รายงานพิเศษ มะรอโซ จันทราวดี : จากเหยื่อสู่ แกนนำ RKK
สำนักข่าวอะลามี่ : รายงานชิ้นนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและบันทึกข้อเท็จจริงเหตุการณ์รอบด้านจากการปะทะกันระหว่างกลุ่ม RKK ที่นำโดย นายมะรอโซ จันทราวดี (ผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา และ พรก.ฉุกเฉินหลายคดี) กับเจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธิน ประจำฐานปฏิบัติการทหารร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 บ้านยือลอ หมู่ 3 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาสเมื่อเวลา ตี 1 ของวันที่ 13 กุมพาพันธ์ 2556 เดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุในช่วงเย็นของวันเดียวกัน
หากผู้อ่านรายงานชิ้นนี้ ที่ไม่รู้จักนายมะรอโซ จันทราวดี ผู้เขียนแนะนำให้ไปค้นหาใน google แล้วพิมพ์ชื่อนี้ลงไป จะพบข่าวการรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐเกือบทั้งหมด พร้อด้วยข่าวการก่อเหตุ ณ ที่ต่างๆ ตามด้วยหมายจับจำนวนมาก ล่าสุดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของคุณครูชลธี เจริญชล อีกด้วยที่ได้เป็นข่าวในช่วงก่อนหน้านี้
ปฐมเหตุของความคับแค้น
นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ อายุ 53 ปี ผู้เป็นแม่ได้เล่าว่า หลังจากเหตุการณ์ประท้วงที่หน้า สภ.ตากใบ มะรอโซก็เปลี่ยนไปมาก มะรอโซกลับมาเล่าเหตุการณ์ตากใบให้คนที่บ้านฟังว่า วันนั้นตนเองโดนซ้อนทับ โดนถีบ มัดมือ ในรถบรรทุกของทหารที่จับตัวผู้ชุมนุมในคราวนั้น โดยได้ขนผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในขณะที่อยู่บนรถตัวเค้าเองพยายามดิ้นจนเชือกหลุดและได้ช่วยแก้หมัดที่ข้อมือให้เพื่อนคนอื่นๆ ที่อยู่บนรถคันเดียวกัน โดยตลอดทางเค้าก็โดนถีบโดนเจ้าหน้าที่เอาปืนทุบที่ร่างกายของผู้ชุมนุมที่อยู่บนรถตลอดทาง มะรอโซได้บอกที่บ้านเสมอว่า เค้ารู้สึกเจ็บปวดและแค้นใจมาก เพราะว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด
"ตอนกลับมาจากที่ชุมนุมใหม่ๆมะรอโซชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว ไม่เหมือนก่อนหน้านี้เลย" นางเจ๊ะมะ เจ๊นิ ผู้เป็นแม่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับลูกชายของตนเอง
ขณะที่พูดคุยกับแม่ของนายมะรอโซ สังเกตได้ว่า แม่ของนายมะรอโซ ย้ำว่ารู้สึกผิดหวังกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฎิบัติต่อผู้ชุมนุมเหตุการณ์ตากใบในครั้งนั้นเป็นอย่างมากและได้ย้ำตลอดว่า นายมะรอโซเปลี่ยนไป กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยได้คุยอะไรกับเค้า ทั้งที่จริงก่อนหน้านั้นนายมะรอโซ เป็นคนขยันขันแข็ง มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ปลอกมะพร้าวขาย นำเสื้อผ้ามาขาย ทำเรื่องการค้าขายเก่ง ฯลฯ แต่เหตุการณ์ตากใบได้ทำให้นายมะรอโซกลายเป็นคนละคน
หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดเรื่องใหญ่ในหมู่บ้านมีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถเจ้าหน้าที่ทหารที่ลาดตระเวนในหมู่บ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตทันที 10-11 คน ด้วยเหตุการณ์ในครั้งนั้น นายมะรอโซถูกศาลออกหมายจับในคดีข้างต้น จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นต้นมาชื่อของนายมะรอโซ ก็เป็นที่ต้องการของเจ้าหน้าที่ ทำให้นายมะรอโซต้องหนีออกจากหมู่บ้านโดยทันที ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของอำเภอบาเจาะ ชื่อของนายมะรอโซได้ถูกระบุชื่อเกือบทุกครั้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกกรณี ไม่ว่าในฐานะผู้ปฎิบัติการเองหรือเป็นผู้สั่งการ !!!
