื่อมโยงกันเป็นรถไฟ"สายอำนาจ" และพร้อมทุ่มเงินสนับสนุนประเทศในอาเซียนในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก พร้อมกับเปิดรับสินค้าและบริการของเซียนเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น ด้านหนึ่งก็แสดงศักยภาพทางการทหารว่ายังเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้

            ไทยในฐานะมีพื้นที่ตั้งภูมิศาสตร์กลางอาเซียน และไม่ได้มีปัญหาข้อพิพาทกับจีน และไม่ได้มีข้อขัดเคืองกับสหรัฐ จำเป็นต้องวางท่าทีของตัวเองและท่าทีรวมของอาเซียนให้เหมาะสม

            เพราะในระยะ 5-10 ปีจากนี้ไป พื้นที่อาเซียนจะเป็นฐานแห่งการช่วงชิง กลายเป็นพื้นสัปประยุทธ์ใหม่ของมหาอำนาจ

            ช้างสารชนกัน ทำอย่างไรไม่ให้หญ้าแพรกอย่างเราต้องแหลกราญไปด้วย ระทึกใจยิ่งนัก !

------------------------