ไอแบงก์ขยายฐาน กยศ.3ปียอดโอนเฉียดพันล้าน
สำนักข่าวอะลามี่: ไอแบงก์ เพิ่มช่องการบริการทางการเงิน นอกจากการให้บริการทางการเงินตามหลักชาริอะฮ์ แล้ว ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐปล่อยให้กู้ยืมของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เผย3 ปีที่ผ่านมามีนักเรียนเข้าโครงการแล้วกว่า3หมื่นคนโอนเงินไปแล้วเฉียดพันล้านบาท
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ให้บริการทางการเงินตามหลักชาริอะฮ์ ปัจจุบันมีสาขา 106 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศนอกจากการให้บริการทางการเงินตามหลักชาริอะฮ์ แล้ว ไอแบงก์ ยังได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐ เช่น การเป็นผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืมของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน
โดยในระยะแรกธนาคารฯ เน้นเฉพาะลูกค้าเป้าหมายเป็นชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะเดียวกันธนาคารเองก็ตระหนักถึงการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทั่วไป
ล่าสุดธนาคารได้เพิ่มทางเลือกในการบริการสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และมีทางเลือกมากขึ้น โดยยึดหลักให้บริการตามหลักศาสนาอิสลาม เต็มรูปแบบ บนพื้นฐานของความเป็นธรรม
ด้วยเหตุนี้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จึงเป็นธนาคารที่แตกต่าง เป็นทางออกของชาวมุสลิมและทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้าทุกศาสนิก จากหลักการดังกล่าว ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จึงสามารถให้บริการ แก่นักเรียน นักศึกษา ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา ที่ประสงค์จะกู้ยืมเพื่อการศึกษาจาก กยศ. โดยใช้ระบบการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ส่วนงานบริหารและจัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ของธนาคารฯ ได้มีการเข้าพบผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อแนะนำการให้บริการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของธนาคารและได้ประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตัวเลขตั้งแต่ปี 2553 จนถึง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2555 ธนาคารอิสลามฯ ได้โอนเงินให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ไปแล้วมากถึง 894,041,145.00 บาท โดยมีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการผู้กู้ยืม ไปแล้ว 31,385 คน
อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารจะพยายามเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย แต่ด้วย ปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการปัจจัยภายใน อาทิเช่น จุดให้บริการของธนาคาร ที่มีจำนวนน้อยและยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ในทุกจังหวัด ทำให้ไม่สามารถให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษาและสถานศึกษาที่อยู่ในจังหวัดที่ไม่มีสาขาของธนาคารตั้งอยู่
ส่วน ปัจจัยภายนอกพบว่า นักเรียน นักศึกษาทั่วไป ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ยังมีข้อสงสัยว่าสามารถเลือกใช้บริการของธนาคารได้หรือไม่ นอกจากนี้ สถานศึกษาที่นักเรียนสังกัด อยู่นอกพื้นที่บริการที่ ธนาคารไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง อีกทั้งสถานศึกษาบางแห่งไม่ให้ความสำคัญกับความเชื่อทางศาสนาของนักเรียนมุสลิม โดยเห็นว่า มีจำนวนนักเรียน นักศึกษา มุสลิมจำนวนไม่มากนัก จึงไม่อำนวยความสะดวกให้นักเรียน นักศึกษาใช้บริการกับธนาคาร และ สุดท้ายนักเรียน นักศึกษา ยังมีความสับสนในการบันทึกเลือกใช้บริการของธนาคารในระบบ E-studentloan
ผลการดำเนินงานการให้บริการรับโอนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2555 |
|||||
ลำดับ |
รายการ |
ปี 2553 |
ปี 2554 |
ปี 2555 ม.ค. – ต.ค. |
รวม |
1 |
จำนวนเงินที่โอน |
94,246,988.00 |
305,454,207.50 |
494,339,949.50 |
894,041,145.00 |
2 |
จำนวนผู้กู้ยืม (ส่วนเพิ่ม) |
6,933 |
9,787 |
14,665 |
31,385 |
3 |
จำนวนสถานศึกษา(ส่วนเพิ่ม) |
136 |
113 |
68 |
317 |