เจาะตลาดมาเลเซีย รับประชาคมอาเซี่ยน
By: Ekkarat Mukem
สำนักข่าวอะลามี่ : มาเลเซีย ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศถึงปี 2020 ล่าสุดผู้นำมาเลเซียประกาศว่า ในปี 2020 มาเลเซียจะหลุดพ้นจากประเทศพัฒนา เป็นที่ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวสู่เวทีประชาคมอาเซียน หลายคนมองว่า มาเลเซีย จะไ ด้เปรียบจากเพื่อนบ้านโดยเฉพาะด้านภาษา
นิตยสาร ดิ อะลามี่ ฉบับนี้ เราจะนำท่านผู้อ่านไปสัมผัสและรู้จักมาเลเซียมากขึ้น โดยผ่าน “ ดาโต๊ะ นาซีราห์ ฮุสเซ็น ” เอกอัคราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย
ดิ อะลามี่ : ภาพรวมทั่วไปและเศรษฐกิจของมาเลเซีย
นาซีราห์ : ปัจจุบันการค้าการลงทุนในมาเลเซียขยายตัวถึง 5.8% RM 111.94 หรือ ราว 111.94 พันล้านริงกิตหรือเท่ากับสามหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยหกสิบล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียปีนี้กับปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปในทางที่ดีขึ้น
รัฐบาลมาเลเซียมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกระดับทางเศรษฐกิจของมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้มีการเพิ่มการลงทุนและสร้างโอกาสการแข่งขันและสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนมากขึ้นด้วย ในปีนี้มาเลเซียกำหนดเป้าหมายการลงทุนถึง RM 107.74 พันล้านริงกิต
ดิ อะลามี่ : แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจมาเลเซีย เป็นเช่นไร
นาซีราห์ : การรวมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งทำให้มีความแข็งแกร่งในภูมิภาค โดยตัวเลขของธนาคารโลกระบุว่าการลงทุนในประเทศไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย กำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี 2012 มาเลเซีย มีการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8% จากเดิมร้อยละ 4.6% ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเจริญเติมโตที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ธนาคารโลกยังรายงานว่ามาเลเซีย เป็นประเทศที่มีการการแข่งขันทางธุรกิจเป็นอันดับ 12 ของโลกจากข้อมูลการจัดอันดับนี้มาเลเซีย เดินหน้าขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีหรือใกล้เคียงกับประเทศสวีเดน (13), ไต้หวัน (16), เยอรมนี (20) และวิตเซอร์แลนด์ (28) ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็มีความมุ่งมั่นกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ Economic Transformation Program (ETP) เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปรัฐบาล หรือ Govement Transformation Program (GTP) เหล่านี้เป็นการปฏิรูปเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้สะท้อนเห็นถึงภาพของการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงในด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง อาทิ การบริการทางสาธารณะและศักยภาพของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมาเลเซียให้อยู่ในอันดับ 1ใน 10 ของประเทศ ที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก
“ รัฐบาลทุ่มเทอย่างหนักเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดของเราคือการได้รับการเสริมสร้างและความเชื่อมั่น หรือทางเลือกที่สำคัญของนักลงทุนต่างๆทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อมาเลเซีย”
ดิ อะลามี่ : คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย
นาซีราห์ : มาเลเซียมีสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการลงทุน อีกทั้งรัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญกับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีศักยภาพและพร้อมที่จะทำการแข่งขันในการผลิตที่ได้มาตรฐานสากลและสามารถเทียบเท่านานาประเทศ ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ พื้นฐานทางเศรษฐกิจในมาเลเซียคือภาคการเกษตร ที่ผ่านมารัฐบาลได้นำเทคโนโลยีอันทันสมัยและคุณภาพสูง มาแปรรูปและขับเคลื่อนสินค้าการเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีเป้าหมายว่าประชากรมาเลเซีย ต้องก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และประชากรของประเทศต้องมีรายได้สูงในปี 2020
