Hot Stories
Home   /   Hot Stories  /   กรรมการอิสลามประจวบฯประกาศมัสยิดเขตปลอดบุหรี่

กรรมการอิสลามประจวบฯประกาศมัสยิดเขตปลอดบุหรี่

โดย   : เฉลิมขวัญ  ศรีบุญเรือง รายงาน

        สำนักข่าวอะลามี่:   กรรมการอิสลามประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์(คกอ.) ร่วมกับศูนย์กิจกรรมภาคกลาง(ลา คอมรฺ) มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย(สสม.) จัดโครงการประกาศเจตนารมณ์เป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ทั้งจังหวัด 



         นายยูซุฟ  โต๊ะวัง ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงโครงการมัสยิดปลอดบุหรี่และสิ่งมึนเมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มัสยิดทั้ง 12 มัสยิดในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปลอดจากการสูบบุหรี่ในอาคารมัสยิดและบริเวณรอบมัสยิด ตั้งแต่ชายคามัสยิด 10 เมตร บริเวณรอบมัสยิด จะพยายามใช้วิธีการรณรงค์ทำความเข้าใจโดยให้พี่น้องมุสลิมทุกคนภายใต้การนำของคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ได้ตระหนักถึงพิษภัยและตระหนักถึงผลร้ายของการสูบบุหรี่

           และตระหนักถึงสิ่งที่เคลือบแฝงอยู่ในควันบุหรี่และในมวนบุหรี่แต่ละมวน เพื่อที่จะให้เป็นการกระตุ้นไปสู่จุดของการทำให้มัสยิดปลอดบุหรี่ให้ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน

          หลังจากนั้นจะได้ขยายกิจกรรมโครงการนี้ออกไปสู่ชุมชนเป้าหมายคือพยายามลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในชุมชนมุสลิมทั้ง 14 ชุมชน 12 มัสยิดให้ได้หลังจาก 3 เดือนนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างความรับผิดชอบให้กับตนเอง การสร้างความรับผิดชอบให้กับองค์กร และขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจที่จะเกิดขึ้นจากพิษภัยของการสูบบุหรี่

          ในงานมีการ บรรยายพิเศษเรื่อง บทบาทของมัสยิดกับโครงการมัสยิดปลอดบุหรี่ โดยนายยูซุฟ  โต๊ะวัง ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และการบรรยายวิชาการเรื่อง อบายมุขในเยาวชน โดย นางมณฑา  ขนเม่น ฝ่ายงานเวชกรรม ร.พ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อร่วมตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ และต้องการให้สุขภาพของพี่น้องมุสลิมในทั้ง 14 ชุมชน จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้นดีขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่เราห่างไกลจากบุหรี่แล้ว ลด ละ เลิก บุหรี่ให้ได้



         ถึงแม้วันนี้หลายคนยังสูบอยู่แต่ก็อยากให้มีความตระหนักและตั้งใจว่าอนาคตอันใกล้นี้ฉันมีความตั้งใจที่จะงดสูบบุหรี่ให้ได้”    และ มีนายสิริวุฒิ  เหมทัต ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี โดยได้กล่าวชื่นชมถึงความเข้มแข็งขององค์กรศาสนาอิสลาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ และความตั้งใจจริงของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์(คกอ.) ที่สามารถผนึกกำลังและต่อสู้เอาชนะยาเสพติดและสิ่งมึนเมาได้อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด  และนำมาต่อยอดในเรื่องของบุหรี่และสิ่งมึนเมาทุกๆแบบ และท่านได้กล่าวถึงผลเสียของการสูบบุหรี่และผลดีของการเลิกบุหรี่ด้วย และหวังว่าโครงการนี้จะสำเร็จลุล่วงไปด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและอิสลามมิกทุกคน                                                                                                                                                   

          นายวีระ  มินสาคร  ผู้อำนวยการศูนย์กิจกรรมภาคกลาง(ลา คอมรฺ) กล่าวว่า มัสยิดเป็นสถาบันที่สำคัญในชุมชน ในแต่ละมัสยิดประกอบด้วย อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ผู้บริหารหรือกรรมการมัสยิด ทำหน้าที่บริหารจัดการรับผิดชอบต่อมัสยิด สังคม และชุมชน ด้วยความสำคัญตรงนี้ ถ้าหากเราสามารถทำให้ชุมชนรอบๆโดยมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ เกิดการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหาและข้อเสนอแนะ ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาวะ ซึ่งครอบคลุมในทุกๆด้านของชีวิตทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน 

             มัสยิดนอกจากจะเป็นสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า(ปฏิบัติศาสนกิจ)แล้วต้องเป็นสถานที่ที่สะอาด ปลอดภัย ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันที่หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เข้ามาให้ความสำคัญในการจัดการมัสยิดเพื่อให้มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาวะ มัสยิดไม่ควรมีการกระทำการใดๆ ที่ทำลายสุขภาวะในทุกด้าน เนื่องจากมัสยิดเป็นสถานที่ที่มีการพบปะของคนในชุมชน จึงพบเห็นการสูบบุหรี่ในบริเวณมัสยิดกันจนชินตา จากการสำรวจพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะสูบบุหรี่ในช่วงรอละหมาดและหลังจากละหมาดและจำนวนผู้สูบบุหรี่ส่วนหนึ่งก็เป็นกรรมการมัสยิดและอิหม่าม (บางแห่ง) สภาพดังกล่าวก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อมัสยิดและศาสนาอิสลามโดยรวม ซึ่งมัสยิดควรเป็นสถานที่ที่ปลอดจากสิ่งเหล่านี้                                                                                                                   

           ดังรายงานจากญาบิร บินอับดุลลอฮ์ กล่าวว่า ท่านเราะซูล(ซ.ล.) กล่าวว่า “ผู้ใดรับประทานกระเทียมหรือหัวหอม และสิ่งที่มีกลิ่นแรง ห้ามเข้ามัสยิดจนกว่าเขาจะได้ขจัดออกโดยการแปรงฟัน การบ้วนปากเสียก่อน” จะเห็นได้ว่าแม้แต่กระเทียมผู้ที่รับประทานยังห้ามเข้ามัสยิด แล้วสิ่งที่มีกลิ่นแรงกว่าและมีโทษมากมายทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้างอย่างบุหรี่ก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเข้ามัสยิด           

           ดังน้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องและมีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทยเพื่อการพัฒนาได้ร่วมมือกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จัดโครงการมัสยิดปลอดบุหรี่ขึ้นกับมัสยิดทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้มัสยิดร้อยละ 10ของมัสยิด ทั้งประเทศ(ประมาณ335แห่ง)เป็นเขตปลอดบุหรี่อย่างจริงจัง ผ่านกระบวนการทำความเข้าใจนำไปสู่ความร่วมมือของชุมชนต่อไป