เพื่อไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจการกระทำของผู้ใช้ความรุนแรง เพื่อจะเข้าใจวงจรการแก้แค้นและแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการรับมือ รวมทั้งตั้งคำถามว่า ยุทธการจิตวิทยาของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีช่องว่างอย่างไร หากจะตอบด้วยกรณีของนายมะรอโซ ช่องว่างที่ว่านี้ น่าจะเป็นเรื่องการไม่ทำความเข้าใจ ความรู้สึกถึงการไม่ได้รับความยุติธรรม และเป็นเงื่อนไขที่มีนักรบรุ่นใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะกรณีเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ หากแค่เพียงในรอบทศวรรษกลุ่มขบวนการสามารถผลิตผู้ใช้ความรุนแรงได้เป็นจำนวนมาก และมีประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งในเชิงการต่อสู้กับกองกำลังของรัฐ
ทั้งนี้ น่าสนใจว่าหากเป็นประสบการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากมีส่วนร่วมทางการเมืองและเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ด้วยการประท้วง ชุมนุม กดดันผู้มีอำนาจรัฐ ได้รับผลของการสลายชุมนุมเฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ตากใบ ความรู้สึกคับข้องใจ โกรธแค้น และความรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมจะมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร มีข้อถกเถียงอย่างไร และจะสามารถนำไปสู่การสร้างแนวทางในการจัดการกับความรู้สึกที่ไม่ได้รับความยุติธรรมได้อย่างไร
ครอบครัวมะรอโซ
การตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ก็ได้ทำให้ครอบครัวของมะรอโซ ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามและบุกค้นบ้านอยู่บ่อยครั้ง นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังว่า ตนเองยังเคยโดนจับข้อหามีกระสุนปืนวางอยู่บนกล่องน้ำตาลทรายในบ้าน หลังจากเจ้าหน้ามาค้นบ้านทำให้แม่โดนจับไปที่ค่าย แต่ขังได้ไม่นานก็ปล่อยตัวกลับมา และน้องชายของนายมะรอโซก็โดนขังมาแล้ว 21 วัน ในข้อหาขว้างระเบิด แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดได้ ก็ต้องปล่อยตัวออกมา แม่ของนายมะรอโซ วิเคราะห์ให้ฟังว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อครอบครัวก็เพื่อต้องการบีบบังคับให้นายมะรอโซออกมามอบตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ
สำหรับน้องชายของนายมะรอโซ ที่มีใบหน้าเหมือนกับพี่ ก็เคยโดนเจ้าหน้าที่ทหารจับในหมู่บ้านมาแล้ว โดยเจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นนายมะรอโซ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วันหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้น้องชายหมอบลงกับพื้นและจะลั่นไกยิง แต่ผู้เป็นแม่ตะโกนออกมาว่านั้นคือน้องชายของนายมะรอโซ ขณะที่ผู้เป็นแม่บอกให้ฟังและชี้นิ้วไปทางน้องชายของนายมะรอโซที่กำลังยืนละหมาดใกล้ๆ แล้วกล่าวเบาๆว่า "น้องชายของนายมะรอโซแกสติไม่ค่อยดี" ทำไมต้องมาทำอย่างนี้อีก ส่วนรุสนีผู้เป็นภรรยากล่าวเสริมและย้ำว่า น้องชายหน้าเหมือนพี่ชายจริงๆ สองคนพี่น้องหน้าเหมือนกันมาก
นางเจ๊ะมะ เจ๊ะนิ ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังอย่างออกรสว่า ทหารมาค้นที่บ้านบ่อยมาก หลังๆ นี้หากว่าฉันอยู่ ทหารจะไม่ค่อยเข้ามาในบ้าน จะยืนอยู่หน้าบ้าน เพราะฉันจะด่าไม่หยุด จะด่าตลอด ทำไมต้องมาค้นบ้านทุกวันด้วย แต่หากว่าฉันไม่อยู่ทหารก็จะเข้ามาในบ้าน หากพิจารณาประสบการณ์ของครอบครัวนายมะรอโซ ดูเหมือนว่าหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐมาเยี่ยมบ่อยกว่าญาติมิตรซะอีก
สำหรับการเสียชีวิตครั้งนี้ของนายมะรอโซ ผู้เป็นแม่รับได้ ไม่ได้กล่าวโทษเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเป็นการต่อสู้กันทั้งสองฝ่ายที่มีอาวุธ แต่ก็เชื่อและมั่นใจว่าลูกของตนเองเป็นคนดี แต่เหตุการณ์ตากใบต่างหากที่ทำให้ลูกเค้าต้องเปลี่ยนไปจนกระทั่งเสียชีวิต ทั้งๆ ที่การชุมนุมวันนั้นมะรอโซแค่เดินทางผ่านไปยังเส้นทาง ที่มีการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด
ชีวิตรัก นักรบ
ปี 2548 หลังจากเหตุการณ์ตากใบหนึ่งปีให้หลัง นายมะรอโซ ก็ได้ตัดสินใจแต่งงานกับ รุสนี แมเราะ อายุ 25 ปี ภรรยาของนายมะรอโซ ได้เล่าว่า ก่อนตัดสินใจแต่งงานกับนายมะรอโซ มะรอโซได้บอกกับตนแล้วว่าชีวิตของเค้าเป็นอย่างไร มะรอโซบอกว่า ตนเองนั้นมีหมายจับอยู่หลายคดีและชีวิตต้องหลบๆ ซ่อนๆ จะยอมแต่งงานกับเค้าไหม ? คำตอบของนางรุสนี ก็คือ ได้ตอบตกลงแต่งงานและครองรัก ไม่ได้ครองเรือน ตลอดระยะ 7 ปีที่ผ่านมา...
