“ฑูตมาเลย์-อินโดฯ-สหรัฐ”เห็นพ้อง"เจรจา"ดับไฟใต้
สำนักข่าวอะลามี่: อ่านมุมมองประเทศเพื่อนบ้านต่อกรณีแนวทางการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ผ่านเอกอัคราชฑูตประจำประเทศไทย “มาเลเซีย-อินโดนีเซียและฑูตสหรัฐ” ต่างเชื่อมั่นว่าสันติภาพชายแดนใต้ ต้องมาจากการเจรจา
ดาโต๊ะ นาซีราห์ ฮุสเซ็น เอกอัคราชฑูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย กล่าวถึง ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของใต้ (ให้สัมภาษณ์นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับธันวาคม 2555 ) ว่า รัฐบาลมาเลเซียไม่เคยมีส่วนในการสนับสนุนของกลุ่มการกระทำความไม่สงบหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยใดๆทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน ประเทศมาเลเซียได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยทุกวิถีทางเพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นยุติในเร็ววัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาของประเทศไทย แต่จะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค
“ ทุกวันนี้ทั้งสองประเทศก็ได้มีการทำงานประสานงานกิจการชายแดนร่วมกันตลอดทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายก็พยายามจะบรรเทาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด”
ดาโต๊ะ นาซีราห์ กล่าวอีกว่า ปัญหาในภาคใต้ถือเป็นปัญหาภายในประเทศของไทยและดิฉันก็เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยมีศักยภาพในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น การสร้างความศรัทธากระตุ้นแรงจูงใจแบบซื้อในคนในสามจังหวัดก็น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหา การยอมรับในวัฒนธรรมที่แตกต่างของคนในพื้นที่ นั่นคือวิธีการเริ่มต้นที่จะสร้างความเข้าใจ มีโรงเรียนสถานศึกษาและหากได้ปรับปรุงมาจากโครงสร้างพื้นฐานของคนในพื้นที่ เช่น การนำภาษาถิ่นเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนและมาเป็นภาษาในการติดต่อราชการ ดิฉันคิดว่าเป็นหนทางที่ดีที่จะเข้าถึงปัญหาซึ่งขณะนี้ทาง ศอ.บต. ก็เดินมาถูกทางแล้ว
ขณะที่ “ลุตฟี ราอุฟ” H.E.Lutfi Rauf เอกอัครราชทูตอินโดเนเซีย ประจำประเทศไทย (ให้สัมภาษณ์นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับพฤศจิกายน 2555 )กล่าวว่า เราต้องรู้ ต้องเข้าใจ ถึงปัญหาหลักของสามจังหวัด ชายแดนใต้ หากย้อนดูประเทศอินโดเนเซีย เรามีมากกว่า 400 ชาติพันธุ์ 200 กว่าภาษา ซึ่งวัฒนธรรมของกลุ่มเหล่านี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีอีกนับร้อยศาสนาและความเชื่อ
“ รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสองฝ่ายควรหันมาเจรจา ไม่ใช่อีกฝ่ายไม่ยอมเจรจาหรือปฏิเสธข้อเสนอ เพราะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน”
จากกรณีของ จังหวัดอาเจะห์ อินโดเนเซีย เราใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาระหว่างรัฐกับกลุ่ม GAM ( Gerakan Aceh Merdeka) ไม่สามารถเผชิญหน้ากันได้ เราก็หาวิธีเอาคนกลางเป็นตัวช่วยในการเจรจาและสังเกตการณ์ เช่น ประเทศไทย ทีส่งหน่วยสังเกตการณ์สันติภาพให้กับเรา ทำให้ปัจจุบัน อาเจะห์ ไม่ใช่ปัญหาของเราอีกต่อไป
ด้าน “ คริสตี้ เคนนีย์” (Kristie Kenney ) เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาชาย แดนใต้(ให้สัมภาษณ์นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับเดือนกันยายน 2555) ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาของประเทศไทย ที่คนไทยที่จะต้องเป็นคนแก้ไข ไม่ทราบว่าคำตอบจะออกมาอย่างไร แต่มองว่า เราน่าจะสามารถคุยกันได้ เนื่องจากมันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ในการที่จะพูดคุยกันได้ จะต้องมีการสร้างบรรยากาศที่ดี และมีความปลอดภัย และรู้สึกดี ที่จะคุยกันได้
แม้ว่าเราจะเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาที่ว่า “การศึกไม่เคยจบด้วยกระบอกปืน ต้องมีการเจรจา” แต่มองว่า มันก็ง่ายอย่างที่จะพูด และยากไปกว่านั้นคือ การสร้างบรรยากาศที่จะเจรจากันให้ได้ อีกทั้งเรื่องนี้เป็นปัญหาของคนไทย ซึ่งคนไทยควรพูดกับคนไทยเอง