จับตาธุรกิจการเงินชารีอะฮ์ ตลาดการเงินที่กำลังมาแรง
เอกราช มูเก็ม รายงาน
สำนักข่าวอะลามี่ : จับตาธุรกิจการเงินระบบชารีอะฮ์ ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในอังกฤษและยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเวทีประชาคมอาเซียนในอีก2ปีข้างหน้า ธุรกิจการเงินชารีอะฮ์ จะก้าวสู่การแข่งขันตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ ว่าเป็นธนาคารของมุสลิม แต่ในความเป็นจริงธนาคารอิสลาม คือระบบการเงินแบบชารีอะฮ์ ที่นานาชาติ หรือทั่วโลกเขารู้จักมานานแล้ว ธนาคารอิสลามฯจึงไม่ต่างจากสถาบันการเงินอีกรูปแบบหนึ่งที่คนไทยจำนวนมากอาจไม่คุ้นเคย แต่ธุรกิจชารีอะฮ์ ในต่างประเทศกำลังบูมขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันธนาคารอิสลามฯ หรือไอแบงก์ ยังเปิดบริษัทลูกดำเนินธุรกิจลิสซิ่งชื่อ “ อะมานะฮ์ลิสซิ่ง “ ดำเนินธุรกิจลิสซิ่งภายใต้ระบอบชารีอะฮ์ เช่นกัน
ธุรกิจการเงินแบบชารีอะห์ ยังครอบครุมถึง ธุรกิจประกันภัย หรือ ตะกาฟุ้ล ที่หลายบริษัทกำลังขยายตลาด เปิดช่องทางการขยายโดยเจาะตลาดมุสลิม อาทิเช่น เมืองไทยตะกาฟุ้ล อาคย์ตะกาฟุ้ล ฟินันซ่า ตะกาฟุ้ล หรือ อื่นๆ
ขณะที่ตะกาฟุ้ล ในประเทศแถบยุโรปพบว่าขยายตัวอย่างมาก นักวิเคราะห์การเงิน มาองว่า ตลาดการเงินมุสลิมเป็นตลาดที่กำลังเฟื่องฟู คาดว่าปีนี้ จะมีอัตราการเจริญเติบโตถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดการณ์ว่า ใน 20 ปีข้างหน้าขนาดของตลาดการเงินมุสลิมจะคิดเป็นร้อยละ 20 ของตลาดการเงินโลก
Manfred Dirrheimer ผู้ก่อตั้งบริษัทประกันเยอรมัน Facility for Worldwide Unit Insurance (FWU) กล่าวว่า FWU พัฒนาประกันที่เรียกว่า ตะกาฟุล (takaful) ขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับอัล-กุรอาน และเปิดขายในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และคูเวต เงินประกันจากผู้ทำประกันจะถูกนำไปลงทุนในธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎชารีอะฮ์
ขณะที่ “อาลิยองส์” บริษัทประกันภัยของเยอรมัน ก็เปิดวินโดว์ฮาลาลแห่งแรกของโลกตะวันตก ล่าสุดได้ออกประกันตะกาฟุล ในอินโดนีเซีย และกำลังขยายตัวในภูมิภาคเอเชีย
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัท สลามฮาลาล (Salaam Halal) บริษัทประกันตามหลักชารีอะฮ์ ในอังกฤษ ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับชาวมุสลิมอังกฤษ ผู้ขับขี่รถยนต์สามารถกู้ซื้อรถยนต์แบบถูกหลักอิสลามได้ โดยมีเป้าหมายที่ลูกค้าชาวมุสลิมอังกฤษ 1.6 ล้านคน
อับดุลอาซิส ฮามัดอัลโจมัยฮ์ ประธาน บริษัทประกันสลามฮาลาล กล่าวว่า การเปิดตัวสลามฮาลาล ซึ่งเป็นบริษัทประกันอิสระที่สอดคล้องกับหลักชารีอะห์แห่งแรกของอังกฤษ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการเติบโตของอิสลามมิกไฟแนนซ์ ในประเทศนี้
สำหรับประเทศไทยก็ตื่นตัวไม่น้อย แม้ว่าจะตื่นตัวอยู่ในกลุ่มแคบๆ โดยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เปิดตัว FTSE SET Shariah Index นับเป็นการก้าวเข้าสู่ตลาดของตราสารที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ที่กำลังเติบโต
โดยดัชนีใหม่นี้จะช่วยเพิ่มเครื่องมือทางการเงินให้กับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการออกตราสารการลงทุนที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะ (Structured investment products) ที่เป็นไปตามหลักศาสนาอิสลามในระดับโลกอีกด้วย
ขณะที่บริษัทเอกชน อย่าง บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) ปัจจุบันบริษัทมีกองทุนจำนวนมากกว่า100 กองทุน โดยในจำนวนดังกล่าว มีกองทุนที่บริหารจัดการตามหลักการศาสนาอิสลาม (หลักชารีอะฮ์) มีอยู่ 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีอิสลามิก หุ้นระยะยาว (MIF-LTF) กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีอิสลามิกฟันด์ (MIF) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ Master Fund นโยบายการลงทุนในกองทุนรวม MIF ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นที่บริษัทบริหารอยู่ แต่แนวโน้มเชื่อว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง
นี่คือการสำรวจธุรกิจในระบบอบชารีอะฮ์ ที่นับวันจะได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก2ปีข้างหน้า เชื่อว่าธุรกิจการเงินแบบชารีอะห์ จะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งไทยจะต้องเตรียมตัวรับการเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้