มอ.จัดสัมนาวิชาการอิสลามศึกษานานาชาติ
สำนักข่าวอะลามี่ : ม.อ.ปัตตานี พร้อมจัดสัมมนาจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติเรื่องอิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทาย ล่าสุดมี 35 ประเทศตอบรับเข้าร่วมสัมมนาแล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.อิบรอฮีม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ตามที่ วิทยาลัยอิสลามศึกษา กำหนดจัดการจัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง อิสลามศึกษาในโลกที่เปลี่ยนแปลง : โอกาสและสิ่งท้าทายหรือ Islamic Studies in Changing World : Challenges and Opportunities 2012 ระหว่างวันที่ 14-16 มกราคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ขณะนี้ได้รับการตอบรับจากนักวิชาการ และผู้นำประเทศ แล้วกว่า 35 ประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายเชิญนักวิชาการรวม 40 ประเทศ กว่า 700 คนเข้าร่วมสัมมนา ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงในปฏิญญาปัตตานีที่นักวิชาการด้านอิสลามศึกษาตกลงกันว่าจะมาร่วมสัมมนาที่ปัตตานีทุก 2 ปี เพื่อร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความร่วมมือและพัฒนาการจัดการศึกษาทางด้านอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ
การสัมมนาในปีนี้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากการสัมมนานานาชาติเมื่อปี 2553 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดขึ้น ซึ่งในครั้งนั้นตัวมีแทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่อียิปต์ การ์ต้า จอร์แดน ซูดาน ชาด แทนซาเนีย ตุรกี ปากีสถาน จีน ซาอุดิอารเบีย โมร็อคโค ตูนีเซีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และนักวิชาการในประเทศไทย รวมสัมมนากว่า 400 คน โดยที่ประชุมที่ได้กำหนดข้อตกลงที่เรียกว่า ”ปฏิญญาปัตตานี” มีเนื้อหาถึงการเน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบอิสลามศึกษาที่สมดุลและสมบูรณ์พร้อมสำหรับผู้คนในประเทศต่างๆ ตกลงให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อก่อตั้งคณะกรรมการประสานงานและร่างหลักสูตรอิสลามศึกษาระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ยังกาเป็นการร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายการวิจัย เพื่อจะได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอิสลามศึกษาให้ครอบคลุมและเข้าถึงวิทยาการต่างๆ การร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ความร่วมมือในการวิจัย ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อทำให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นศูนย์การสอนภาษาอาหรับชั้นนำ และกำหนดให้มีการประชุมนานาชาติอย่างต่อเนื่องทุกๆ สองปีที่จังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสัมพันธภาพของประเทศที่เข้าร่วมสัมมนา
รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่าในการสัมมนาครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้เปิดโอกาสให้ผู้นำศาสนา และครูจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทย ได้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาด้วย เพื่อที่จะได้นำความรู้ ไปถ่ายทอดให้เยาวชนได้รับทราบ ถึงความร่วมมือ และแนวคิดของปราชญ์ด้านอิสลามศึกษาจากทั่วโลก .