การดำเนินชีวิตคู่ของนายมะรอโซ ช่วงแรกๆก็ต้องไปใช้ชีวิตที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ไปได้ไม่นาน ก็กลับมาบ้าน เพราะมาเลเซียก็ไม่สามารถทำงานเลี้ยงชีพได้ดีนัก ประกอบกับไม่มีญาติพี่น้องอยู่ที่มาเลเซีย ทำให้ทั้งสองต้องเดินทางกลับมาที่บาเจาะ บ้านเกิดอีกครั้ง แต่สำหรับนายมะรอโซ แน่นอนไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ เพราะมีหน่วยทหารและเจ้าหน้าที่มาตรวจค้นที่บ้านเกือบทุกวันตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่ง เที่ยงคืนของวันที่ 13 กุมพาพันธ์ หลังจากที่มะรอโซเสียชีวิตแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังมาบุกค้นบ้านนายมะรอโซ
"เจ้าหน้าที่จะมาค้นบ้านเสมอและฝากบอกที่บ้านว่าให้บอกนายมะรอโซ ให้มามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ฉันก็เคยพูดกับเค้าว่าจะมอบตัวไหม เค้าก็ตอบว่า เค้ามีหมายจับจำนวนมาก ถึงมอบตัวก็ไม่คุ้มและคงไม่มีโอกาสได้ออกมา" รุสนี แมเราะกล่าวทิ้งท้าย
ก่อนหน้านี้ประมาณ 5 วัน มีเจ้าหน้าที่ทหาร 4 คันรถ มาบุกค้นที่บ้านถือว่าเป็นครั้งล่าสุดก่อนที่มะรอโซ จะเสียชีวิต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากนายมะรอโซ โดนเจ้าหน้าที่ตามล่าอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนถึงขั้น กล่าวว่า"หากบาเจาะไม่มีมะรอโซ พื้นที่นี้จะสงบสุขทันที"
และตลอดระยะเวลาตามล่าตัว บุกค้นบ้านนายมะรอโซอย่างหนัก รุสนีก็ได้มีพยานรักกับนายมะรอโซ สองคน เด็กผู้หญิงอายุ 6 ขวบ และเด็กผู้ชายอายุ 17 เดือน มะรอโซกลับมาเยี่ยมลูกเดือนละสามครั้ง ครั้งล่าสุดนายมะรอโซได้มาเยี่ยมตอนกลางคืนของวันจันทร์ที่ 11 กุมพาพันธ์ สองคืนก่อนเกิดเหตุ ซึ่งครั้งนั้นอยู่ได้ไม่นานเท่าไร แต่การติดต่อครั้งนั้นไม่ใช่ครั้งสุดท้าย การสื่อสารทางเสียงเกิดขึ้นเมื่อคืนวันเกิดเหตุเวลาประมาณสามทุ่ม
"อาแบได้โทรมาคุย ฉันก็ถามว่าวันนี้จะกลับมาไหม อาแบบอกว่าคืนนี้มีงานนิดหน่อย และไม่แน่อาจจะกลับมาบ้าน"
ทว่าเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นรุสนีได้ยินเสียงโทรศัพท์ปลายสายจากทหารที่คุ้นเคยกันดี ได้โทรมาบอกว่า นายมะรอโซอาจจะตายแล้ว และจะโทรมาบอกอีกครั้ง หกโมงเช้ารุสนีก็ได้รับโทรศัพท์อีกครั้ง ยืนยันว่านายมะรอโซได้เสียชีวิตแล้ว รุสนีได้เดินทางไปรับศพที่โรงพยาบาล หากแต่ทว่าศพของนายมะรอโซ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้รับกลับไป เพราะว่ามีผู้ใหญ่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องการดูศพจำนวนมาก ทำให้กว่าได้รับศพกลับบ้านก็ตอน 11 โมงแล้ว