ดิ อะลามี่ : ในฐานะเอกอัคราชทูตท่านจะส่งเสริม-แนะนำคนไทยให้ไปลงทุนในมาเลเซียอย่างไร
นาซีราห์ : ส่วนตัวคิดว่าจะต้องสร้างแรงจูงใจและดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพในการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนให้ลงทุนในสิ่งที่ได้ผลผลิตที่สอดคล้องกับภูมิภาค และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประกอบในการลงทุนที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในมาเลเซีย โดยลงทุนร่วมกัน แลกเปลี่ยนฝีมือแรงงาน ที่มีทักษะพิเศษเฉพาะ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การอากาศยาน การแพทย์ตลอดจน อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
“ ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนมาเลเซีย ได้รับการยอมรับเรื่องตราฮาลาล ดังนั้นจะเป็นการดียิ่ง หากสองประเทศมีการร่วมมือกันในภาคอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อส่งออก จะทำให้ไทยมีโอกาสในการแข่งขันในการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล มากยิ่งขึ้น และมาเลเซียเองก็ยินดียิ่งที่จะร่วมลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอาหารดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมาเลเซีย มีความแข็งแกร่งในแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ฮาลาลและบริการ อยู่แล้ว”
ดิอะลามี่ : ในอนาคตที่อาเซียนจะใช้ตราสัญลักษณ์ฮาลาล เดียวกันไก้หรือไม่ (ฮาลาลอาเซียน)
นาซีราห์ : เรื่องอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ ฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลามไม่ใช่แค่เพียงเครื่องบริโภคเท่านั้น แต่ฮาลาลในทัศนะอิสลาม คือ กรรมวิธีที่ถูกต้องทั้งในเรื่องการอุปโภคบริโภค ตลอดจนการบริหารจัดการ ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายได้มีการเดินหน้าเรื่องฮาลาล และอาจจะเป็นไปได้ในอนาคตที่จะมีการใช้ ตราฮาลาลอาเซียน
ดิอะลามี่ : เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ต้องพัฒนาความสัมพันธ์อย่างไร
นาซีราห์ : ก่อนอื่นดิฉันจะอธิบายภาพรวมสั้นๆเกี่ยวกับอาเซียนเพื่อที่จะให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยผู้นำของอาเซียนเมื่อพวกเขาลงนามใน Bali Concord (ii) เมื่อ9ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำดังกล่าวมองถึงวิวัฒนากาของการที่จะเข้ามาเป็นประชาคมเดียวกัน และเห็นว่าไม่ง่ายเลยที่จะรวมตัวกันให้เป็นกลุ่มขนาดใหญ่และเดินทางไปในทิศทางเดียวกัน และยังเล็กเกินกว่าที่จะเข้าไปมีบทบาททางการค้าการแข่งขันทางเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก
ปฏิญญาบาหลี เกิดขึ้นโดยประชาคมอาเซียนสร้างขึ้นบนฐานของสามเสาหลัก นั่นคือ ประชาคมอาเซียนกับความมั่นคงทางการเมือง (APSC), ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC)
“ จริงๆแล้วแผนการรวมตัวเป็นประชาคมเดิมที่จะจัดตั้งขึ้นในปี 2020 แต่แผนถูกนำไปปรับเข้าสู่ประชาคมในปี 2015 และผู้นำทุกฝ่ายก็เห็นพ้องกันในแผนงานสำหรับประชาคมอาเซียนที่เกิดขึ้นที่ชะอำ ในปี 2009 ที่ผ่านมา”
เมื่อเราเข้าสู่มี AEC เราจะเห็นถึงการลื่นไหลในการทำการค้าการลงทุนได้อย่างเสรี มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน ทำให้ลดช่องว่างทางสังคม ลดความยากจนและความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม การเปิดการค้าเสรีอาเซียน มีวัตถุประสงค์ในการวางฐานการผลิตที่หลากหลายและส่งเสริมให้ภูมิภาคมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในห่วงโซ่เศรษฐกิจของโลก
