ซีพีเอฟเปิดโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเล-โชว์ฟาร์มปลอดโรคภายใต้ระบบBio-security
สำนักข่าวอะลามี่ : ซีพีเอฟเปิดโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยโชว์ฟาร์มปลอดโรคภายใต้ระบบBio-security พร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในโครงการรวมพลังยั้บยั้ง EMS เพื่อร่วมปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักกุ้งทะเล และ ป้องกันความสูญเสียจากโรคที่เกิดกับกุ้งขาวแวนนาไม ด้านกระทรวงเกษตรฯ เตรียมหารือมาตรการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคตายฉับพลันในกุ้ง เบื้องต้นเร่งสั่งการควบคุมและตวจสอบระบบสุขอนามัยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและฟาร์มเกษตรกรแล้ว
นายไพรัช สุนย์วีระ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส เปิดเผยว่า โรงเพาะฟักกุ้งทะเล ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำของ ซีพีเอฟ ในฐานะฟาร์มคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในโครงการรวมพลังยั้บยั้ง EMS เพื่อร่วมปรับปรุงสุขอนามัยโรงเพาะฟักกุ้งทะเล และป้องกันความสูญเสียจากโรคดังกล่าวที่เกิดกับกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของโรค EMS ที่ชัดเจน สำหรับพื้นที่ภาคใต้ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักปริมาณกุ้งที่ออกสู่ตลาดในภาคใต้จึงสามารถช่วยชดเชยปริมาณกุ้งที่หายไปและราคากุ้งในปี2556 ก็น่าจะดีขึ้นตามกลไกตลาดดีมานด์-ซัพพลาย คือเมื่อปริมาณน้อยลงกุ้งออกสู่ตลาดน้อย ห้องเย็นต่างๆก็จะเร่งสต็อกคาดว่าภาพรวมราคากุ้งในปีนี้น่าจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงต้องให้ความสำคัญกับการจัดการด้านการเลี้ยงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมบ่อ การเตรียมน้ำ การกำจัดพาหะ รวมถึงการทำความสะอาดพื้นบ่อ รวมถึงการจัดทำระบบป้องกันโรค โดยจะต้องมีระบบไบโอซีเคียว (Bio-Secure) ที่ดี และรัดกุม ตลอดจนมีการวางแผนจัดการเลี้ยงกุ้งเป็นอย่างดีเพราะกุ้งเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการส่งออก
นายไพรัช กล่าวว่า โรงเพาะฟักลูกกุ้ง เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจผลิตลูกกุ้งทะเลที่มีคุณภาพ ซึ่งซีพีเอฟให้ความสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มาโดยตลอดตั้งแต่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีและปลอดโรคอาหารที่มีคุณภาพผลิตด้วยกระบวนการเทคโนโลยีชั้นสูงมีระบบบริหารงานคุณภาพและระบบสุขาภิบาล(Hatchery Bio-security) ที่มีประสิทธิภาพทำให้ได้พันธุ์ลูกกุ้งที่ปลอดโรค แข็งแรง โตไว
" ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเอาระบบการเลี้ยงในรูปแบบของ “ซีพีเอฟ เทอร์โบโปรแกรม” ที่เน้นการเจริญเติบโตของกุ้งเป็นสำคัญ โดยเริ่มตั้งแต่การวางโครงสร้างฟาร์ม มีระบบน้ำและการบำบัดน้ำที่ดี มีระบบป้องกันโรคที่สามารถป้องกันโรคได้จริง ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ขณะเดียวกันต้องมีพันธุ์กุ้งที่ดี เลี้ยงด้วยอาหารคุณภาพสูงที่เพียงพอต่อความต้องการของกุ้ง ส่งผลให้กุ้งโตไว อัตราแลกเนื้อดี นอกจากนี้ ยังมีการใช้จุลินทรีย์เพื่อบำบัดสารอินทรีย์และของเสียภายในบ่อด้วย"
ส่วนการจัดการฟาร์มด้วยระบบไบโอซีเคียว เป็นเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งที่สามารถควบคุมป้องกันโรคจากภายนอก ไม่ให้มีการปนเปื้อนเข้ามาในระหว่างการเลี้ยงได้ทุกขั้นตอนเช่น การคลุมตาข่ายเพื่อป้องกันนก การกั้นรั้วรอบบ่อเพื่อกันปู และพาหะนำโรคอื่นๆ เข้ามาในบ่อเลี้ยงกุ้งโดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสรวมทั้งการบำบัดน้ำไม่ให้มีเชื้อโรค โดยการใช้จุลินทรีย์เพื่อบำบัดสารอินทรีย์และของเสีย
ด้านความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของฟาร์ม ได้จัดให้มีพื้นที่สำหรับบ่อพักน้ำและบ่อบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากเป็นการใช้ทรัพยากรระบบหมุนเวียนภายในฟาร์มทั้งหมด โดยไม่มีการปล่อยออกไปสู่ภายนอกโดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ จึงต้องมีพื้นที่สำหรับบ่อน้ำและมีกระบวนการจัดการน้ำและการบำบัดน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ โรงเพาะฟักซีพีเอฟกระจายในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และภาคตะวันออก มุ่งมั่นผลิตลูกกุ้งภายใต้ระบบมาตรฐานสากลต่างๆอาทิGAP, CoC, ISO 9001:2008, ISO 14001:2004, ACC, Global GAP และ CPF SHE Management System เพื่อให้ได้ลูกกุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวหลังจากเข้าเยี่ยมชมโรงเพาะฟักลูกกุ้งทะเลมาตรฐานปลอดภัยของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ว่า กระทรวงเกษตรฯจะนำข้อเรียกร้องของเกษตรกรเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐเข้าร่วมหารือร่วมกับ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหามาตรช่วยเหลือที่เหมาะสม
ทั้งนี้ จากการเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของซีพีเอฟ จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงเพาะฟักลูกกุ้งสิชล โรงเพาะฟักลูกกุ้งท่าบอน และ ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้งปะทิว ผลปรากฎว่าทั้ง 3 แห่ง มีการดำเนินการเป็นไปตามมาตรการของกรมประมงอย่างดี โดยจะสามารถออกใบรับรองสุขอนามัยฟาร์มที่ดี ตามโครงการรวมพลังยับยั้งอีเอ็มเอสได้ในเร็วๆนี้
นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวกับเกษตรกรที่มาขอรับฟังความคิดเห็นจากกระทรวงฯ เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรค EMS (Early Mortality Syndrome) จะควบคุมระบบสุขอนามัยของกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำคือโรงเพาะเลี้ยงลูกกุ้งถึงปลายน้ำคือการเข้าไปควบคุมการผลิตและตรวจเยี่ยมในฟาร์มเกษรตรกรด้วย
“สำหรับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากโรค EMS กระทรวงฯจะนำเรื่องนี้ร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ อีกครั้งหนึ่งถึ่งแนวทางการช่วยเหลือ ซึ่งเราต้องพิจารณารายละเอียดรอบทิศเพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกและภาพพจน์ของประเทศ” นายวิมล กล่าว และว่า
นอกจากนี้ กระทรวงฯยังจะจัดให้มีกรอบรมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง EMS ให้กับเกษตรกรในภาคใต้ โดยกระทรวงเกษตรฯจะเป็นเจ้าภาพจัดการในเรื่องนี้ต่อไป