ความมั่นคงของความเป็นมนุษย์ตามแนวคิดศาสนเสวนา ของประชาคมอาเซี่ยนบวกสาม
โดย: อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้ จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ
ด้วย พระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติ ความจำเริญแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ระหว่างวันที่ 11 – 15 มีนาคม 2555 ผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นผู้แทนศาสนาอิสลามในประเทศไทยร่วมประชุมศาสนเสวนาระดับภูมิภาคครั้งที่ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซี่ยนบวกสาม กล่าวคือ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนิเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ ไทย เวียดนาม ติมอร์ตะวันออก ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ที่เมืองเซอร์มารัง ประเทศอินโดนีเซีย
ทั้ง 13 ประเทศ จะมีตัวแทนผู้นำศาสนาต่างๆเช่น พุทธ อิสลาม คริสต์ ซิกซ์ ฮินดู มาร่วมเสวนาถึงบทบาทของศาสนาในการสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
การประชุมในครั้งนี้ใช้ 2 รูปแบบในการศาสนเสวนาเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในแต่ละชุมชนกล่าวคือ การนำเสนอบทความทางวิชาการ ผลการวิจัยและถอดบทเรียน 1 วันเต็มและอีก 4 วัน เป็นการลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆของเมืองเซอร์มารัง ประเทศอินโดนีเซีย
ผลการประชุมในครั้งนี้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าสังคมทั้ง 13 ประเทศ มีความหลากหลายทางความศรัทธาของแต่ศาสนาและวัฒนธรรม
ความหลากหลายดังกล่าวเป็นสิ่งที่สวยงามถ้าแต่ละฝ่ายมีมารยาทและให้เกียรติซึ่งกันและกัน
แต่จากประสบการณ์ของแต่ละประเทศมีหลายต่อหลายครั้งที่ความแตกต่างดังกล่าวนำไปสู่ วิกฤต ทั้งทางการเมืองและทางสังคมวัฒนธรรม อันนำไปสู่ ภาวะวิกฤตทางจิตใจ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ รวมถึงเกิดการปะทะรุนแรง ถึงขั้น บาดเจ็บ ล้มตาย ทรัพย์สินเสียหาย ฯลฯ กลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ที่สร้างรอยร้าวและบาดแผลในดวงจิตของคนที่รักในศาสนา
“สันติวิธี” ซึ่งนำโดยผู้นำศาสนาของแต่ละประเทศ ได้กลายเป็น “สะพานสู่ทางออก” จาก วิกฤตความรุนแรงอันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านศาสนาและหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมทั้ง ๑ ๓ ประเทศ ในปัจจุบัน
สันติวิธี คือวิธีการจัดการกับความขัดแย้งวิธีหนึ่ง การใช้สันติวิธีมีเหตุผลสำคัญตรงที่ว่า เป็นวิธีการที่น่าจะมีการสูญเสียน้อยที่สุด ทั้งระยะสั้นระยะยาว ทั้งรูปธรรมและนามธรรม
การประชุมในครั้งนี้จะยังประโยชน์ให้กับการสร้างความมั่นคงของประชาคมอาเซี่ยนในที่สุดเพราะความสัมพันธ์ของผู้นำศาสนาในแต่ละประเทศจะช่วยยึดจิตวิญญานของผู้คนในแต่ละประเทศ
ในขณะเดียวกันหากแต่ละประเทศจะมีความบาดหมางกันผู้นำศาสนาจะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ได้ดีวิธีหนึ่ง
ในวันสุดท้ายของการประชุมผู้นำแต่ละประเทศได้ร่วมประกาศปฏิญญา เซอร์มารัง ใน 5ประเด็นหลัก ในการสร้างความมั่นคงของความเป็นมนุษย์ตามแนวคิดศาสนเสวนาและสานเสวนา คือ ความร่วมมือผู้นำศาสนา ประชาสังคม เยาวชน การศึกษา และการสื่อสาร