ขณะเดียวกัน ASCC เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการผูกสัญญาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกันหรือที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบอุปถัมภ์ที่มีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน อาทิเช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค เป็นอีกวิธีหนึ่งในการอุปถัมภ์เศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นต้น
สำหรับประเทศมาเลเซียเรามีความกระตือรือร้นที่จะทำงานร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียน10 ประเทศและประเทศคู่เจรจาเพื่อผลประโยชน์ของภูมิภาคนี้โดยตรง
ดิ อะลามี่ : คิดว่าอะไรเป็นปัญหาและอุปสรรคในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
นาซีราห์ : ปี 2015 มาถึงอันที่จริงยังสรุปตายตัวแน่นอนไม่ได้ว่าวันและเวลาไหน คือการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนจริงๆ ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปในลักษณะเชิงปฏิบัติที่อาจจะเห็นได้ชัดเจนมากกว่าการกำหนดวันเวลาในปี 2015 ซึ่งการมาถึงของประชาคมอาเซียนในปี 2015 เป็นสิ่งที่ท้าทายของภูมิภาคและโอกาสของประชากรในภูมิภาคเกือบ 500 ล้านคน
ดิ อะลามี่ : ปัญหาชายแดนใต้ของไทยมีการพาดพิงว่ากลุ่มขบวนการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลในมาเลเซีย รัฐบาลมาเลเซียจะชี้แจง เรื่องนี้อย่างไร?
นาซีราห์: สิ่งแรกที่จะบอกคือรัฐบาลมาเลเซียไม่เคยมีส่วนในการสนับสนุนของกลุ่มการกระทำความไม่สงบหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยใดๆทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ประเทศมาเลเซียได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยทุกวิถีทางเพื่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นยุติในเร็ววัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาของประเทศไทย แต่จะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค
“ทุกวันนี้ทั้งสองประเทศก็ได้มีการทำงานประสานงานกิจการชายแดนร่วมกันตลอดทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายก็พยายามจะบรรเทาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด”
นอกจากนี้ทั้งสองประเทศจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ยังได้ตระหนักเล็งเห็นถึงความสำคัญของการค้าชายแดนตัวอย่าง เช่น การสัมมนาการค้าฮาลาลโดยได้เป็นเจ้าภาพในการสัมมนาดังกล่าวเมื่อ 30-31 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรม หรรษา เจบี หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
“ ดิฉันเชื่อว่าการกระตุ้นพัฒนาอาหารฮาลาล เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็ทำให้ผู้คนในเขตแดนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เศรษฐกิจก็จะดีตามมา”
ดิ อะลามี่ : หากท่านมีโอกาสเป็นผู้ที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาตใต้ ท่านจะเสนออะไรเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ?
นาซีราห์ : ปัญหาในภาคใต้ถือเป็นปัญหาภายในประเทศของไทยและดิฉันก็เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยมีศักยภาพในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น การสร้างความศรัทธากระตุ้นแรงจูงใจแบบซื้อในคนในสามจังหวัดก็น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหา การยอมรับในวัฒนธรรมที่แตกต่างของคนในพื้นที่ นั่นคือวิธีการเริ่มต้นที่จะสร้างความเข้าใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้ปรับปรุงมาจากโครงสร้างพื้นฐานของคนในพื้นที่ เช่น การนำภาษาถิ่นเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอน และมาเป็นภาษาในการติดต่อราชการ คิดว่าเป็นหนทางที่ดีที่จะเข้าถึงปัญหา ซึ่งขณะนี้ ศอ.บต. เดินมาถูกทางแล้ว
ทั้งนี้ในมาเลเซียเองเรามีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัดเจน แต่เราก็สามารถอยู่รวมกันและสร้างประเทศชาติให้มั่นคงก้าวไกล