Education
Home   /   Education  /   สาวใต้เมืองนราฯ คว้าปริญญา มหาวิทยาลัย อเมริกัน ยูนิเวอร์ซิตี้

 เปิดโลกการศึกษามุสลิม
 ตอน : สาวใต้เมืองนราฯ คว้าปริญญา มหาวิทยาลัย อเมริกัน ยูนิเวอร์ซิตี้ 

โดย : ดลหมาน ผ่องมะหึง รายงานจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์
        
        "ในวันนี้ น้องนี มีปริญญา                    ในวันหน้า หาวิชา มาพูนเพิ่ม
         ประสบการณ์ งานหนัก จักได้เริ่ม        นำมาเสริม เติมให้ตน เป็นคนแกร่ง
         ยามเก่งกล้า อย่ายึดติด ชิดอัตตา           มุ่งศึกษา หา ฟัง คิด ให้จิตแข็ง
         คุณธรรม นำมาเอื้อ เมื่อลงแรง            ใช้เปลี่ยนแปลง ปรับสังคม สมปริญญา "

              เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ผมได้เข้าร่วมงานรับปริญญาของน้องนักศึกษามุสลิมะห์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักศึกษาทุนรุ่นแรกของทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือชื่อเรียกย่อ โอดอส (ODOS ย่อมาจาก One District One Scholarship) เป็นโครงการพัฒนาการศึกษาของรัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่สามารถคว้าปริญญาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดัง อเมริกัน ยูนีเวอร์ซิตี้ สาขา Middle East Studies Minor History ได้สำเร็จ

 

           พร้อมกันนี้อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร จริยวัฒน์ สันตะบุตร เขียนบทกลอนส่งทางเฟสแสดงความยินดีกับสาวใต้เมืองนราฯ นางสาว การ์ตีนี มะเหาะ หรือ “น้องนี” เด็กนักศึกษาบ้านๆคนหนึ่งซึ่งอยู่ในช่วงการประจำการของท่านทูตฯในอียิปต์เมื่อปี พ.ศ. 2548  และท่านทูตฯคือหนึ่งกำลังใจที่ทำให้ “น้องนี” กล้าพิสูจน์ให้ใครเห็นว่าตัวเขาเองสามารถทำได้ลบคำสมประมาทได้อย่างน่าทึ่งที่เดียว

 

           น้องนี บอกว่า กว่า 7 ปีของการศึกษาของเขา ที่ได้ใช้ชีวิตในประเทศอียิปต์ จากการเริ่มต้นการศึกษาที่ประเทศแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ.2548 โดยเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษปรับพื้นฐาน 3 ปี เนื่องจากรัฐไม่ได้มีการอบรมเหมือนเด็กทุนในรุ่นต่อๆมา ทำให้การเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษในประเทศอียิปต์ เป็นไปอย่างลำบาก

          "เราต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่จึงใช้เวลาในการศึกษานานกว่าปกติ และก็สามารถสอบเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยจบการหลักสูตรการศึกษา 4 ปีครึ่ง เนื่องจากวิชาสุดท้ายที่ลงเรียนไม่มีให้ลง จึงต้องช้าไปอีกครึ่งปี เพื่อรอลงวิชาที่เรียน "

         “ น้องนี” ยังเล่าต่ออีกว่า  กว่าจะมีวันนี้ได้ไม่ใช่เหนื่อย ท้อแท้ เครียดเฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้นแต่ยังต้องเหนื่อยกับการใช้ชีวิตประจำวันในประเทศอียิปต์ แต่โชคดีที่ตัวเองเป็นมุสลิมะห์ ทำให้อยู่ในประเทศนี้ได้อย่างสบาย แต่ก็ต้องระวังตัวอยู่เสมอในเรื่องการเดินทางไปเรียน ซึ่งบางครั้งเลิกเรียนทุ่มสองทุ่ม ระยะทางจากมหาวิทยาลัยก็ไกลพอสมควร

