นักธุรกิจมุสลิมขานรับงานฮาลาลเอ็กโปหาดใหญ่
สำนักข่าวอะลามี่: นักธุรกิจมุสลิมและอดีตนักโฆษณาประชาสัมพันธ์ ยอมรับรูปแบบการจัดงานฮาลาลเอ็กโปหาดใหญ่ ยกระดับงานอีเวนท์มุสลิม แนะรัฐบาลต้องลงมาส่งเสริม ยกระดับสู่งานฮาลาลอาเซี่ยน
(ก่อซี อู่เซ็ง ผู้จัดการสหกรณ์อิสลามอัลศิสดิก-สามารถ บุญธราทิพย์-ประเสริฐ มัสซารี)
นายสามารถ บุญธราทิพย์ ประธานกรรมการ บริษัทโปลิเคม อินเตอร์กรุ๊ป(ประเทสไทย) จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงการจัดงานของชุมนุมสหกรณ์อิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด และเครือข่ายสหกรณ์อิสลามภาคใต้ ในงาน“ มหกรรมธุรกิจและการเงินฮาลาล สู่ประชาคมอาเซียน (ฮาลาลเอ็กซ์โป 2013 ) เมื่อวันที่ 11 – 13 ม.ค.56 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่าเท่าที่เห็นยังไม่เคยเห็นโครงสร้างของงานไหนที่ดีเท่านี้
ทั้งนี้อยากให้ปีหน้า ในการจัดงานสหกรณ์และจัดงานฮาลาลอาเซียน เพราะภาคใต้เป็นเมืองท่าของธุรกิจของ3จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นการโปรโมทฮาลาล เพราะปัจจุบัน เรามีสินค้าฮาลาลหลายหมื่นตัว ที่เป็นสินค้าส่งออก
“งานนี้เราสามารถเชิญคนในประเทศมาเลเซีย และนักการฑูตมาร่วมงานได้ จึงอยากให้ถ่ายภาพงานในวันนี้ ส่งไปทางรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อร่วมสนับสนุนจัดงานในโอกาสต่อไป”
นายสามารถ กล่าวอีกว่า งานนี้นับว่าจัดได้สมบูรณ์มาก มุสลิมไม่เคยจัดงานลักษณะนี้ เราเองเคยจะจัดงานกินน้ำชา งานโรงเรียน งานออกบู๊ธ แต่งานประเภทนี้เราไม่เคยจัด แม้กระทั่งงานเมาลิดกลางซึ่งเป็นงานระดับชาติเรายังไม่สามารถจะจัดได้เลย เพราะไม่สามารถจะดึงสหกรณ์มาร่วมได้ทั้งหมดและรวมถึงสถาบันการเงินด้วย
อยากฝากถึงผู้จัดรายใหญ่ว่าปีหน้าในการจัดควรจะประชาสัมพันธ์ในเวลาที่ยาว และดึงผู้ประกอบการจริง เข้ามาร่วมงานในการสนับสนุนโครงการ อย่างน้อยการสนับสนุนสหกรณ์เขาได้มาเปิดตัว และเกิดประโยชน์ จัดภาคศาสนาจัดกลางคืนและกลางวัน ดึงนักธุรกิจมา โดยสกรีนเลยว่า งานสหกรณ์เป็นของสถาบันการเงินและผู้ประกอบการ ศาสนาแยกให้ชัด
นายสามารถ กล่าวอีกว่า สหกรณ์นับเป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่ โดยไม่มองถึงธนาคาร แต่ปัจจุบันหาผู้ประกอบการไม่ได้ วันนี้สหกรณ์ฯมีเงินมากพอที่จะให้การสนับสนุน แต่หาผู้ประกอบการมารองรับโปรดักซ์ต่างๆไม่ได้ ซึ่งคำว่าโปรดักซ์สหกรณ์ใช้อยู่ตัวเดียวคือ ซื้อรถผ่อน ความจริงมันไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมา เราไม่ได้สร้างนักธุรกิจ มารองรับสหกรณ์ที่ขยายตัวไปทั่วประเทศ
“ โครงสร้างของสหกรณ์มาจากโต๊ะครูรวมกันคิดรวมกองเงินขึ้นมา หลังจากนั้น ไม่รู้จะเอาเงินไปใช้อะไร เพราะว่าไม่ได้สร้างนักธุรกิจเลย นักศึกษาของลูกหลานเราก็ไปเรียนด้านอาชีพซึ่งไม่ตรงกับการที่จะมาใช้เงินของสถาบัน ต่างกับคนจีน ที่เรียนมาเพื่อมาใช้เงินของธนาคาร ประกอบธุรกิจแทนพ่อ ” นายสามารถกล่าวและว่า
ทุกวันนี้ไม่มีใครมาแทนรุ่นแรก โดยส่งลูกไปเรียนที่ อินเดีย ไคโร กลับมาเป็นโต๊ะครู และมาเปิดโรงเรียนแข่ง ต่างกับการสร้างโรงงานฮาลาล ซึ่งมุสลิมเราต้องการฮาลาลให้มากเพราะอาเซียนเอง 300ล้านคน เป็นมุสลิมจากจำนวน 600ล้าน แต่ปัจจุบันตราฮาลาล ไปอยู่กับมือคนจีนหมด มุสลิมเป็นแค่ผู้ประทับตรา แต่ผู้ประกอบการฮาลาล ไม่มี ทำให้คิดว่าวันนี้ต้องสร้างธุรกิจขึ้นมาแล้ว
ด้าน นายประเสริฐ มัสซารี อดีตนักโฆษณาประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่เมืองไทย ในฐานะที่ปรึกษาบริษัทโปลิเคม อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่าไม่ค่อยเห็นมุสลิมจัดงานแบบนี้ แม้ว่า งานเมาลิดกลาง ฯ อยากจะเปลี่ยนแปลงแต่ก็ทำยาก เพราะไม่ได้เน้น และแยกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ผู้หญิง วัยรุ่น นักการศึกษา นักธุรกิจ สหกรณ์
“ถ้าจะทำฮาลาลอาเซียน ในรูปแบบอินเตอร์ ต้องเชิญมาหลายๆประเทศ รัฐเองต้องส่งเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนฮาลาลหรือครัวโลกและสินค้าสุขภาพ โดยเอานโยบายของรัฐมาสนับสนุนและสนองนโยบายของรัฐให้มากขึ้น เชื่อว่าหากจัดที่หาดใหญ่คนจะมามากขึ้น เพราะหากจัดในพื้นที่สามจังหวัดจะเสี่ยง คนจะไม่กล้าไป "
ทั้งนี้ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้มองแบรนด์ของท้องถิ่นอยู่ในต่างประเทศ เพราะแบรนด์บางตัวสามารถทำเงินได้มาก สร้างแบรนด์ สร้างอิมเมจซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นฮาลาล เพราะมันคือศาสนา
ส่วนเรื่องของสหกรณ์อิสลาม โดยเราต้องการนำหลักอิสลามมาใช้ เพราะเรื่องของดอกเบี้ยหลักการอิสลามไม่อนุญาต เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ นอกจากนี้ ในระดกับมหาวิทยาลัย จะต้องเปิดสายเงินด้านอิสลามแบงค์กิ้ง โดยเฉพาะของสถาบันการเงิน และสหกรณ์ ก็จะต้องเป็นนักการเงินมืออาชีพ จะทำให้สหกรณ์จะเป็นสถาบันการเงินของอิสลามที่ขยายตัวและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