นักวิชาการโลกมมุสลิมเปิดเวทีการศึกษาปัตตานี
สำนักข่าวอะลามี่: ผู้แทนรัฐบาล และนักวิชาการจากประเทศโลกมุสลิมทั่วโลกจาก 40 ประเทศ กว่า 500 คน ร่วมระดมสมองกำหนดทิศทางอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลงกับโอกาสและความท้าทาย
วันที่ 15 ม.ค.2556 ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์/อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การศึกษากับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนา กว่า 500 คน ภายในงาน
จัดงานสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย Islamic Studies in Changing World : Challenges and Opportunities ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 -16 มกราคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี อ่านดุอาร์เปิดการสัมมนา รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และการปาฐกถาพิเศษจากนักวิชาการต่างประเทศ นักวิชาการมุสลิมจาก 40 ประเทศ
จังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นสถานที่ๆมีความเป็นมาของการศึกษาศาสนาอิสลามอย่างยาวนาน นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะเสริมศักยภาพ เพื่อเสาะหาความท้าทายที่สำคัญต่ออิสลามในยุคนี้ เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนและช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นผ่านอิสลามศึกษาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และวัตถุประสงค์หนึ่งของรัฐบาลไทย คือ การทำให้อิสลามศึกษาเป็นศาสตร์ที่บูรณาการและสามารถเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นๆ ดังนั้นการสร้างให้นักศึกษามีความรอบรู้และมีทักษะ ไม่เพียงแต่ในสาขาอิสลามศึกษาเท่านั้น แต่รวมในสาขาอื่นๆ ด้วย โดยจะส่งเสริมการศึกษา 2 ระบบ คือ สายสามัญและศาสนา เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญการทำงานที่ดีในอนาคตได้
การจัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ทางด้านอิสลามศึกษาในประเทศไทยที่จะได้รับรู้แนวคิด และประสบการณ์จากปราชญ์ทางด้านอิสลามศึกษานานาชาติจาก 40 ประเทศ และนักวิชาการอิสลามทั่วโลก ร่วม 500 คน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาอิสลามศึกษาในประเทศไทย อันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งที่จะแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการ เพื่อพัฒนาอิสลามในประเทศไทยที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งในหลักสูตรอิสลามศึกษาให้เท่าเทียมกับนานาชาตินั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือ และแสวงหาพันธมิตรทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ที่จัดการเรียนการสอนทางด้านอิสลามศึกษา โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีนักศึกษาไทยนิยมไปศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยอัลอัซฮาร์ ประเทศอียิปต์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแอฟริกัน ประเทศซูดาน และมหาวิทยาลัยอัลบัยต์ ประเทศจอร์แดน
สำหรับการสัมมนาในปีนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนานานาชาติเมื่อปี 2553 ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่ อียิปต์ กาตาร์ จอร์แดน ซูดาน ชาด แทนซาเนีย ตุรกี ปากีสถาน จีน ซาอุดีอาระเบีย โมร็อกโก ตูนิเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และนักวิชาการในประเทศไทย รวม 413 คน ได้ประกาศในการจะร่วมมือ และสนับสนุนการศึกษาอิสลามศึกษาในประเทศไทย และจะให้มีการจัดสัมมนาที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทุกๆ 2 ปี
ผลจากการสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการยกระดับการจัดการศึกษา ให้ก้าวสู่นานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาอาเซียน หรือ Asean Education Hub สำหรับรูปแบบการสัมมนา ประกอบด้วย การนำเสนอบทความจากนักวิชาการต่างประเทศ และนักวิชาการไทย การเสนอแนะโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอิสลามศึกษา ในกลุ่มประเทศแอฟริกา ยุโรป อเมริกา และเอเชีย การประชุมโต๊ะกลมโดยผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาอิสลาม การประกาศข้อสรุป และการจัดทำข้อตกลงโดยคณะผู้เข้าร่วมประชุม และทัศนศึกษาเพื่อเยี่ยมชมสภาพความเป็นอยู่ของมุสลิมในจังหวัดภาคเหนือ