         " มีหลายครั้งที่แท็กซี่ขับตามมาในทางเปลี่ยว และพูดเชิงลวนลาม หรือบางครั้งในขณะที่รอรถในช่วงกลับตอนค่ำ แต่ก็ด้วยการแต่งกายแบบอิสลาม และใช้ภาษาอาหรับในการสื่อสารทำให้ทุกอย่างไม่มีปัญหา แต่ลึกๆแล้วก็กลัวอยู่เหมือนกัน ซึ่งกว่าจะมีวันนี้ได้ก็ได้เรียนรู้อะไรจากประเทศนี้เยอะแยะ โดยเฉพาะเรื่องสังคมอิสลามในประเทศแห่งนี้"

           เขาบอกว่ามีหลายคนตั้งคำถามถึงเรื่องการศึกษาว่า ทำไมไม่เรียนอัลอัซฮัร เพราะเป็นคนมุสลิม

         “คำถามนี้หนูไม่รู้ว่ามีเจตนาสิ่งใดจากคนถาม แต่หนูพอจะตอบได้ว่าการเรียนการศึกษามันจะสำคัญและมีค่าที่หัวใจของการเริ่มต้นมากกว่า ศิลธรรมที่ดีคือศิลธรรมที่เริ่มต้นด้วยหัวใจขาวสะอาด เมื่อตอนเยาว์วัย หนูเติบโตขึ้นมาด้วยกลิ่นอายของศาสนาและภาษายาวี เริ่มต้นศึกษาอ่านอัลกุรอาน เมื่อตอนเด็กๆตอนประถมก็ไม่ทิ้งเรียนศาสนาจนมาถึงระดับตอนมัธยมปลาย หนูก็ยังศึกษาศาสนาแล้วหนูก็สอบชิงทุนเพื่อต่อยอดการศึกษา และตัดสินใจมาประเทศอียิปต์เพราะเป็นประเทศอิสลาม "น้องนี กล่าวและว่า

         พอมาถึงตอนนี้หนูอยากจะบอกว่าการที่ศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เอยูซีฯ ไม่ได้หมายความว่า ความคิดของหนูจะกลายเป็นคนอเมริกันเหมือนที่คนมุสลิมแอนตี้กันและอีกอย่างการเรียนของหนูเกี่ยวกับตะวันออกกลางและประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้รับและได้ใช้ความคิดตอบโต้ในการเขียนรายงานตามความคิดในแบบอิสลามของหนู แต่การถกเถียงในความคิดลงเอยกันได้ด้วยดี เพราะอาจารย์ หรือดอกเตอร์ ที่สอนเขาเคารพกันในความคิดและรับความฟังคิดเห็น

          การ์ตีนี มะเหาะ กล่าวว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยนี้คือหนึ่งการต่อสู้เรื่องความคิดเช่นกันอีกอย่างที่สำคัญคือการได้ใช้ภาษาอังกฤษตอบโต้ แบบอังกฤษ ไม่ใช่แค่อ่านเข้าใจแต่ตอบโต้อะไรไม่ได้แล้วก็แอนตี้ไปทุกเรื่อง อย่างนี้คือสิ่งที่หนูเห็นและสัมผัสได้  ส่วนเรื่องการการปฏิบัติศาสนกิจตามอิสลาม ยังคงรักษาละหมาด 5 เวลาและปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างมิได้ขาด

           " วันรับปริญญาของหนู หนูยังคงความเป็นอิสลามตามคำสอนศาสนา"

           วันนี้ “น้องนี” ภูมิใจและขอบคุณรัฐบาลที่มีทุนการศึกษานี้ให้กับเด็กบ้านๆอย่างเธอและน้องๆรุ่นต่อไป และยังฝากขอบคุณรัฐบาลทุนโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงไคโร รวมถึงบรรดาอาจารย์ที่เคยสอนและเพื่อนๆทุกคน

          จากการพูดคุยกับสาวไทยหัวใจอิสลาม ทำให้ได้ข้อคิดมากมาย ขอเป็นกำลังใจให้รัฐบาลคิดทำแต่สิ่งที่ดีๆ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เพราะพวกเขาเหล่านี้คือบุคคลากรที่สำคัญของประเทศไทยเราต่อไปในอนาคต

          วันนี้เด็กชาวบ้านๆคนหนึ่งเข้าใจรัฐบาล และการทำงานของข้าราชการหนึ่งเสียงที่จะกลับไปเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมอิสลลาม ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกคน ขอเป็นกำลังใจด้วยคนครับ