สำหรับบรรยากาศพิธีการฝังศพของนายมะรอโซ มีคนจำนวนมากมาร่วมงานศพและกล่าวสรรเสริญ พร้อมทั้งอวยพรให้ศพของนายมะรอโซ แต่ในเย็นวันนั้นหลังจากงานศพของนายมะรอโซ เด็กวัยรุ่นในหมู่บ้านก็โดนเจ้าหน้าที่รัฐจับไป 3 คน หลังจากเจ้าหน้าที่มาปิดล้อมหมู่บ้านอีกครั้ง
พิธีฝังศพก็เป็นไปในตามแบบฉบับของนักต่อสู้ ก็คือการไม่อาบน้ำศพและไม่ละหมาดศพ ฝังโดยทันที และเป็นไปตามความต้องการของผู้ตายที่ได้กำชับภรรยาใว้ ก่อนหน้านี้
รุสนี ได้เล่าให้ฟังว่า มะรอโซเป็นคนที่เกรงใจคน ไม่ยอมไปหลบซ่อนหรือขอนอนบ้านชาวบ้าน เพราะเกรงว่าจะทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน มะรอโซก็จะผูกแปลนอนในป่าเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตัวเราก็สงสารเพราะแฟนเหนื่อยมาก ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แฟนทำงานหนักมากและมีความตั้งใจอย่างมาก
มะรอโซ เค้ามักย้ำกับภรรยาเสมอว่า อยากให้ลูกสาวเรียนศาสนาเยอะๆ หากเป็นไปได้ อยากให้เรียนถึงต่างประเทศ โดยจะให้ความสำคัญกับเรื่องของศาสนามากๆ เพราะอยากให้ลูกทั้สองมีการศึกษาและเรียนสูงๆ เท่าที่ลูกจะเรียนได้
มะรอโซ เป็นที่รักครอบครัวมาก อยากให้ครอบครัวสบายและเป็นคนที่ตามใจลูกมากๆ ลูกอยากได้อะไรก็พยายามหามาให้ มะรอโซเป็นคนที่รับผิดชอบสูงมากต่อครอบครัว แม้ว่าชีวิตของเค้าเองจะลำบากก็ตาม เค้าได้วางแผนเรื่องครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษาของลูกๆ เพราะว่าต้องการให้ลูกเรียนสูงๆ โดยเฉพาะทางด้านศาสนา
หลังจากทราบข่าวจากทหารในพื้นที่ ที่ได้โทรมาบอกตอนเช้าว่า นายมะรอโซ ได้เสียชีวิตแล้ว ก็เหมือนว่าภารกิจของนายมะรอโซ เสร็จสิ้นแล้ว...
รุสนีได้กล่าวว่า เธอภูมิใจกับสามีอย่างมากที่ได้ทำหน้าที่ดูแลครอบครัวได้ดีเสมอมา และการเสียชีวิตครั้งนี้เธอไม่เสียใจเลย เพราะภรรยาของนายสุไฮดี ตะเห ผู้เป็นเพื่อนสนิทของนายมะรอโซ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงตาย ก็ไม่เสียใจ
คำถามสุดท้ายจากผู้เขียน นายมะรอโซทำเพื่ออะไร ?
รุสนี ภรรยานายมะรอโซ ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าทำเพื่ออะไร ? พร้อมรอยยิ้มและคว้ามือไปจับตัวเด็กผู้หญิงที่กำลังนั่งเล่นซนอยู่ข้างๆ กับของเล่นชิ้นใหม่
ขอบคุณข้อมูลและ ที่มา: http://www.pataniforum.com/news_detail.php?news_id=119&fb_action_ids=10200658249996772&fb_action_types=og.likes&fb_source=aggregation&fb_aggregation_id=288381481237582