คลังขีดเส้นแก้ไอแบงก์-เอสเอ็มอี ใน6เดือน
สำนักข่าวอะลามี่ : สศค.ขีดเส้นอิสลามแบงก์และเอสเอ็มอีแบงก์สร้างหนี้เน่าให้เป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือน ก่อนใส่เงินเพิ่มทุน พร้อมส่งทีมติดตามผลงานทุกสัปดาห์
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)ส่งทีมพิเศษเข้าไปติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยกำหนดระยะเวลาในการติดตามผลงาน 6 เดือน ก่อนที่ สศค.จะเสนอให้กระทรวงการคลังเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่อีกระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (11 ก.พ.) ตนได้หารือกับผู้บริหารอิสลามแบงก์ หลังจากที่ระดับหนี้เสียอยู่ในเกณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2555 ปรับมาอยู่ที่ 24,000 ล้านบาทหรือ 20% ของสินเชื่อคงค้าง ซึ่งทางผู้บริหารก็ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่คาดว่า จะทำให้ธนาคารสามารถฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เขากล่าวด้วยว่า สถานะในปัจจุบันของอิสลามแบงก์นั้น มีปัญหาในเรื่องของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง แต่ในเรื่องของเงินฝากที่นำมาใช้ในการปล่อยสินเชื่อต่อนั้นไม่มีปัญหา ซึ่งทางสศค.ก็ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า ก่อนที่จะใส่เงินเพิ่มทุนให้ ทางสศค.และสคร.จะมีทีมเข้าไปช่วยฟื้นฟูเป็นรายวัน เพื่อให้แบงก์สามารถดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างหนี้ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูตามตัวเลขและแผนต่างๆ ที่ทางผู้บริหารเสนอมา ก็มั่นใจว่า จะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ตามที่ตั้งเอาไว้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการจัดกำลังคนที่คิดว่า จะเป็นกำลังสำคัญในการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ได้
"หนี้บางส่วนได้มีการฟ้องร้องไปแล้ว หนี้บางส่วนก็อยู่ระหว่างการเจรจา และหนี้บางส่วนก็มีการเซ็นสัญญาในการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ดังนั้น เขาก็เดินหน้าต่อไป เราก็จะติดตามการดำเนินการตามแผนอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์ และสำหรับทีมงานของเราที่ส่งเข้าไปถ้าสามารถช่วยดำเนินการได้เลย ก็จะนำเสนอทางผู้บริหารของกระทรวงพิจารณาหากต้องการความช่วยเหลือหรือเห็นชอบเป็นรายวัน"
สำหรับการดำเนินธุรกรรมสินเชื่อของธนาคารนั้น ยังดำเนินอยู่ปกติ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อรายย่อย แต่หากเป็นการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ จะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น สำหรับด้านเงินฝากนั้น ยืนยันว่า ไม่มีปัญหาเงินฝากไหลออกมีเพียงเงินฝากของบริษัทไปรษณีย์ไทยเท่านั้น ที่มีการถอนเงินฝากออกตามปกติ 400 -500 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในกิจการ
"สินเชื่อรายย่อยทางไอแบงก์ยืนยันว่ายังดำเนินการปล่อยตามปกติ ส่วนสินเชื่อรายใหญ่นั้นจะพิจารณาอย่างเข้มงวดให้มากขึ้น ด้านเงินฝากไม่มีปัญหา ดังนั้น ยืนยันว่าปัจจุบันสภาพคล่องของทางไอแบงก์ไม่มีปัญหาและที่เป็นข่าวว่าเงินฝากไหลออกทุกวันนั้นไม่จริง ตามที่ได้รับรายงานมีเงินฝากไหลเข้ามาด้วยซ้ำ" นายสมชัย กล่าว
สำหรับสถานะทางการเงิน ณ สิ้นปี 2555 อิสลามแบงก์มีสินทรัพย์ จำจวน 130,831 ล้านบาท หนี้สิน จำนวน 126,499 ล้านบาท สินเชื่อคงค้างจำนวน 109,490 ล้านบาท หนี้เสีย จำนวน 24,730 ล้านบาท หรือประมาณ 22% และ BIS Ratio อยู่ที่ 4.6%
ในส่วนของการแผนฟื้นฟูของทางธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)หรือเอสเอ็มอีแบงก์นั้น ก็ให้เดินหน้าต่อไป โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการภายใน 6 เดือนเช่นเดียวกัน
ทีมา: กรุงเทพธุระกิจออนไลน์