ศอ.บต.เร่งฟื้นนาร้างกว่า3หมื่นไร่ในพื้นที่ชายแดนใต้
สำนักข่าวอะลามี่ : เลขาธิการศอ.บต. เดินหน้าโครงการฟื้นฟูนาร้างกว่า30,000ไร่ในพื้นที่จังหวัดชายแนดใต้ หลังถูกทิ้งร้างมานา ล่าสุด นำคณะเกษตรกรจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 200 ชีวิต ศึกษาดูงานโรงเรียนนาข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี หวังฟื้นฟูอาชีพเกษตรสู่ความยั่งยืนในอนาคต
เมื่อวันที่ 21 มค.55 ที่ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย อ.ศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายนายวุฒิศักดิ์ สุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนประสานการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นำคณะเกษตรกร กลุ่มสตรีและเยาวชน จากจังหวัดปัตตานี กว่า 120 คน ศึกษาดูงาน ณ.ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย อ.ศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ตามโครงการฟื้นฟูนาร้างเป็นนาข้าวแก่เกษตรกรพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรวม 20 คน ให้เกียตริเป็นวิทยากรในการให้ความรู้
โครงการฟื้นฟูนาร้างเป็นนาข้าวแก่เกษตรกรพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นตามที่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรี โดย นายประภัตร โพธสุธนอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรวม 20 คน ได้ร่วมจัดทำโครงการฟื้นฟูนาร้างในปี 2556 มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ จำนวน 20,000 ไร่ ใน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโรงเรียนชาวนาสุพรรณบุรีได้ดำเนินการจัดส่งเครื่องจักรขนาดใหญ่ และขนาดเล็กลงในพื้นที่เป้าหมายเพื่อนำร่องก่อน โดยมีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพซึ่งจะเริ่มดำเนินการฝึกอบรมชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 3 รุ่นๆ ละ 120 คน โดยจะเริ่มรุ่นที่ 1 ของจังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 20 – 29 มกราคม 2556 ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 ที่ผ่านมานายประภัตร โพธสุธนอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้สำรวจพื้นที่และชี้แจงวิธีการทำนาที่ถูกต้อง พร้อมสอบถามวิธีการทำงานของพื้นที่มีผลผลิตเท่าไหร่ต่อไร่ และได้ชี้แจงการทำนาให้ได้ผลดี จะต้องทราบถึงวิธีปฏิบัติ ตลอดฤดูกาล ทำนาในแต่ละช่วงควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุดและเสนอให้เกษตรกรไปเรียนวิธีการทำนาที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีเกษตรกรตอบรับเข้าร่วมอย่างมากมาย
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเร่งพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการเร่งพัฒนาด้านการเกษตร เพราะประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นอกจากให้ความรู้ ส่งเสริมให้ทำการเกษตรกันแล้ว ต้องหาตลาดเพื่อรองรับสินค้าด้วย งบประมาณในการพัฒนาที่รัฐบาลจัดสรรให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง แต่สำคัญที่สุดคือ การให้ความรู้ควบคู่กับการส่งเสริมการตลาด ในวันนี้ตนเองเชื่อว่า เราต้องหันมาเปลี่ยนจากซื้ออาวุธ เครื่องกระสุนเป็นการซื้อใจคน และต้องให้เค้าสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองในระยะยาวด้วย
ด้าน นางวาลือเมาะ เงาะ กำนัน ต.สะกำ อ.มายอ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่โครงการนี้ที่เป็นรูปธรรม ทำให้ชาว จ.ปัตตานีสมัครใจเข้ารับการอบรมเพื่อเรียนรู้ขั้นตอนการทำนา นำไปประกอบเป็นอาชีพนอกเหนือจากการทำสวยยางพารา สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พบมีพื้นที่นาถูกปล่อยทิ้งร้างจำนวน 30,000 ไร่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรรื้อฟื้นพื้นที่นาร้างกลับมาทำนาใหม่ โดยสนับสนุนเครื่องจักรกลหนักทางการเกษตร และแนะนำให้ทำการเกษตรปลอดสารพิษ ผลิตข้าวอินทรีย์ และข้าวกึ่งอินทรีย์ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพง โครงการฟื้นฟูนาร้างเป็นนาข้าวจะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีช่องทางในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจปัจจุบัน และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลกว่า 50 ล้านบาท ตนเองจึงอยากฝากขอบคุณทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
โครงการฟื้นฟูนาร้างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ 6 การเสริมสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่วิถีชีวิตและความต้องการของประชาชน เห็นควรสนับสนุนโครงการดังกล่าว เพราะจะทำให้เกษตรกรชาวนาไม่ต่ำกว่า 5,000 ครัวเรือน ได้รับการฟื้นฟูนาร้างสามารถกลับมาทำนาเพื่อปลูกข้าวได้ ผลผลิตประมาณ 80 ถังต่อไร่ รวม 16,000,000 ถัง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,600,000,000 บาท (ราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 10,000 บาท) เดิมในพื้นที่เกษตรกรทำนาได้ประมาณ 40 ถังต่อไร่ เพื่อให้เกษตรกรได้มีผลผลิตข้าวตลอดทั้งปี